ช่วงหนึ่งของการทูตไทยยุค ถนัด คอมันตร์ :

ช่วงหนึ่งของการทูตไทยยุค ถนัด คอมันตร์ :

คืนนั้นจอมพลสฤษดิ์เตรียมบุกเขมร!

ผมเพิ่งตระเวนสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ อดีตนักการทูตหลายท่าน เพื่อแสวงหาบทเรียนและความรู้ จากชีวิตนักการทูตมือหนึ่งของไทยอย่าง ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งในอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันถึง 12 ปี และได้ข้อมูลในอดีตมากมายหลายด้านที่น่าสนใจ เป็นบทเรียนสำหรับปัจจุบันและอนาคตอันมีคุณค่ายิ่ง

ควันหลงหนึ่งเรื่องที่ผมอยากนำมาเล่าขานต่อ เพราะไม่เป็นที่รับรู้ในแวดวงคนไทยมากนักมาจากอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเคยทำงานใกล้ชิดกับคุณถนัดในหลายๆ บทบาทเคยเล่าในงาน “100 ปี ถนัด คอมันตร์ ที่กระทรวงต่างประเทศจัดเมื่อ 19 สิงหาคม 2557

วันนั้น คุณอานันท์ได้เล่าให้ผู้ร่วมในงานฟังตอนหนึ่งว่า

“...มีอยู่อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเข้าใจว่าหลายคนคงไม่ได้ยินมาก่อน ตอนนั้นผมยังทำหน้าที่เลขาฯ อยู่ มีคดีเขาพระวิหาร ท่านทูตสมปอง (สุจริตกุล) อยู่ที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย คุณสมปองกับคุณจาพิกรณ์ เป็นตัวแทนของกระทรวงฯ ไปร่วมในคณะของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับ พ.อ.จินดา ณ สงขลา...เมื่อเราแพ้ เมื่อศาลโลกตัดสินให้เราคืนปราสาทเขาพระวิหารให้กับเขมรโดยหลักการของ “estoppel” หรือ กฎหมายปิดปาก (หมายความถึงการกระทำหรือการยอมรับไม่ว่าจะโดยแจ้งชัดหรือปริยายเกี่ยวกับเรื่องใด ย่อมเป็นการปิดปาก ถือว่าผูกพันฝ่ายที่กระทำนั้น โดยมิอาจโต้แย้งได้)...

“แน่นอน คนไทยที่เลือดร้อนหรือที่ไม่ได้ข้อเท็จจริงอันสมบูรณ์ ก็จะมีความโกรธแค้น ไม่อยากที่จะให้ประเทศไทยสูญเสียปราสาทเขาพระวิหารไป ท่านจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคนรักชาติ และคืนนั้น ตอนที่ผมเป็นเลขาฯอยู่ ก็ได้ยินมาว่าหลังสองยามไปแล้ว ท่านจอมพลสฤษดิ์ จะสั่งทหารบุกเขมร และไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลก...

"ปรากฏว่า ท่านรัฐมนตรีถนัด คอมันตร์ กับคุณพจน์ สารสิน ซึ่งผมจำไม่ได้แน่ว่าขณะนั้นท่านเป็นเลขาธิการซีโต้หรืออยู่ในตำแหน่งใดไปหาจอมพลสฤษดิ์ ก่อนสองยามคืนนั้น แล้วไปอธิบายถึงเหตุผลของการตัดสินคำพิพากษาและผลลัพธ์ที่ตามมาว่าไทยจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง แต่จริงๆ แล้วเพื่อจะไปคัดค้านท่านจอมพลสฤษดิ์ว่า การที่ไม่ยอมรับและจะส่งทหารบุกเข้าไปในเขมรนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะในฐานะที่เราเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และตามกฎบัตรก็เขียนไว้ชัดเจนเกี่ยวกับคำพิพากษา ว่าคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศนั้นเป็นอันสิ้นสุด และรัฐสมาชิกต้องยอมรับและเคารพในคำตัดสิน...

“แต่การที่จะโน้มน้าวให้จอมพลสฤษดิ์ มีความคิดที่ต้องยอมรับ คงต้องใช้เวลามาก แต่ผมทราบมาว่าสิ่งที่ท่านรัฐมนตรีถนัดเสนอตอนนั้น คือจะให้ออกแถลงการณ์ควบคู่กันไปว่ายอมรับ แต่ในแถลงการณ์นั้นจะเขียนในทำนองว่า (อันนี้ท่านทูตสมปองอาจจะรู้ดีกว่าผม) ถ้าเผื่อมีข้อมูลใหม่หรือเหตุการณ์ใหม่ขึ้นมา และจะสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในอนาคตได้ ทางรัฐบาลไทยก็จะสงวนไว้ซึ่งสิทธิในอันที่นำเรื่องเรื่องนี้กลับเข้ามาในศาลโลกใหม่ 

อันนี้ก็ทำให้เป็นปัญหาในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาว่า การสงวนสิทธิ์อันนี้ไว้ ทำไมเราไม่ทำอะไรใน 50 ปีที่ผ่านมา และยังทำได้ต่อไปหรือไม่ แต่เท่าที่ผมเข้าใจ แถลงการณ์ฉบับนั้นเป็นการกู้หน้ามากกว่า เพื่อจะให้ฝ่ายทหารโดยเฉพาะท่านจอมพลสฤษดิ์ เข้าใจว่าถึงแม้จะยอมรับตอนนี้ แต่ก็ยังมีโอกาส ยังมีลู่ทางในอนาคตที่จะต่อสู้ให้เรื่องนี้กลับคืนมาเป็นของไทยได้.. 

อย่างไรก็ตาม ตามความเป็นจริงแล้วคงยาก แต่อันนี้เป็นวิธีการใช้ภาษาทางการทูตกับวิถีทางทางการทูต ที่จะป้องกันไม่ให้มีสงคราม มีการรบราฆ่าฟันระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน 2 ประเทศ ผมว่าทั้งคุณพจน์ สารสินและคุณถนัดได้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยอยู่นานัปการ และเป็นสิ่งหนึ่งที่จะต้องจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์การทูตของเมืองไทย...”

คำบอกเล่าของคุณอานันท์ (จากนิตยสาร “วิทยุสราญรมย์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 66 มกราคม – มีนาคม 2558) 

เรื่องนี้จึงเป็นตำนานเล่าขานที่ควรแก่การนำส่งมายังคนไทยรุ่นต่อ ๆ มาที่ต้องการเรียนรู้ถึง การทูต ผู้นำทหาร และสงครามที่เกือบระเบิด”!