ความแตกต่างที่ลงตัว ในการพัฒนาบุคลากร

ความแตกต่างที่ลงตัว ในการพัฒนาบุคลากร

ในทุกๆ องค์กร มีพนักงานที่มีความหลากหลาย ทั้งวัย เพศ อายุ ประสบการณ์การทำงาน ความเชี่ยวชาญในงาน

ผมขอแบ่งปันในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร ที่มีความแตกต่างกัน โดยผมจะให้ความสำคัญกับหลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ซึ่งนำมาปรับใช้ได้อย่างไรกันบ้าง ลองมาติดตามกันครับ

ผู้ที่ทำงานด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล จะมีความคุ้นเคยกับ Andragogy ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลป์ในการสอนผู้ใหญ่-The Art and Science of Teaching Adults แต่โดยในทางปฏิบัติแล้ว การสอนในความหมายนี้ วิทยากร/นักฝึกอบรม จะไม่เป็นผู้สอนหรือผู้แสดงฝ่ายเดียวแต่จะมีบทบาทเป็น “ผู้อำนวยให้เกิดการเรียนรู้ (Learning Facilitator)” เป็นผู้ช่วยให้ผู้เข้าฝึกอบรมเกิดการเรียนรู้ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมไปถึงทักษะ พฤติกรรมค่านิยม และทัศนคติด้วย ซึ่งจะไม่สอนผู้เข้าฝึกอบรมโดยตรง แต่จะช่วยเหลือให้ผู้เข้าฝึกอบรมเรียนรู้และตกผลึกด้วยตนเอง จึงเป็นศาสตร์และศิลป์ในการช่วยให้ผู้เข้าฝึกอบรมเรียนรู้

สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ (Academy of Business Creativity) มหาวิทยาลัยศรีปทุม และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันสร้างสรรค์หลักสูตร Ctrl Alt Delete : Reboot your life. Rebuild your future. (CAD) ซึ่งได้ถูกวางรากฐานจากปรัชญาของการสร้างความแตกต่างในการทำงาน ด้วยการออกแบบหลักสูตรที่เน้นให้ผู้เข้าอบรมมีความหลากหลายมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้านอายุ ประสบการณ์ สายการทำงาน เพราะเชื่อว่าความต่าง ความหลากหลายจะทำให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และพร้อมเปิดใจกับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

พนักงานในวัยทำงานซึ่งเป็นผู้ใหญ่มีแรงจูงใจภายในเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้มากกว่าปัจจัยภายนอก ซึ่งวิธีการสมัครเข้าโครงการ CAD นี้ พนักงานจะต้องสมัครเข้ามาเอง โดยเขียนแรงบันดาลใจในการอยากที่จะเข้าเรียนหลักสูตรนี้ พร้อมคลิป VDO แนะนำตัวเองสั้นๆ ความยาวไม่เกิน 1 นาที ให้คณะกรรมการคัดเลือก เมื่อพนักงานเป็นผู้เลือกที่จะเรียนหรือเข้าร่วมโครงการเองจากแรงจูงใจภายในตัวเอง จะทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้ดีกว่าและมากกว่าถูกชักชวนจากเพื่อนหรือผู้ใหญ่บังคับให้มาเรียนซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก

หลักสูตร CAD ยังมีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเวทีนำโจทย์ทางธุรกิจจริง และประสบการณ์ในการทำงานในสนามของนักสร้างสรรค์ตัวจริง มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและการเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความเชี่ยวชาญในหลากหลายแขนง ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถดึงประสบการณ์ชีวิตของพวกเขามาช่วยในการเรียนรู้ได้ทันที ผมขอยกตัวอย่างวิทยากรที่ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในโครงการ เช่น

คุณไอซ์ ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ แห่ง JM Cuisine (เจ็กเม้ง) เคยเป็นคนพูดติดอ่าง ในวัยเด็กครอบครัวล้มละลาย มีหนี้ 35 ล้านบาท จนต้องย้ายมาอยู่กับญาติ แต่หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยได้ปีครึ่งด้วยวัยเพียง 23 ปี สามารถปลดหนี้ให้กับครอบครัวได้ เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ ป.3 มีวิธีฝึกให้เลิกพูดติดอ่างที่ไม่เหมือนใคร จนมาวันนี้เป็นวิทยากรพิเศษปีละกว่า 200 ครั้ง พร้อมมุมมองต่อชีวิตที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจตลอดเวลา ใช้ความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการออกแบบธุรกิจใหม่ๆ

คุณพันธ์รบ กำลา จากเด็กจบ ป.4 ทำงานทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น เก็บฝ้าย ทำน็อต คนสวน ทหารเกณฑ์ ยาม หรือแม้กระทั่งขายไอศกรีม จนวันนี้เขากลายเป็นเจ้าของธุรกิจ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว แฟรนไชส์บะหมี่เกี๊ยวชื่อดัง ที่มีมากกว่า 3,000 สาขาทั่วประเทศ

คุณสาธิต กาลวันตวานิช ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณามือทอง และผู้บริหารใหญ่บริษัทโฆษณาอันดับหนึ่งของไทย “ฟีโนมีนา” ซึ่งประสบความสำเร็จทะลุเพดานจากการสร้างแบรนด์ Propaganda จนกลายเป็นผู้นำด้านสินค้าดีไซน์สร้างสรรค์ของโลกซึ่งเข้าใช้ “ความไม่รู้” เปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ดีขึ้น และสร้างอาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ขึ้นมา จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และผลงานของเขายังไปคว้ารางวัลระดับโลก

การส่งเสริมให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้หรือกิจกรรมเรียนรู้โดยตรงหรือจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยยึดผู้เข้าฝึกอบรมเป็นศูนย์กลางและถือว่าประสบการณ์ของผู้เข้าฝึกอบรมเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเรียนรู้ นับว่ามีความสำคัญยิ่งทั้งนี้เพราะสภาพเศรษฐกิจ และสังคมแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา

การทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้มีโอกาสทำในสิ่งที่แปลกใหม่ ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การวางกลยุทธ์ การเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ การหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ทั้งยังสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในกลุ่ม เช่น การแรลลี่เชิงประวัติศาสตร์ (Historical Rally) และการทำหนังสั้น หรือ Music Video จะช่วยให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้สิ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ทันที

เป้าหมายในการที่จะพัฒนาให้พนักงานสามารถเปิดรับกับความท้าทายและความไม่แน่นอน กล้าคิดสิ่งใหม่ๆ มีนวัตกรรมทางความคิด กระตุ้นให้ทีมงานมีความคิดใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกพลังบวกที่กล้าจะเปลี่ยนแปลงและทำในสิ่งที่เป็นนวัตกรรมทางธุรกิจ เป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับพนักงาน ประสานประโยชน์ของความแตกต่าง ให้ความสำคัญกับแนวคิดการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ เป็นการทำให้พนักงานอยู่รอดในทุกสภาพแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้พนักงานได้รู้วิธีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต หรือเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต

“CAD”

Control Your Destiny

Alternate Your Part

Delete Your Negatives