กระเช้าขึ้นภูกระดึง: อารมณ์และความจริง

กระเช้าขึ้นภูกระดึง: อารมณ์และความจริง

ช่วงนี้กระเช้าขึ้นภูกระดึงกำลังเป็นข่าวใหญ่ ผมจึงขอเขียนถึงเรื่องนี้ โดยเอาประสบการณ์การสร้างกระเช้าในต่างประเทศ

ในฐานะที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งมาเล่าให้ฟัง เพื่อช่วยรัฐบาลในการตัดสินใจบนพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและที่สำคัญคือเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

กระเช้ามอนเตเนโกร

เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นกระเช้าท่องเที่ยวที่ยาวสุดในโลก ผมเคยทำงานให้ทั้งสหประชาชาติและธนาคารโลก ปกติต้องวิเคราะห์ก่อนอำนวยสินเชื่อ กรณีนี้ผมจึงขอยกตัวอย่างที่ทาง UNDP ให้ทำการศึกษาเพื่ออำนวยสินเชื่อในการสร้างกระเช้านี้ โดยโครงการนี้ชื่อว่า "Kotor-Cetinju Cable Car” ซึ่งเชื่อมระหว่างนคร Kotor ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวเลื่องชื่อ ติดทะเลกับจังหวัด Cetinju มีความยาวถึง 14.8 กิโลเมตร ปักเสา 74 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 200 เมตร การสร้างกระเช้านี้จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมหาศาล ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปากกันมากขึ้น ผมไปสำรวจพบที่ภูกระดึงว่าเขาไม่ได้รับการพัฒนามา 30 ปีแล้ว บางร้านคิดจะย้ายออก เพราะการท่องเที่ยวมีแต่ถดถอย

ประเด็นสำคัญก็คือ การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงิน ซึ่งมีอยู่หลายวิธีซึ่งพบว่ามีความเป็นไปได้สูง เช่น การวิเคราะห์มูลค่าปัจจุบันสุทธิที่ผมไปวิเคราะห์ในโครงการสร้างเขื่อนที่ธนาคารโลกเคยปล่อยเงินกู้ที่เกาะชวา แต่ถ้าเราพิจารณาจากวิธีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR: internal rate of return) ซึ่งเป็นการคำนวณหาอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในโครงการที่ทำให้มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสด ที่คาดว่าจะต้องจ่ายในการลงทุนเท่ากับมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่า จะได้รับจากการดำเนินการ ผลการวิเคราะห์พบว่าค่า IRR ในเงื่อนไขที่น่าจะเป็นอยู่ระหว่าง 8.8-11.7% ซึ่งคุ้มค่ากับการลงทุนในเงื่อนไขของประเทศนี้

กระเช้าลังกาวี

มาใกล้บ้านเราบ้าง คือลังกาวี ซึ่งก็ไม่มีอะไรสวยงามเป็นพิเศษนอกจากมีเขาอยู่แทบเต็มเกาะ ก็คล้ายๆ กับภูกระดึงบ้านเรา แต่เขาพลิกวิกฤติเป็นโอกาส แทนที่จะปีนขึ้นเขาไปเที่ยว ก็สร้างรถกระเช้าลอยฟ้า เพราะการเดินขึ้นภูเที่ยวนั้น แต่ละปีมีคนตายเสมอ แต่อาจไม่เป็นข่าว ที่สำคัญแม้แต่ลูกหาบผู้ชำนาญและแข็งแรง ยังตายมาแล้วที่ภูกระดึง กระเช้าลังกาวีใช้เวลาก่อสร้าง 16 เดือนเท่านั้น และเสร็จเมื่อปี 2545 หรือ 14 ปีมาแล้ว

กระเช้าลังกาวีมีระยะทาง 2.2 กิโลเมตร มี 35 กระเช้า แต่ละกระเช้าจุได้ 6 คน ทั้งนี้ช่วงห่างของกระเช้าที่ยาวที่สุดยาวถึง 920 เมตร หรือเกือบ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางถึงยอดประมาณ 15 นาที เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 5 เมตรต่อวินาที แต่ละชั่วโมงให้คนขึ้นได้ 700 คน ความสูงของกระเช้าห่างจากพื้นดินประมาณ 38 เมตร โดยไม่รบกวนสัตว์ ทั้งนี้มีค่าโดยสารเพียง 300 บาท (35 ริงกิต) ท่านทราบหรือไม่ ถ้าจ้างคนหามคนแก่ขึ้นภูกระดึงจะใช้เงินค่าจ้างถึง 4,000-5,000 บาท ต่างกันมหาศาลเพียงใด

กระเช้าและการท่องเที่ยวลังกาวียังถือเป็นการท่องเที่ยวที่สร้างมลภาวะต่ำ (Low carbon neutral tourism หรือ carbon neutral tourism ที่กำลังรณรงค์กันในยุโรปในขณะนี้ ดังนั้นข้อกังวลเรื่องขยะที่ว่าหากมีคนขึ้นภูกระดึงกันมากๆ จะทำให้ขยะล้น เพราะตอนนี้ก็ล้นจนแทบทะลักแล้วนั้น มันอยู่ที่การจัดการที่ดีครับ ที่ลังกาวีเขาไม่กลัวขยะเพราะสามารถขนถ่ายได้ง่ายกว่าปกติ อย่างในทุกวันนี้ของภูกระดึง การขนของขึ้นไป ลูกหาบคิดกิโลกรัมละ 30 บาท ดังนั้นคงแทบหาคนขนขยะกลับได้ยากเต็มทน แต่ถ้าเราไม่เชื่อมั่นระบบจัดการของคนไทยเรา ก็ไป “อิมพอร์ต” นักจัดการขยะของมาเลเซียมาให้ไทยเป็นเมืองขึ้นทางปัญญาของมาเลเซียก็ได้นะครับ

