หรือแม่น้ำโขงกับรถไฟไทย-จีน คือคนละเรื่องเดียวกัน?

หรือแม่น้ำโขงกับรถไฟไทย-จีน คือคนละเรื่องเดียวกัน?

ผู้นำจีนกับประเทศลุ่มน้ำแม่โขง ตอนล่างห้าประเทศ

พบกันที่เมืองชายทะเลซานย่าของไหหลำ (ไห่หนาน) เมื่อสัปดาห์ก่อน และออกแถลงการณ์ที่เรียกว่า แถลงการณ์ซานย่า เพื่อย้ำความร่วมมือทุก ๆ ด้านของ 6 ประเทศโดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ

หลังจากนั้นก็มีการคุยกันนอกรอบระหว่างนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทยกับนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ผลปรากฏว่าผู้นำไทยบอกว่าไทยจะควักกระเป๋าสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่าง กรุงเทพฯกับโคราชเอง โดยจะให้จีนมาก่อสร้างและใช้วิศวกรและแรงงานไทย

สองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกันโดยตรง แต่มีปัจจัยร่วมคือจีนในบริบทของความร่วมมือของ พี่ใหญ่ กับประเทศเพื่อนบ้านที่เล็กกว่าแถบนี้

เกิดคำถามเรื่องบทบาทของจีนในความร่วมมือสร้าง เครือข่าย แห่งการพัฒนาทั้งในรูปแบบของพหุภาคีและทวิภาคี

จริงใจหรือไก่กา?

ผมเห็นป้ายการประชุมผู้นำจีนกับไทย พม่า เวียดนาม ลาวและกัมพูชา ที่ซานย่านั้นเขียนว่า “Lancang-Mekong” โดยเอาคำว่า “ล้านช้าง” (ชื่อที่จีนเรียกแม่น้ำโขง) ขึ้นหน้าคำว่าแม่โขง ทำให้เกิดภาพที่จีนต้องการแสดงให้ปรากฏชัดว่า “ใครใหญ่” กันแน่

แม้ในแถลงการณ์ร่วมจะใช้คำว่า ความร่วมมืออย่างเท่าเทียมเสมอภาค แต่ในทางปฏิบัติภาพและเนื้อหาที่ออกมา ก็เห็นได้ชัดว่าปักกิ่งเป็นคนคุมเกมของสายน้ำ ที่มีต้นทางจากทิเบตโดยสร้างเขื่อนจำนวนมากมาย เพื่อควบคุมการไหลของน้ำ ตามแต่ที่จีนจะกำหนดเอง โดยไม่มีการปรึกษาหารือกับประเทศสองฝั่งลุ่มน้ำโขงข้างล่าง

ที่ผ่านมา แม้ว่าห้าประเทศตอนล่างของแม่น้ำโขง จะเรียกร้องให้จีนมาร่วมในการวางแผนการใช้น้ำในแม่โขง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธมาตลอด ระดับนโยบายที่ปักกิ่งกำหนดนโยบายอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่แนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ระดับทำงานไม่ได้ยื่นมือมาแสดงความ “เท่าเทียมเสมอภาค” กับประเทศอื่น ๆ ที่ร่วมชะตากรรมสองลุ่มน้ำโขงแต่อย่างไร

จึงหวังว่าการออก “แถลงการณ์ซานย่า” ครั้งนี้โดยที่นายกฯ หลี่เค่อเฉียง มาเป็นตั้วโผเองจะเป็นฉากใหม่แห่งความร่วมมือที่ “เท่าเทียมและเสมอภาค” กันจริง ๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นนอกรอบในจังหวะเดียวกัน คือเรื่องรถไฟไทย-จีน ที่ผลออกมาแล้วสร้างความแปลกใจ ให้กับผู้ติดตามข่าวสารนี้มากพอสมควร

เพราะนายกฯประยุทธ์บอกว่าตกลงจะไม่กู้เงินจีน รัฐบาลไทยจะควักกระเป๋าสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชเอง ความยาวประมาณ 250 กิโลเมตร แต่จะใช้เทคโนโลยีจีน และทางจีนรับปากว่าจะใช้วิศวกรและคนงานไทยในโครงการนี้

นายกฯบอกว่าทางรถไฟกรุงเทพฯ-โคราชเส้นนี้ เริ่มแรกจะเป็นโครงการภายในประเทศของไทยเอง ส่วนเรื่องจะเชื่อมกับเครือข่ายรถไฟของจีนในภูมิภาคนี้เป็นเรื่องอนาคต

ใครได้ยินข่าวนี้ก็คงจะสรุปได้ว่าการเจรจา 9 รอบ (เฉพาะที่เป็นทางการ) ระหว่างสองฝ่ายเรื่องโครงการรถไฟไทย-จีนนั้นล้มแล้ว ไทยจะสร้างเอง แต่ก็จะยังให้จีนมาสร้างให้เพราะเป็น รถไฟแห่งอนาคต

คำถามที่ตามมาก็คือ

1. ทำไมถ้าเป็นเงินของเราจึงต้องให้จีนมาสร้าง ทำไมไม่เปิดประมูลระดับโลกเพื่อให้มีการแข่งขันให้เราได้เงื่อนไขดีที่สุด?

2. หากไทยสร้างรถไฟสายนี้เอง จะยังถือเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการรถไฟไทย-จีน”  หรือไม่? และจะยังมีการเจรจากันต่อในรูปแบบใดหรือไม่? ตกลงยังจะมีการ “ตอกเสาเข็ม” โครงการรถไฟไทย-จีนหรือไม่?

3. หากเราต้องกู้เงินมาสร้าง มีการศึกษาวิเคราะห์ว่าคุ้มค่ากับการลงทุนมากน้อยเพียงใด? มีความจำเป็นต้องสร้างหรือไม่?

4. หากสร้างรถไฟสายนี้ จะเชื่อมต่อเป็นส่วนหนึ่งของ เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21” ของจีนหรือไม่อย่างไร?

5. หากไทยเดินหน้าสร้างรถไฟสายนี้ จะมีผลต่อโครงการทางรถไฟ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอสร้างอีกเส้นทางหรือไม่อย่างไร?

เรื่องแม่น้ำโขงกับรถไฟนี่ไป ๆ มา ๆ อาจจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันก็ได้!