พ.ร.บ.ดิจิทัล 3 ฉบับ

พ.ร.บ.ดิจิทัล 3 ฉบับ

โค้งสุดท้ายสำหรับ พ.ร.บ.ดิจิทัล 3 ฉบับ ที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

อันได้แก่ ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลฯ, ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และร่างพ.ร.บ.กสทช.

            ต้องถือเป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นเร้าใจและสมควรติดตาม เพราะเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎระเบียบและโครงสร้างของการกำกับดูแลรวมทั้งการสนับสนุน การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในระดับประเทศ

            ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลฯ ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งเป็นการกำหนดให้มีแผนระดับชาติ ในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนนตรีเป็นประธานและมีกรรมการที่ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิที่ถูกคัดเลือก

            วาระที่น่าสนใจ คือการจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่มาจาก 25% ของรายได้ของประเทศจากการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงเป็นที่น่าติดตามว่า จะมีผลย้อนหลังไปถึงรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เมื่อปลายปีที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะหากมีย่อมหมายถึงเงินก้นถุงของกองทุน ที่เริ่มต้นด้วยมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

            ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 15 เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ให้บริการให้รอดพ้นจากความผิดตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อความว่า

            “ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14”

            โดยได้เพิ่มวรรค “ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ หากผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

            ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันผู้ให้บริการจะมีความผิดเทียบเท่ากับผู้ที่กระทำผิดจริง ตัวอย่าง หาก Facebook หรือ YouTube ได้มีการจดจัดตั้งบริษัทอยู่ในประเทศไทย ทุกครั้งที่มีผู้นำเสนอเนื้อหาสาระที่มีความผิดตามมาตรา 14 เช่น ข้อความที่ผิดกฎหมาย หรือวีดิโอที่ผิดกฎหมาย Facebook และ YouTube จะต้องถูกดำเนินคดีตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีโทษทางอาญาและคงจะนับเป็นหลายร้อยคดีต่อวัน หรือหลายหมื่นถึงแสนคดีต่อปี หากมีการเอาผิดจริง

            แต่ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือ โดยให้รัฐมนตรีออกประกาศให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตาม

            สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการ ย่อมต้องทราบดีว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 15 ฉบับเดิม เป็นตำนานระดับโลก แห่ง Thailand Only ที่มีการเอาผิดทางอาญากับผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจอันร้ายกาจ ที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลีกเลี่ยงที่จะจดจัดตั้งบริษัทอยู่ในประเทศไทยและเลือกให้บริการเข้ามาในประเทศไทยจากเพื่อนบ้านเช่น สิงคโปร์ เป็นต้น

            อย่างไรก็ดียังคงต้องติดตาม ประกาศที่รัฐมนตรีจะออกตามกฎหมายต่อไป ว่าจะสอดคล้องต่อแนวทางสากลอย่างไร

            สุดท้ายนี้ ร่างพ.ร.บ.กสทช. ต้องถือว่าเป็นการผ่าตัดครั้งใหญ่ขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องปฏิบัติตามแผนของ คณะกรรมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อให้มีนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน

            นอกจากนี้ยังเป็นการยุบรวม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ภายใต้ กสทช. เข้าด้วยกัน และยังลดจำนวนกรรมการ กสทช. จาก 11 เหลือเพียง 7 เพื่อความเหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ในยุคหลอมรวมสื่อ (Convergence)

            หากย้อนกลับไป พ.ร.บ.กสทช. ในปี 2543 ได้กำหนดองค์กรกำกับดูแลเป็น 2 องค์กร ได้แก่  คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) แต่ต่อมา พ.ร.บ.กสทช. ปี 2553 ได้เริ่มประจักษ์ถึงการเข้าสู่ยุคแห่ง Convergence จึงได้ยุบรวมเป็นหนึ่งองค์กร กสทช. แต่ยังคงมี 2 คณะกรรมการ ได้แก่ กสท. และ กทค.

            ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.กสทช. ล่าสุด ได้เข้าสู่บริบทแห่ง Convergence อย่างแท้จริง และยุบรวม กสท. และ กทค. เหลือเพียงคณะกรรมการชุดเดียว

            ร่างพ.ร.บ.กสทช.ยังได้มีการแก้ไขรายละเอียดปลีกย่อยของข้อกฎหมายต่างๆ ที่เคยเป็นอุปสรรคต่อการกำกับดูแลรวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรม จากประสบการณ์หลายปีที่ได้เรียนรู้มา แต่ก็ยังอาจมิใช่ทั้งหมด

            ตัวอย่าง ยังคงมีความลักลั่นในการกำกับดูแลเนื้อหา หากเป็นเนื้อหาบนโทรทัศน์ทั้งในระบบเดิมและระบบดิจิทัล กสทช. มีอำนาจกำกับดูแลอย่างเต็มที่ แต่หากเป็นเนื้อหาเดียวกันแต่เผยแพร่ผ่าน YouTube กลับเป็นหน้าที่ของ กระทรวง ICT ในขณะที่ กสทช. สามารถกำกับดูแลเพียงโครงข่ายโทรคมนาคม

            พ.ร.บ.ดิจิทัล 3 ฉบับ เป็นหนึ่งก้าวเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง และสะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังของรัฐบาล ที่จะสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป หลังจากที่ได้ห่างเหินเป็นเวลาเวลาเกือบทศวรรษ

            ที่สำคัญเงินจากการประมูลคลื่นความถี่ จะได้ถูกนำมาใช้พัฒนาดิจิทัล เพื่อประเทศไทยสามารถก้าวทันประเทศเพื่อนบ้านและเป็นจุดศูนย์กลางทางดิจิทัลแห่งหนึ่งของภูมิภาค