ต้องตกผลึกร่วมกัน

ต้องตกผลึกร่วมกัน

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

รายละเอียดของหลายๆฝ่ายในขณะนี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันหลายประเด็น โดยเฉพาะการควบคุมการใช้อำนาจของนักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง จนทำให้รู้สึกว่าหากมีการควบคุมกันมากจะทำให้ขัดกับหลักประชาธิปไตย เนื่องจากนักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งถือว่าได้รับอำนาจจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งมีการตรวจสอบและการควบคุมการใช้อำนาจนักการเมืองนี้เองเป็นประเด็นสำคัญทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเอาเสียเลย

ความรู้สึกต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการหยิบยกบางประเด็นมาถกเถียงกัน โดยไม่ได้ดูร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดังที่นักกฎหมายฝ่ายรัฐบาลตั้งข้อสังเกตไว้ถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งอาจมีกติกาบางอย่างที่ฝืนความรู้สึกทั่วไป ซึ่งเคยชินกับกฏกติกาการเมืองแบบเดิมมานับสิบปี ดังนั้นเมื่อมีการปรับเปลี่ยนใหม่จึงทำให้รู้สึกว่าขัดกับหลักประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ว่าการวิพากษ์วิจารณ์จะข้อน่ากังวลหรืออาจเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ก็ควรมีการถกเถียงให้เสร็จสิ้นกระบวนความในแต่ละประเด็น

 ประเด็นที่พูดกันมากคืออำนาจขององค์กรอิสระต่างๆ ในการตรวจสอบฝ่ายการเม่ือง ซึ่งหากเทียบกับรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นถือว่าองค์กรอิสระมีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่หากพิจารณาความเป็นมาขององค์กรอิสระเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองเมื่อ 10 ปีก่อน ก็จะเห็นว่ามีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เดียวกันในการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายการเมือง แต่ที่ผ่านมา องค์กรอิสระบางแห่งมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง จนกระทั่งองค์กรอิสระบางแห่งไม่ต่างจากข้าราชการในกระทรวงทบวงกรม

หากย้อนไปพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต มีความพยายามแทรกแซงองค์กรอิสระ มาโดยตลอดจากฝ่ายการเมื่องเอง และบางประเด็นยังมีข้อถกเถียง ว่าองค์กรอิสระมีอำนาจมากพอหรือไม่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ซึ่งที่ผ่านมา ทำให้องค์กรอิสระไม่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์เดิมที่ตั้งไว้ ดังนั้น การใช้อำนาจองค์กรอิสระเพิ่มขึ้น โดยการกำลังให้เกิดความขัดเจนยิ่งขึ้น ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นการย้ำให้เห็นว่าระบบการเมืองของไทยจำเป็นต้องมีองค์กรเหล่านี้ เพื่อชี้ขัดในประเด็นความขัดแย้งสำคัญ

แต่ประเด็นที่น่าสังเกตุต่อการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ มีการกล่าวถึงบทบาทของภาคประชาชนค่อนข้างน้อยมาก โดยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างอำนาจทางการเมืองในระดับบนเสียมากกว่า ทั้งๆ ที่องค์ประกอบที่สำคัญของการปฏิรูปทางการเมืองให้ประสบความสำเร็จนั้น ภาคประชาขนถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นที่มีของอำนาจอธิปไตยที่ผ่่านมาการเลือกตั้งแล้ว ภาคประชาชนถือว่ามีบทบาทสำคัญในการป้องกันและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง้วย

ดังนั้นหากประชาธิปไตยไทยจะเดินหน้าได้อย่างราบรื่น จำเป็นต้องประกอบกันหลายๆส่วน กล่าวคือภาคประชาชนต้องมีความเข้มแข็งก็จะทำให้มีการตรวจสอบการบริหารปรเทศที่เข้มแข็งบตามไปด้วย และเมื่อมีกฏกติกาที่ดี ก็จะยิ่งเสริมและเกื้อหนุนให้เกิดประชาธิปไตยที่ดีได้ ส่วนนักการเมืองที่กังวลว่าถูกควบคุมจนทำอะไรไม่ได้นั้น ก็อาจจะเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กล่าวคือเมื่อเข้าบริหารประเทศก็จำเป็นต้องดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส ซึ่งจะมาอ้างว่ากระบวนการตรวจสอบเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายไม่ได้อีกต่อไป

เราเห็นว่าทุกฝ่ายจำเป็นต้องมาถกเถียงในประเด็นขัดแย้ง ให้เป็นที่เข้าใจว่าต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง เพราะการเข้าใจร่วมกันและมีเป้าหมายเดียวกัน จะเป็นสิ่งที่ช่วยค้ำจุนให้การปฏิรูปการเมืองสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว