การจัดการ 'นอมินี' ธุรกิจสงวนของคนไทย

การจัดการ 'นอมินี' ธุรกิจสงวนของคนไทย

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นระยะๆ มีข่าวเกรียวกราว

ตามสื่อต่างๆ กรณีคนต่างชาติลักลอบเข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยเฉพาะการทำธุรกิจที่สงวนไว้สำหรับคนไทย ซึ่งมีทั้งการแอบเข้ามาทำธุรกิจโดยตรง หรือทำการว่าจ้างคนไทยให้ออกหน้าหรือถือหุ้นแทน (นอมินี) จนทำให้ธุรกิจที่เป็นของคนไทยได้รับผลกระทบ

ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ของประเทศ ยิ่งมีมาก และมีเสียงเรียกร้องมาโดยตลอด หากปล่อยให้ปัญหาบานปลาย แน่นอนว่าธุรกิจคนไทย คนต้องล้มหายตายจากไปเป็นแน่แท้

ได้ตรวจสอบเรื่องนี้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง อย่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้รับคำตอบว่า มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และทุกวันนี้ ก็ยังดำเนินการอยู่ ไม่ได้ปล่อยปละละเลย

ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าบอกว่า "กรมฯมีการตรวจสอบนอมินีมาโดยตลอด โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมการท่องเที่ยว ในการตรวจสอบนอมินี ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการจับกุมและดำเนินคดีได้เป็นจำนวนมาก

การตรวจสอบนอมินี ไม่ใช่ดูตอนที่เกิดปัญหาแล้ว แต่ดูตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดปัญหา โดยดูตั้งแต่การจดทะเบียนจัดตั้ง หากพบว่าธุรกิจใดมีคนต่างด้าวถือหุ้น แม้ไม่เกิน50%ก็ต้องแสดงเอกสารหลักฐานที่ธนาคารออกให้ว่ามีการร่วมลงทุนจากคนไทยจริง และหลังจดทะเบียนจัดตั้งได้แล้ว ก็จะมีการจัดทำข้อมูลรายชื่อนิติบุคคลที่ต้องสงสัยหรือเชื่อว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับคนต่างด้าวเพื่อกำหนดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดตามการประกอบธุรกิจ

่กรมฯ จับตา มีทั้งหมด 10 ธุรกิจ ได้แก่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม,ท่องเที่ยว,ซื้อ ขาย ให้เช่า อสังหาริมทรัพย์ (นายหน้า),ค้าอสังหาริมทรัพย์,ให้เช่ารถยนต์,สปา,ขายปลีกผลิตภัณฑ์งานฝีมือและของที่ระลึก,ขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต,ขายตรง และบริการที่สนับสนุนการศึกษา

ธุรกิจเหล่านี้ มีความเสี่ยงที่จะมีคนต่างชาติแอบเข้ามาทำ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัว

การตรวจสอบนอมินีในปีที่ผ่านมา ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยเน้น 6 จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว คือกรุงเทพฯ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ และภูเก็ต พบเข้าข่ายเป็นนอมินี13ราย โดยได้ส่งเรื่องให้ดีเอสไอสืบสวนต่อ และได้ส่งให้กรมสรรพากรดำเนินการขยายผลในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว

ในปี 2559 ได้บรรจุจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติมเข้าไปอีก 4 จังหวัด คือ กระบี่ เพชรบุรี (ชะอำ) ตราด และเชียงราย และล่าสุดได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบการประกอบธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต และที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี พบธุรกิจเข้าข่ายเป็นนอมินี 2 ราย กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบเชิงลึก และหากพบเข้าข่าย ก็จะส่งดีเอสไอและกรมสรรพากรจัดการต่อ และมีกำหนดลงพื้นที่ตรวจสอบในจ.เชียงใหม่และเชียงรายในช่วงปลายเดือนม.ค.2559นี้

อันที่จริง ปัญหานอมินีที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากคนไทยที่รู้เห็นเป็นใจ คอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนคนต่างชาติ ุ ยอมเป็นคนถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ทั้งที่จงใจหรืออาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

ถ้าตรวจสอบลึกๆจริงๆจะพบว่าเป็นการร่วมกระทำผิด จงใจเป็นนอมินีให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจสงวนของคนไทยมากกว่า ไม่เฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องเท่านั้น แต่ถ้าไปที่ตลาดระยองจะพบว่ามีการค้าขายสินค้าเกษตรอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งการค้าขายสินค้าเกษตรพื้นเมืองเป็นธุรกิจสงวนสำหรับคนไทย หรือเดินเข้าไปในตลาดกลางเมืองระนองจะพบคนต่างด้าวนั่งขายผัก ผลไม้ เปิดแผงค้าหรือกระทั่งประกอบอาชีพตัดผม บ้างก็บอกว่าเพราะธุรกิจเหล่านี้หรือบางธุรกิจคนไทยไม่ทำ คนต่างด้าวเลยเข้ามาทำ 

เหนือสิ่งอื่นใดในการจัดการปัญหานอมินี นั้น คนไทยก็ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา พบที่ไหน เจอที่ไหน ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การจัดการ นอมินีรัฐทำฝ่ายเดียวไม่ได้

อยู่ที่คนไทย ต้องไม่เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าเฉพาะตน

โดยไม่เคารพและเพียงหาช่องทางละเมิดกฎหมาย