ความเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม

ความเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม

ผมเข้าใจว่า มีการกำหนดคำศัพท์ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ขึ้นมาอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับภาครัฐ เพื่อนำมาใช้กับการทำธุรกิจเพื่อสังคม

ซึ่งคงจะนำมาจากคำภาษาอังกฤษ คือ Social Enterprise คล้ายๆ กับคำว่า Startup ซึ่งจะถูกถอดความมาเป็นภาษาไทยว่า “วิสาหกิจเริ่มใหม่”

ในกรณีของ Startup Social Enterprise ก็คงจะต้องเรียกกันว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคมเริ่มใหม่”

ทำให้เกิดความสนใจที่จะกลับมาทบทวนว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม มีความน่าสนใจและมีความจำเป็นอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจของเราในภาพรวมอีกครั้งหนึ่ง

นอกเหนือไปจากการเป็นอีกโมเดลหนึ่งเพื่อการพัฒนาสังคมไปสู่ความยั่งยืนโดยการใช้กลไกและรูปแบบทางธุรกิจมาใช้แก้ไขปัญหาในสังคมแล้ว ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของวิสาหกิจเพื่อสังคม คงจะเป็นเรื่องของการบริหารผลตอบแทนจากธุรกิจ ที่จะไม่กลับคืนไปสู่ผู้ประกอบการในลักษณะของการจ่ายปันผล ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำธุรกิจแบบทั่วไป

ด้วยลักษณะที่แตกต่างของวิสาหกิจเพื่อสังคม ตัวของผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคมจึงจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่แตกต่างออกไปจากผู้ประกอบการธุรกิจโดยทั่วไปที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกำไรและความมั่งคั่งสูงสุดให้กับตนเอง

อย่าลืมว่า เรื่องของแนวคิดธุรกิจและวิธีการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องที่เป็น “เฉพาะบุคคล” อย่างยิ่ง และลอกเลียนแบบกันได้ยาก ธุรกิจที่เหมือนกันเป๊ะ บางคนอาจประสบความสำเร็จ บางคนอาจไม่ประสบความสำเร็จ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ดูเหมือนว่า แนวคิดธุรกิจอาจเลียนแบบหรือนำมาจากประเทศอื่นที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่อาจทำให้สำเร็จในบ้านเราได้ยาก หรืออาจไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้ไม่ว่าตัวผู้ประกอบการจะมีความปรารถนาดีและมีความจริงใจต่อสังคมอย่างแรงกล้าก็ตาม

มีผู้ให้ข้อสังเกตสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคมให้ทบทวนตัวเองในแง่ต่างๆ ก่อนตัดสินใจเริ่มต้นสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคมไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ความสามารถในการรองรับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านการเงิน ที่ต้องเสี่ยงกับการสูญเสียเงินลงทุนที่นำมาใช้ในการเริ่มต้นสร้างธุรกิจหรือการขยายธุรกิจ หากธุรกิจที่หมายมั่นไม่สามารถไปถึงดวงดาวได้ หรือความเสี่ยงด้านการตลาดที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคอาจเปลี่ยนใจหันไปใช้สินค้าหรือบริการจากคู่แข่งของเราได้

ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม จึงต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ตนเองในด้านความเสี่ยง และเตรียมมาตรการในการหลีกเลี่ยง ลดความเสี่ยง หรือกระจายความเสี่ยงให้น้อยลง เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้

ความสามารถในการเรียนรู้และรับฟังคำแนะนำหรือความคิดเห็นจากผู้อื่น ลักษณะทั่วไปของผู้ประกอบการธุรกิจ มักจะเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงและไม่ชอบรับฟังคำแนะนำจากผู้อื่น ซึ่งอาจจะเป็นจุดแข็งสำหรับการทำธุรกิจเพื่อความมั่งคั่งของตนเอง แต่สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องมีความสามารถและทักษะในการรับฟังเสียงของสังคมรอบข้าง โดยเฉพาะสังคมที่ธุรกิจต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมนั้น

