ธุรกิจเทคโนโลยีต้องมีทุน?

ธุรกิจเทคโนโลยีต้องมีทุน?

ประเทศไทยยังขาดแหล่งทุน และกองทุนที่มีความเข้าใจในลักษณะของธุรกิจเทคโนโลยีมีอยู่น้อยมาก

ในอดีตที่คนไทยและประเทศไทย ยังไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมากเพียงพอทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี ความพยายามในการผลิตบุคลากรผ่านการให้ทุนการศึกษา เพื่อให้มีนักวิจัยระดับปริญญาโทและเอกกลับมาทำวิจัยและสอนคนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่กระนั้นก็เป็นการวิจัยให้เท่าทันกับความรู้ที่ชาติพัฒนาแล้วกำลังคิดค้น หรือคิดค้นได้แล้ว

 ในขณะที่ฟากอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นการใช้แรงงานเป็นหลัก จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติเป็นหลัก แม้ว่าจะมีการส่งเสริมการลงทุน เพื่อดึงการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาก็ตาม แต่ก็เป็นการเน้นดึงเม็ดเงินและเพิ่มการจ้างงานเป็นหลัก ยังไม่ได้มีมาตรการหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี อีกทั้งบริษัทที่เกิดขึ้นถ้าไม่ใช่เป็นของเจ้าของต่างชาติทั้งหมด ก็มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นชาวไทยน้อยมาก เป็นเรื่องยากมากที่คนทำงานอยู่ในไทยจะล่วงรู้ว่าสูตร เคล็ดลับ หรือกรรมวิธีพิเศษที่ใช้นั้นคืออะไร

 แต่กระนั้นก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับอุตสาหกรรมให้คนไทยมีศักยภาพสูงขึ้นให้ได้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) จึงมีความจำเป็น แล้วรู้หรือไม่ว่า“การถ่ายทอดเทคโนโลยี”ที่นิยมใช้กันนั้นมีกี่รูปแบบ? ที่นิยมและพบเห็นกันบ่อยๆ มีดังนี้

- Licensing การซื้อสิทธิ์หรือการอนุญาตให้สิทธิ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีสองลักษณะคือ การให้สิทธิรายเดียว (Exclusive) และการให้สิทธิกับหลายราย (Non-Exclusive)และแน่นอนเป็นการจ่ายเงินให้ต่างชาติ

- Joint Venture การร่วมลงทุน เป็นวิธีที่ใช้กันมากในอดีต มีนักธุรกิจไทยร่วมลงทุนกับผู้ผลิตแบรนด์ชั้นนำต่างชาติเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยต่างชาติหวังว่าจะได้ความชำนาญในการทำตลาดภูมิภาคจากเจ้าถิ่น ในขณะที่เจ้าถิ่นก็หวังที่จะได้เทคโนโลยีจากต่างชาติ

- Turn Key Project (Take Over) การซื้อโครงการที่เสร็จสิ้นแล้วหรือการเข้าไปซื้อกิจการ ซึ่งแน่นอนก็จะทำให้ผู้ซื้อได้ครอบครองเทคโนโลยี รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดด้วย กรณีนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในไทยมากนัก ส่วนมากจะเป็นการซื้อกิจการเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า

- Foreign Direct Investment (FDI) การลงทุนข้ามชาติอันนี้จะเป็นบริบทของประเทศมากกว่า ดังเช่นมาตรการส่งเสริมการลงทุนในยุคที่ BOI เฟื่องฟูมาก จนทำให้มีการพาเหรดเข้ามาลงทุนจากต่างชาติอย่างมาก ซึ่งแน่นอนก็จะทำให้คนไทยที่ทำงานในบริษัทข้ามชาติเหล่านั้นได้มีทักษะความสามารถที่สูงขึ้นตามไปด้วย

- Technical Consortium and Joint R&D Project การทำโครงการร่วมโดยนำความสามารถที่ต่างกันมาเสริมกันหรือแม้แต่การรวมตัวกันของธุรกิจที่ปกติแข่งขันกัน แต่มาร่วมมือกันเพื่อสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง อาทิ การรวมตัวกันเพื่อกำหนดมาตรฐานกลาง การเข้าไปรับงานโครงการใหญ่ (Mega Project) ที่ไม่มีบริษัทใดจะสามารถทำได้โดยลำพัง หากแต่ต้องใช้เทคโนโลยีหลากหลายด้าน จำเป็นต้องเอาบริษัทที่เก่งในด้านต่างๆ รวมเป็นทีมเพื่อรับงานนั้น

