เทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลก

ในปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการประชุมประจำปีระดับโลกที่ได้รับความสนใจของประชาคมโลกคือ การประชุม

“World Economic Forum” ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีผู้นำ นักการเมือง และนักธุรกิจชั้นนำนับร้อยคน มาร่วมแสดงความคิดเห็นถึงความเป็นไปทางด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจและความมั่นคง ซึ่งในปีนี้มีประเด็นสำคัญหนึ่งก็คือ การพูดถึงการเติบโตของหุ่นยนต์ที่จะนำเข้ามาถูกใช้ทดแทนแรงงานในระดับกลาง/สูงมากขึ้น เป็นวิวัฒนาการทางด้านอุตสาหกรรมรอบที่สี่ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น สำหรับผู้ประกอบการย่อมจะเป็นโอกาสในการใช้ตัวหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานมากขึ้น หมายถึงโอกาสในการลดผิดพลาดจากการใช้แรงงานคน และลดแรงกดดันในการเจรจาต่อรองกับแรงงานและสหภาพแรงงาน สำหรับคนงานเองก็ย่อมถูกกระทบที่จะต้องมีการปรับตัวรองรับสถานการณ์แรงงานที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในสาขาวิชาชีพต่างๆ

จากรายงานในเรื่องนี้ (จากเว็บ The Guardian.com “Eight Key Themes for the World Economic Forum 2016) สรุปว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ประมาณ 50% ของงานที่มีอยู่ในปัจจุบันจะถูกทดแทนด้วยเครื่องกลอัตโนมัติ ที่คาดการณ์ว่า แรงงาน 7 ล้านคนในประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกมีความเสี่ยงจะถูกทดแทนด้วยเจ้าเครื่องกลอัตโนมัติทั้งหลาย ทั้งนี้กลุ่มที่มีมีความเสี่ยงว่าจะถูกทดแทนมากที่สุด คือแรงงานระดับที่มีความรู้ (white collar) และกลุ่มสาขาวิชาชีพบริหารจัดการ (administration roles) บริการทางการแพทย์ก็จะถูกกระทบด้วยเช่นกัน

และตามมาด้วยภาคพลังงานและภาคการเงิน (สำหรับภาคพลังงานนั้น น่าจะเป็นผลมาจากการตกต่ำของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี 2557 เป็นต้นมา และมีแนวโน้มว่าราคาจะทรงตัวในระดับต่ำไปอีกนาน ทำให้การสำรวจหรือการขุดเจาะแหล่งพลังงานใหม่ชะลอหรือยุติลง ที่พูดกันว่าหมดยุคของน้ำมันและจะเป็นยุคใหม่ของพลังงานทดแทน)

ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่มีโอกาสจะตกงานมากกว่าผู้ชาย เพราะมีการจ้างงานในสาขาวิชาชีพที่ขยายตัวน้อยกว่าผู้ชาย แต่อย่างไรก็ตามผู้หญิงจะมีโอกาสในการขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารมากขึ้น ระดับกลางมากขึ้นเป็นร้อยละ 9 และดำรงตำแหน่งระดับสูงเป็นร้อยละ 12 ในปี 2020

อย่างไรก็ตามก็จะยังมีข่าวดีว่า จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นของความต้องการในวิชาชีพดังต่อไปนี้ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรม architecture (ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นการออกแบบมากกว่าสถาปัตยกรรม) ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บันเทิง และวิชาชีพการบริการข้อมูลข่าวสาร

สำหรับในสาขาวิชาชีพภาคการเงินนั้น ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีได้ถูกนำมาใช้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางมาก จากบทความในเว็บ The Guardian.com “Banking forcing Moment” โดยนาย Antony Jerkins อดีตประธานกรรมการบริหารของธนาคารบาร์เคลย์ ได้ชี้ให้เห็นว่า ภาคการเงินจะเข้าสู่ยุค "Uber Moment” ที่การเติบโตของการใช้ระบบบริการการเงินอัตโนมัติ แอ๊ป (application) และการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางคอมพิวเตอร์ จะทำให้มีความต้องการจ้างงานในภาคการเงินลดลง ที่รวมไปถึงการลดสาขาของบริษัทธุรกิจทางการเงิน

ในส่วนของธนาคารบาร์เคลย์เอง คาดว่าสำนักงานสาขาจะปิดตัวลงมากกว่าร้อยสาขา และลดจำนวนพนักงานลง 66,000 ตำแหน่งงาน ทั้งนี้ในอนาคตจะประชาชนจะสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เพราะทั้งสะดวกทั้งทางผู้ใช้และผู้ให้บริการที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำธุรกรรมที่สถาบันการเงิน มีความสะดวกรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายของทั้งสองฝ่าย

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ที่ทุกคนควรปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เทคโนโลยีได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่นกล้องดิจิทัลที่เข้ามาทดแทนธุรกิจฟิล์ม หรืออุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือที่เข้ามาทดแทนโทรศัพท์บ้าน ซึ่งถ้าท่านไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วท่านก็จะเป็นผู้ถูกเปลี่ยนแปลง

รายงานข้างต้นนี้ได้มาจากการสำรวจผุ้บริหารทางด้านบุคลากรในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก อาฟริกาใต้ ตุรกี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ที่ขนาดเศรษฐกิจรวมของกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 65 ของเศรษฐกิจโลก