ความเป็นเจ้าของธุรกิจจะไม่เป็นแบบเข้มข้นเหมือนกับการเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว แต่ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม อาจต้องพิจารณาตำแหน่งของตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ผู้เล่น” ในทีม มากกว่าที่จะเป็น “ผู้กำหนดทิศทาง” ของธุรกิจแต่ผู้เดียว เนื่องจากต้องมีผู้ที่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจเป็นจำนวนมากขึ้น

ในขณะที่ต้องแสดงบทบาทของการเป็น “ผู้เล่นร่วมทีม” ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม ก็ยังไม่สามารถละทิ้งบทบาทการเป็นผู้นำภายในธุรกิจ เพื่อนำพาธุรกิจที่ต้องมีการแข่งขันให้ประสบชัยชนะเหนือคู่แข่งเช่นเดียวกับธุรกิจทั่วไป

สไตล์ในการบริหารและโมเดลธุรกิจ ในขณะที่คำจำกัดความของ วิสาหกิจเพื่อสังคม ยังไม่สามารถแบ่งแยกลักษณะของการดำเนินธุรกิจได้อย่างชัดเจน แต่มีความหมายอยู่ในระหว่างการเป็นธุรกิจที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเจ้าของธุรกิจ กับการเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือสังคมโดยใช้เงินที่ได้รับจากการบริจาคเพื่อการกุศล และไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบของการเป็น สหกรณ์ รัฐวิสาหกิจ หรือวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม อาจต้องเลือกโมเดลธุรกิจและวิธีการให้การบริหารธุรกิจให้เหมาะสม

ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของขนาดของธุรกิจ ที่จะต้องไม่เล็กเกินไปจนไม่สามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมได้อย่างมีนัยสำคัญ หรือใหญ่โตเกินไปจนอาจนำไปสู่การทับซ้อนของผลประโยชน์ระหว่างสังคมกับธุรกิจ

ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม อาจใช้กลยุทธ์แบบ “Think Global - Act Local” คือ คิดให้ใหญ่ แต่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ เสียก่อนให้ประสบความสำเร็จ ก่อนที่จะนำบทเรียนแห่งความสำเร็จไปขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ความสามารถในการหาแหล่งทุนสนับสนุนและการบริหารการเงิน เช่นเดียวกับการประกอบธุรกิจทั่วไปที่ต้องใช้เงินทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม อาจมีความได้เปรียบในเรื่องของแหล่งทุนสนับสนุนที่ได้จากภาครัฐหรือภาคเอกชนอื่นๆ ที่เห็นความสำคัญของการสร้างสังคมให้เข้มแข็ง แต่ทักษะในด้านการบริหารการเงินและการแสวงหาแหล่งเงินทุน ก็ยังมีความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคมในการบริหารกิจการให้มั่นคงในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจเพื่อสังคมจะอาศัยเงินสนับสนุนแบบให้เปล่าตลอดไปไม่ได้ ดังนั้น การเลือกใช้แหล่งทุนสนับสนุน จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายตัวของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม เช่น อาจใช้เงินส่วนตัว หรือเงินสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นจุดเริ่มต้น

แล้วจึงใช้เงินสนับสนุนจากแหล่งอื่น เช่น เงินกู้ หรือเงินร่วมลงทุน มาใช้ในการหมุนเวียนและขยายธุรกิจต่อไป

แหล่งเงินเพื่อการเริ่มต้นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งก็คือ การประกวดแผนธุรกิจในเวทีต่างๆ ซึ่งจะช่วยยืนยันได้อีกทางหนึ่งว่า แผนหรือโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมที่คิดไว้มีศักยภาพและความเป็นไปได้สูง รวมถึงแหล่งเงินจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การระดมเงินทุนจากอินเตอร์เน็ต หรือ Crowd Funding เป็นต้น

แนวคิดของการช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับสังคมผ่านการดำเนินการวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมและนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้ฝีมือ ความรู้ และความสามารถของตนเอง เพื่อสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงไม่เพียงเฉพาะกับตนเอง แต่ยังต้องการเผื่อแผ่ไปสู่ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกด้วย

ทำให้เกิดผลตอบแทนจากธุรกิจได้ถึง 3P คือ Profit (กำไร) People (สังคม) และ Planet (สิ่งแวดล้อม)