- Collaborative R&D หรือCooperative R&D Agreement การทำความตกลงร่วมกันในการวิจัยพัฒนาหรือคิดค้นเรื่องใหม่ๆโดยอาจไม่ใช่แค่ส่งนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาร่วมมือกันทำวิจัยเท่านั้น หากแต่มีการลงขันเป็นเม็ดเงินในการทำวิจัยเพื่อสร้างสิ่งใหม่ด้วย

 จนถึงปัจจุบันประเด็นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอาจจะกลายเป็นเรื่องรองเสียแล้ว เพราะขีดความสามารถของคนไทยในการทำวิจัย ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆสูงขึ้น บางท่านอาจจะไม่ทราบว่าเรามีการส่งออกผลงานวิจัย เทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ เมล็ดพันธ์ทางการเกษตร รวมถึงนวัตกรรมบางด้านไปขายต่างชาตินำเงินตราเข้าประเทศกันแล้ว หากแต่ยังอยู่ในปริมาณน้อย และเม็ดเงินที่ดูเหมือนสูงแต่ก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ

 ทำอย่างไรนวัตกรรมจึงจะเกิดขึ้นในประเทศได้มากกว่านี้ โครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมอย่างถูกต้องถูกวิธี อีกทั้งมีแหล่งทุนสนับสนุนมากทั้งจำนวนเงิน และมากทั้งประเภทของแหล่งทุนให้เลือกใช้

 บริบทในไทยกับต่างประเทศอาจจะมีความแตกต่างอย่างมาก ถ้าเราจะมาเทียบกันในเวลาเดียวกัน นั่นเป็นเพราะในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีแหล่งทุนหลากหลายช่องทางที่เจ้าของเทคโนโลยีพิจารณาเลือกว่าจะระดมเงินจากแหล่งไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง หรือมีหนทางที่กว้างขวางในการที่จะประกาศตัวเองให้นักลงทุนรู้จัก

 ในขณะที่ประเทศไทยยังขาดแหล่งทุน และกองทุนที่มีความเข้าใจในลักษณะของธุรกิจเทคโนโลยีมีอยู่น้อยมาก อีกทั้งพระราชบัญญัติด้านการประกอบธุรกิจ ก็ไม่มีแตกแยกย่อยเพื่อรองรับกับลักษณะทางธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน อาทิ การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม การจัดตั้งธุรกิจเทคโนโลยี การจัดตั้งธุรกิจที่มาจากผลงานวิจัย เป็นต้น

 ขอส่งท้ายด้วยคาถาเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการธุรกิจในทศวรรษนี้ ที่ต้องการก้าวสู่ธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อไม่ให้หลงกลับไปสู่วังวนเดิม แต่กระตุ้นเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าจะต้องคิดแบบใหม่ โดยให้จัดลำดับความคิดทางธุรกิจ เริ่มจากข้อ 1 ก่อนเสมอ และพึงหลีกเลี่ยงการกระทำในข้อ 4

 ข้อ 1 จงทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ แต่เป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ

ข้อ 2 จงทำในสิ่งที่มีคนทำแล้ว แต่ยังไม่ดีพอ (นั่นคือเราเชื่อว่า เราสามารถทำได้ดีกว่าสิ่งที่มีอยู่แล้วในตลาด)

ข้อ 3 จงทำในสิ่งที่มีคนอื่นทำดีแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ (นั่นคือมีความต้องการมาก แต่มีผู้มีความสามารถผลิตได้น้อยราย และมีกำลังการผลิตจำกัด ไม่สามารถตอบสนองต่อตลาดที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง)

ข้อ 4 ไม่ทำในสิ่งที่คนอื่นทำดีแล้ว และเพียงพอแล้ว (เมื่อไรก็ตามที่จะทำในสิ่งที่มีคนสามารถทำได้มากมาย และเริ่มอิ่มตัวในตลาดแล้ว หรือกำลังจะอิ่มตัวในไม่ช้า การเข้าไปในตลาดดังกล่าว ก็ไม่ต่างจากการฆ่าตัวเอง “แค่คิดก็ผิดแล้ว”