เฟดสะดุดขาตัวเองอาจปรับลดดอกเบี้ย

เฟดสะดุดขาตัวเองอาจปรับลดดอกเบี้ย

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ตกอยู่ในภาวะที่ต้องขบคิด

อย่างหนัก ต่อการที่จะต้องตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยเป็น 0% หรือกระทั่งหันมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ เหมือนๆ กับที่ธนาคารกลางสำคัญอื่นๆ ต่างดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบทั้งธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เพื่อที่จะใช้เป็นคำพูดแก้ต่างต่อรัฐสภาสำหรับแผนงานด้านการคลังของสหรัฐ จากปัญหาความซับซ้อนด้านเทคนิคทางการเงิน เมื่อสัญญาณของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 3 เดือนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐบ่งชี้ว่ามีอัตราติดลบ 0.5% ในไตรมาสที่สองปี 2016 นี้ ซึ่งเป็นคนละทิศทางกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่มีอัตราบวกที่ 0.5% หลังจากที่เพิ่งมีการปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดมีข้อสงสัยว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนอกจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับเม็ดเงินของธนาคารพาณิชย์ที่นำมาฝากไว้กับเฟดแล้ว หนี้เงินกู้โดยการออกเป็นพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐยังต้องจ่ายให้กับผู้ถือพันธบัตรปีๆ หนึ่งกระทรวงการคลังสหรัฐจ้องจ่ายภาระดอกเบี้ยถึงปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้เกิดเป็นภาระทางการคลังด้วยนั้น อาจไม่สอดคล้องกับตลาดเงินในสหรัฐและกับอีกหลายประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยติดลบในขณะนี้

โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่ออกมากู้เงินจากตลาดนั้น เป็นการเข้ามาถือครองของเฟดจำนวนถึง 2.46 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่รัฐบาลมียอดหนี้รวมล่าสุดสูงถึง 19.6 ล้านล้านดอลลาร์ และภาระหนี้ยังคงเพิ่มขึ้นจากการประมาณการของสำนักงบประมาณที่คาดว่ารัฐบาลจะยังคงขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และทำให้ภาระหนี้สินพอกพูนมากขึ้นอีกถึง 22.6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2020 และจะปรับเพิ่มขึ้นอีกเป็น 29.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2026 นอกจากนี้การที่เฟดบอกเป็นนัยๆ ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 3-4 ครั้งในปีนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อภาระทางการคลังของสหรัฐในที่สุด ซึ่งสวนทางกับธนาคารกลางในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอีซีบีที่ใช้นโยบายดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ 0.3% รวมถึงบีโอเจที่กำหนดดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ 0.1% ท่ามกลางอีกหลายธนาคารกลาง ทั้งธนาคารกลางสวิสที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ 0.75% และในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียที่มีสถานการณ์เศรษฐกิจเข้มแข็งโดยธนาคารกลางสวีเดนก็ประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบถึง 1.1% ธนาคารกลางเดนมาร์กที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ 0.75%

ทั้งนี้การเขย่งตัวของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ที่มีส่วนต่างเพิ่มมากขึ้น ได้ทำให้กระแสเงินทุนทั่วโลกเกิดการเคลื่อนย้ายที่ปั่นป่วน โดยเฉพาะเกิดการไหลออกของเงินทุนจากประเทศในตลาดเกิดใหม่ในปี 2015 มีเม็ดเงินไหลออกถึง 7.35 แสนล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้มากกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์หรือ 80% เป็นการไหลออกจากประเทศจีน และจากรายงานล่าสุดเมื่อวันศุกร์นั้นมีเม็ดเงินทุนไหลออกจากจีนในเดือนม.ค. มากถึง 1.18 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ฐานะเงินสำรองของจีนลดฮวบลงเหลือ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงเงินหยวนที่อ่อนค่าลงนับจากต้นปีนี้ 5.6% เมื่อเทียบเงินดอลลาร์แข็งค่า และตลาดหุ้นที่ตกต่ำจากการร่วงลงของดัชนีหุ้นเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิตอีก 20% เนื่องจากจีนตกเป็นเป้าในการโจมตีค่าเงินหยวนจากบรรดากองทุนเก็งกำไรจากสหรัฐที่นำโดยพ่อมดการเงินอย่างนายจอร์จ โซรอส รวมทั้งอีกนับสิบกองทุนเช่น Quantum Fund ของนายจอร์จ โซรอส, Renaissance Medallion Fund, Paulson & Co, Bridgewater Fund จากรายงานของ The Wall Street Journal เมื่อสัปดาห์ก่อน ว่ากองทุนเฮดจ์ฟันด์ของสหรัฐกำลังตั้งป้อมเตรียมถล่มค่าเงินหยวน

ไม่แต่เพียงค่าเงินหยวนที่ตกเป็นเป้าโจมตีอย่างหนัก แต่การทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นนั้น กลับส่งผลต่อการตกต่ำของราคาน้ำมัน รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างรุนแรง จนเกิดการเทขายสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกรวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เนื่องจากกำลังซื้อของโลกที่หดตัวลง ทำให้เกิดความกลัวว่า จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่แพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจีนยังไม่สามารถคลี่คลาย จากภาวะวิกฤติในตลาดการเงินได้แล้ว จีนอาจจะต้องเผชิญกับเศรษฐกิจที่ดิ่งลงอย่างรวดเร็วกลายเป็น Hard Landing อย่างที่ทั่วโลกกำลังกลัวกันแล้ว ในที่สุดปัญหาความเสี่ยงต่างๆ ก็จะวกกลับมาทำให้เศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะฟื้นตัว อาจจะเกิดภาวะถดถอยตามมาก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วเฟดกำลังสะดุดขาตัวเองอาจทำให้ต้องปรับลดดอกเบี้ยหรืออาจยอมหันมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบตามอย่างธนาคารกลางอื่นๆ หรือไม่ เนื่องจากปัญหาบริษัทผลิตน้ำมันที่อยู่ในภาวะผิดนัดชำระหนี้มากถึง 20-30 บริษัท ขณะที่มากกว่า 80 บริษัทอยู่ในภาวะที่มีฐานะเงินสดในมือติดลบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะของธนาคารชั้นนำในสหรัฐที่อาจต้องตัดเป็นหนี้สูญ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องจับตาไม่กะพริบ