กระเช้าดานัง

มาดูประเทศที่เจริญน้อยกว่าไทย แต่แซงหน้าเราแล้วคือเวียดนาม ใกล้เมืองดานังบริเวณภูเขา Bana Hills ซึ่งก็เป็นเทือกเขาที่ไม่ได้มีอะไรแปลกหรือสวยงามเยี่ยงภูกระดึงเลย แต่เขาก็ทำกระเช้าให้คนได้ขึ้นเขามองลงมาดูนครดานัง ฮอยอันและบริเวณใกล้เคียงอื่นๆ ปรากฏว่ามีคนสนใจมาใช้บริการเป็นอันมาก โดยใช้เวลาถึงยอด 15 นาที เร็วกว่าขับรถขึ้นที่ใช้เวลา 55 นาที (ถ้าเดินคงเป็นวันเช่นภูกระดึง) ทั้งนี้เพราะกระเช้านี้ เป็นกระเช้าที่มีช่วงที่ไม่หยุดเลยยาวที่สุดในโลกถึง 5,801 เมตร และเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2556 นี้เอง (แต่ภูกระดึงยังย่ำอยู่กับที่มา 30 ปีแล้ว) ใครไปดานัง-ฮอยอัน จะต้องขึ้นกระเช้านี้ หาไม่ ถือว่าไปไม่ถึง!

ในแง่ของการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชิ้นนี้ เป็นเงินถึง 650 ล้านบาท (17.2 ล้านดอลลาร์) สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ชั่วโมงละ 1,500 คน สู่ยอดเขาสูง 1,487 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ใกล้เคียงกับภูกระดึงที่บริเวณคอกเมยที่สูง 1,316 เมตร) คาดหมายว่าการนี้จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มจาก 200,000 คนเป็น 1 ล้านคน ยิ่งกว่านั้นบนยอดเขา เวียดนามยังจะลงทุนอีก 18,500 ล้านบาท (500 ล้านดอลลาร์) เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ การพัฒนาแบบนี้ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมดังที่นักอนุรักษ์ (จริงหรือ) พยายามบอกให้คนไทยกลัวกัน

อันที่จริงยังมีกระเช้าขึ้นเกนติ้ง (Genting Skyway) ระยะทาง 3.38 กิโลเมตร ที่สร้างเสร็จในปี 2540 ขึ้นไปที่เกนติ้งซึ่งเป็นกาสิโนใหญ่ของมาเลเซีย (ประเทศมุสลิมนี้มีกาสิโนแห่งนี้ มาตั้งแต่ปี 2515) โดยมีสนนราคาเพียง 100 บาท หรือที่สิงคโปร์ก็มีกระเช้าเชื่อมระหว่างเนินเขาเตี้ยๆ ชื่อ Faber กับเกาะเซ็นโตซา โดยมีค่าโดยสาร 1,000 บาท อย่าลืมว่าตัวกระเช้าและเครื่องจักรเหล่านี้ไม่ได้มีค่างวดอะไรมากเลย ดังนั้นจึงคุ้มทุนในเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งถ้าขึ้นไปกาสิโนอาจถือได้ว่าฟรี!

หากคิดถึงกรณีภูกระดึงของไทย การพัฒนากระเช้าขึ้นภู ควรมีมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แม้แต่ อ.ศศิน เฉลิมลาภ ก็บอกว่าการสร้างกระเช้าไม่ได้ส่งผลต่อการทำลายป่า แต่ที่ห่วงเรื่องขยะ มันอยู่ที่การจัดการให้ดีทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้นบนภูยังสามารถพัฒนาเป็นเส้นทางเดินป่าบนอากาศ หรือแม้แต่เป็นเมืองตากอากาศขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้ได้มีเงินมาพัฒนาป่าไม้ ปลูกป่าโดยเฉพาะตั้งคณะไล่ล่าผู้ตัดไม้ทำลายป่า แต่ในปัจจุบันไม้ตัด-ชักลากไปเสร็จ เจ้าหน้าที่ค่อยไปถึงสถานที่เกิดเหตุ ถ้าเรามีเงินพัฒนา ป่าไม้ก็จะยั่งยืนในที่สุด

ว่าไปแล้วชาวภูกระดึงซึ่งเป็นเมืองปิด ผมไปเจอแม่ค้าบางรายบอกว่าขืนการท่องเที่ยวยังทรุดแบบนี้ และถูกภูอื่นที่ถนนเข้าถึงแย่งลูกค้าไปหมด ต่อไปก็คงต้องทิ้งถิ่นฐาน ย้ายที่ทำมาหากินที่อื่นแล้ว บ้างก็บอกกลัวลูกหาบจะไม่มีงานทำ โดยไม่ทราบความจริงว่า ลูกหาบต่างได้ลงนามใน “MOU” เอาด้วยกับกระเช้าแล้ว ลูกหาบตอนนี้เหลือราว 300 คน แต่ละคนอายุก็มากแล้ว ลูกหลานก็คงไม่มีใครอยากเป็นลูกหาบแล้ว ลูกหาบกำลังจะสูญพันธุ์ครับผม

คิดทำเพื่อชาติจากประสบการณ์เมืองนอกดีๆ บ้างเถอะครับ