ดัชนีคอร์รัปชันไทยดีขึ้น แต่…

ดัชนีคอร์รัปชันไทยดีขึ้น แต่…

เมื่อเดือนธันวาคม 2528 คนไทยจำนวนไม่น้อยแสดงความดีอกดีใจในเรื่องที่องค์การความโปร่งใสนานาชาติ

(Transparency International: TI) ได้ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี 2558 ซึ่งประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 76 จาก 175 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (85 คะแนน) มาเลเซีย (50 คะแนน) อันดับดีขึ้นกว่าปี 2557 ซึ่งอยู่อันดับที่ 85 แต่คะแนนอยู่ที่ 38 คะแนนเท่ากันกับปี 2558

ย้ำอีกครั้งว่า อันดับดีขึ้นจาก 85 เมื่อปี 2557 มาเป็น 76 ในปี 2558 แต่คะแนนยังคงอยู่ที่ 38 คะแนนเท่าเดิม เมื่อตัวเลขออกมาเป็นเช่นนี้หมายความว่าอย่างไร ขอมอบภาระท่านผู้อ่านก็พิจารณาหาคำตอบกันต่อไป

เมื่อมองในภาพรวมแล้ว (ลืมตัวเลขคะแนนที่ได้ไปชั่วคราว) เห็นว่าดัชนีชี้วัดความโปร่งใสหรืออันดับการคอร์รัปชันของบ้านเราดีขึ้นในสายตาของชาวโลก ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะเรายังตามหลังเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศในเอเชีย เมื่อมองแคบเข้ามาคือในกลุ่มประเทศอาเซียนเองเราก็ตามหลังสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่มาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราต้องลงมือทำงานกันอย่างจริงจังทุกภาคส่วน หากต้องการให้ประเทศไทยโปร่งใสขึ้น ติดอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียกันก่อน

ที่นี้ ขอให้ลืมอันดับดีๆ ของดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันที่ได้รับนั้นเสียก่อน แล้วหันมามองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ว่ามีเรื่องไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม และเกี่ยวพันกับเรื่องการคอร์รัปชันหรือฉ้อราษฎร์บังหลวงอยู่มาก ในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ นั่นคือ ความขัดแย้งของประชาชนกับรัฐโดยตรง และความขัดแย้งของประชาชนกับบริษัทซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐ และความขัดแย้งของประชาชนกับบริษัทหรือเอกชน ซึ่งเป็นไปในทางที่ประชาชนถูกกระทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังจะขอยกตัวอย่างมาพิจารณากันดังนี้

กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทยประกาศสร้างรั้วกั้นทางรถไฟเป็นระยะทาง 7 กิโลเมตร เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต ในพื้นที่ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานีและบอกว่าเป็นการสร้างรั้วกั้นอย่างถาวร โดยไม่มีการสร้างทางสัญจรให้ใหม่ หรือเว้นช่องทางไว้ให้สัญจร ซึ่งกระทบต่อการสัญจรไปมาของประชาชนหลายร้อยหลังคาเรือน จำนวนนับพันคน ในหลายชุมชน รวมถึงบ้านของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ซึ่งได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออกให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จนเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ อยู่ในขณะนี้

กรณีเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งบริษัททำเหมืองได้รับสัมปทานจากรัฐ ก็ดำเนินการขุดเจาะแร่โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชนในพื้นที่และในบริเวณใกล้เคียง เช่น กรณีเหมืองทองคำบางแห่งมีการปล่อยสารปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นสารโลหะหนัก เช่น สารหนู แมงกานีส และไซยาไนด์ ส่งผลให้ชาวบ้านเจ็บป่วยจำนวนมากด้วยโรคระบบทางเดินหายใจและโรคผิวหนัง ผลการตรวจสอบของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต จากตัวอย่างเลือดของประชาชนและตัวอย่างน้ำในพื้นที่ทำเหมืองปรากฏว่า มีสารหนูปนเปื้อนในเลือด และพบสารไซยาไนด์ปริมาณสูงในน้ำ อันแสดงให้เห็นถึงการทำเหมืองแร่ที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนไม่พอใจ เกิดการต่อต้านการทำเหมืองและมีความขัดแย้งกันโดยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

ทั้งสองกรณีที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ไม่ถึงส่วนเสี้ยวของกรณีที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในประเทศไทย อันแสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสของการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชนที่ได้รับสัมปทานหรือรับเหมาสร้างงาน เพราะการดำเนินนโยบายและโครงการใดก็ดีของภาครัฐ เช่น กรณีสร้างรถไฟฟ้า หรือกรณีที่ให้สัมปทานทำเหมืองแร่ (และอื่นๆ) ย่อมต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชนในพื้นที่ หากเกิดผลกระทบขึ้น ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ภาครัฐที่เป็นเจ้าของโครงการและผู้ได้รับสัมปทานจะต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ให้ประชาชนผู้เดือดร้อนได้รับการเยียวยาหรือประโยชน์ตอบแทนคุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องสูญเสียไป หากปล่อยปะละเลยก็ไม่จากการคอร์รัปชัน การฉ้อราษฎร์บังหลวงแต่อย่างใด

ดังนั้น แม้ได้รับการจัดอันดับว่ามีคอร์รัปชันน้อยลง แต่อย่ามัวหลงดีใจกับผลที่ว่านั้นโดยลืมมองความจริงที่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าอันดับจะดีมากเพียงใด หากประชาชนยังได้รับผลกระทบจากนโยบาย โครงการสัมปทานที่ภาครัฐให้แก่ธุรกิจเอกชน โดยที่ไม่ได้รับการดูแลแก้ไขดังตัวอย่างที่ยกมาทั้งสองกรณีนั้น และกรณีอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายแล้วไซร้ อันดับดังกล่าวก็ไม่มีความหมายซ้ำยังเป็นเรื่องที่น่าอดสูละอายใจที่ภาพลักษณ์กับความจริงนั้นสวนทางกัน โดยที่เราทำมองไม่เห็นความจริงอันเจ็บปวดของประชาชนร่วมชาติที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านั้น