“เกษตรปลอดสาร” โอกาสของเกษตรกรและประเทศไทย

“เกษตรปลอดสาร” โอกาสของเกษตรกรและประเทศไทย

ปัจจุบันผู้บริโภคยุคใหม่ หันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารปลอดสาร

เนื่องจากมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ให้ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ถึงอันตรายจากการบริโภคอาหารที่ผลิตจากการทำการเกษตรในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่ใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากในการเพาะปลูกพืชผัก เพื่อให้ทันกับความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจ ที่มีการรวบรวมตั้งแต่ปี2553-2557 ที่ระบุว่า ประเทศไทย นำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ AEC โดยในปี 2557 นำเข้าสารกำจัดวัชพืช(Herbicide) จำนวน 106,860 ตัน มูลค่า 11,294 ล้านบาท สารกำจัดแมลง (Insecticide) จำนวน 16,797 ตัน มูลค่า 3,686 ล้านบาท สารป้องกันและกำจัดโรคพืช (Fungicide) จำนวน 6,972 ตัน มูลค่า 3,883 ล้านบาท วัตถุอันตราย อื่น ๆ จำนวน 3,748 ตัน มูลค่า 494 ล้านบาท รวมวัตถุอันตรายทางการเกษตรทั้งหมดสูงถึง134,377 ตัน มูลค่า 19,357 ล้านบาท

ในการเสวนาเรื่อง "ระดมพลังร่วมกันยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตราย" ที่จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ(สสส) ตั้งแต่ปี 2556 นางสาวแสงโฉม ศิริพานิช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า การฉีดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชครั้งหนึ่ง ในจำนวน 100 กก. ฉีดถูกตัวแมลงเพียง 1 กก. ส่วน 99 กก. ปลิวกระจายในอากาศรัศมี30 กม. ระเหยในอากาศ 10 กก. ตกค้างอยู่ในดินและน้ำถึง 41 กก. เกษตรกรจะได้รับสารเคมีสู่ร่างกายจำนวนมาก ส่วนลูกหลานเกษตรกรก็ประสบปัญหาสุขภาพตั้งแต่แรกคลอด เนื่องจากมีการถ่ายทอดสารพิษจากแม่สู่ลูกได้

สารเคมีที่มีอันตราย 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูซาน ไฮโดรไตรฟอส อีพีเอ็น และเมโทนิล ที่ต่างประเทศยกเลิกการใช้แล้ว ยังคงมีจำหน่ายในประเทศไทย อันตรายจากวัตถุอันตรายที่เกษตรนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากสะดวกสบาย ได้ผลรวดเร็ว ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกร และผู้บริโภค ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณทางด้านสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้แนวโน้มการทำธุรกิจเกษตรปลอดสารได้รับความนิยม เป็นธุรกิจที่น่าสนใจในปัจจุบันและอนาคต

การทำเกษตรปลอดสารจะช่วยลดปัญหาเรื่องวัตถุอันตรายที่ตกค้าง สินค้าเกษตรปลอดสารในปัจจุบันตลาดมีความต้องการสูง ถ้ามีการบรรจุหีบห่อด้วยที่ดี ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ นอกจากจะส่งผลทางด้านความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยลดการนำเข้าวัตถุอันตรายที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีด้วย

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีเกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสานที่เรียกว่า Aquaponics เป็นการเกษตรที่รวมการเลี้ยงปลาหรือ Aquaculture เข้ากับการปลูกผักที่ไม่ต้องใช้ดินที่เรียกว่า Hydroponics ปลาจะช่วยสร้างอาหารแก่ผักที่ปลูก และผักจะทำหน้าที่กรองน้ำให้กับปลาโดยผักจะลอยอยู่เหนือน้ำ สวนผักลอยน้ำในกรีนเฮาส์เล็ก ๆ ให้ผลผลิตผักตั้งแต่ 5-10 กก. ต่อสัปดาห์ ให้ผลผลิตปลาถึง 250 กก.  ต่อปี ในฟาร์มบางแห่งมีการปลูกสลัดพันธุ์แปลกใหม่หลายพันธุ์ที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น

ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ คุณกนกศักดิ์ ตั้งแก้วเรือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบยั่งยืน โดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีการให้ความรู้กับเกษตรกร ชักชวนให้หันมาทำการเกษตรปลอดสารได้มากกว่า 80 % แปลงโฉมเกษตรกรเป็นพ่อค้าขายผักออร์แกนิค ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีสุขภาพและฐานะที่ดีขึ้น

ธนาคารซอฟท์แวร์ (SoftBankThai) เสนอบทความพลิกธุรกิจเกษตรสู่รายได้ 100 ล้านบาท. ของ คุณโซโอกะ ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานประเทศไทย เมื่อ 20 ปีก่อน ในตำแหน่งประธานบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ก่อนผันตัวเองเป็นเกษตรกรหลังทำงานได้แค่ 5 ปี เขาไม่มีความรู้ทางด้านเกษตรเลย แต่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงเรียนรู้ด้วยตนเองและปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ เริ่มทำออร์แกนิคฟาร์ม ด้วยพื้นที่ 50 ไร่ ที่เขาใหญ่ ใช้เวลา 1 ปี ในการปรับปรุงดินเพื่อให้เป็นดินธรรมชาติและปลอดภัย เริ่มปลูกผักโมโรเฮยะผักเพื่อสุขภาพที่มีสารอาหารมากกว่าผักอื่น 5-6 เท่า  ต่อมาปลูกชาสมุนไพรจากออแกนิกส์ ปลูกผัก 40 ชนิด ผลไม้ 15 ชนิด และสมุนไพร 15 ชนิด ที่ช่วยป้องกันแมลง

เริ่มทำการตลาดด้วยการขายตรงให้กับห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาเกต ส่งผักสด ๆ จากฟาร์ม ให้กับผู้บริโภคเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้ามาก เกิดกระแสปากต่อปาก มีลูกค้าที่เป็นชาวไทย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มีสมาชิกกว่า 1,000 ราย ปัจจุบันสามารถส่งออกไปต่างประเทศ 10 ประเทศ มีรายได้ปีละกว่า100 ล้านบาท การทำฟาร์มในช่วง 5 ปีแรก ขาดทุนต้องขายบ้าน ขายรถ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและต้ังใจ ความพยามทำให้ประสบความสำเร็จในที่สุด

ผมอยากให้เกตรปลอดสารเป็นวาระแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่การสอนในโรงเรียนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กลับสู่ท้องไร่ท้องนา ให้ความรู้กับเกษตรกรทุกตำบล รัฐบาลสนับสนุนด้วยการจัดตั้งกองทุนสนับสนุน สถาบันการเงินเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อเกษตรปลอดสารด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เปลี่ยนประเทศนี้เป็นแหล่งผลิตพืชผักปลอดสารที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าการเกษตรปัจจุบัน ที่สำคัญคือการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพเลี้ยงคนทั้งโลก

เริ่มวันนี้ก็ยังไม่สายนะครับ