ไขความเข้าใจ Social Business

ไขความเข้าใจ Social Business

เป็นการประกอบการที่ตั้งอยู่บนความมุ่งประสงค์เดียว ก็คือ การแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

สัปดาห์ที่แล้ว (19 ก.พ.) สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับ Yunus Center AIT และ บริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ลงนามความร่วมมือในการก่อตั้ง "Thailand Social Business Initiative (TSBI)" เพื่อส่งเสริมความริเริ่มด้าน Social Business หรือ ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ตามแนวคิดของ ศ.มูฮัมมัด ยูนุส สำหรับใช้พัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมด้วยรูปแบบทางธุรกิจ ในลักษณะที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของ Social Business

ความตั้งใจของทีเอสบีไอในช่วงแรก ต้องการที่จะสื่อสารและสร้างความเข้าใจในเรื่อง Social Business ในฉบับที่เป็นต้นตำรับของยูนุสให้ถูกต้องถ่องแท้ เพื่อที่จะได้นำแนวคิดดังกล่าว มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมให้เกิดผลอย่างเต็มที่

เริ่มจากการแก้ความกำกวมที่ผมเชื่อว่ายังมีหลายท่านหลายหน่วยงานเข้าไปใจว่า Social Business กับ Social Enterprise คือเรื่องเดียวกัน ไม่ได้มีความแตกต่าง สามารถใช้เรียกแทนกันได้ ซึ่งอันที่จริงแล้ว มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ถามต่อว่า แล้วทำไมถึงต้องเป็น Social Business แล้วโมเดลหรือตัวแบบอื่นไม่ตอบโจทย์หรือ ต้องเรียนว่าทุกตัวแบบที่มีการนำไปใช้และดำรงคงอยู่ แสดงว่าต้องมีจุดที่สร้างคุณค่าบางอย่างในตัวแบบนั้น และให้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับความมุ่งประสงค์ (Purpose) ของผู้ที่นำไปใช้

Social Business เป็นการประกอบการที่ตั้งอยู่บนความมุ่งประสงค์เดียว (Sole Purpose) คือ การแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ถ้าอิงตามนิยามนี้ กิจการที่เป็นมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคม แต่หากหมดเงินบริจาคหรือขาดผู้อุปถัมภ์เมื่อใด แล้วมูลนิธิอยู่ไม่ได้ แสดงว่า ไม่ใช่ Social Business

กิจการที่เป็นบริษัทหรือธุรกิจปกติ เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่เป็นไปเพื่อความมุ่งหมายที่จะแสวงหากำไรและนำมาแบ่งปันกันระหว่างผู้ถือหุ้น จึงไม่ใช่ Social Business

 ส่วนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ตั้งขึ้นเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลักแบบมูลนิธิ แต่มีหนทางที่เลี้ยงตัวเองได้แบบบริษัท โดยยังคงสามารถแบ่งปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ด้วย เข้าข่ายเป็นลูกผสมระหว่างมูลนิธิกับบริษัท แสดงว่า มิได้มีความมุ่งประสงค์เดียว(Sole Purpose) ในกรณีนี้ จึงไม่ใช่ Social Business (วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่มีนโยบายปันผลกำไร ถึงจะจัดเป็น Social Business)

ด้วยความที่ยูนุสต้องการสร้างโมเดลทางธุรกิจที่โฟกัสในจุดที่เน้นการแก้ไขปัญหาสังคมจริงๆ โดยไม่ให้ผู้ประกอบการวอกแวก หรือไม่เปิดช่องให้มีการชั่งใจเลือกระหว่าง “ประโยชน์ส่วนรวม” กับ “ปันผลส่วนตัว” เพราะมีฐานคิดว่า ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น ความโน้มเอียงจะไปในทางที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อน แล้วประโยชน์ส่วนรวมค่อยมาทีหลัง (กรณีนี้ เกิดขึ้นแล้วกับโมเดล Community Interest Company หรือ CIC ในประเทศอังกฤษ จนถึงกับต้องแก้กฎหมายเพื่อขอขยายเพดานการปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น)

มาถึงตรงนี้ ต้องขยายการอธิบายความ ไม่ใช่ว่า โมเดล Social Enterprise จะด้อยกว่า Social Business เพราะอย่างที่เรียนตอนต้นว่า แต่ละโมเดลมีจุดที่สร้างคุณค่าบางอย่างไม่เหมือนกัน มีความเหมาะสมแตกต่างกันตามจริตของผู้ที่นำไปใช้

ผู้ประกอบการที่มาจากสายธุรกิจ และต้องการขยายบทบาทมาสู่การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสังคม อาจจะถูกจริตกับโมเดล Social Enterprise มากกว่า เพราะยังคงสามารถรับรู้กำไรผ่านปันผลที่พึงได้

ขณะที่ ผู้ประกอบการสังคม สายเอ็นจีโอ ที่ไม่ต้องการถูกครหาว่า มีประโยชน์ส่วนตัวบนการแก้ไขปัญหาชุมชนหรือการช่วยเหลือสังคมส่วนรวม อาจจะถูกจริตกับโมเดล Social Business มากกว่า

หรือกรณีที่ ภาครัฐ เชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมแก้ไขปัญหาสังคมในรูปแบบความร่วมมือทวิภาคี หรือรัฐร่วมเอกชน อะไรก็แล้วแต่ โดยภาคเอกชนต่างออกมาขานรับว่า ยินดีที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณของรัฐ หรือคิดที่จะหาประโยชน์แอบแฝงกับโครงการช่วยเหลือชุมชนใดๆ ทั้งสิ้น ในกรณีนี้ โมเดลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนำไปใช้ คือ Social Business

สำหรับธุรกิจปกติทั่วไป เมื่ออ่านถึงจุดนี้ อาจจะด่วนสรุปความว่า ถ้างั้น โมเดล Social Business คงไม่เหมาะกับตนเอง และนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็ต้องขอเรียนว่า ผิดครับ เพราะถ้าธุรกิจท่านมีการทำ CSR-after-process ในรูปของการบริจาคหรือการกุศลอยู่ทุกปี Social Business จะเป็นทางเลือกใหม่ในการทำ CSR แบบที่ท่านเคยทำในรูป Philanthropy โดยไม่สูญเงินต้น!

ไว้จะได้ขยายความให้ฟัง ในโอกาสต่อไปครับ