ทิ้งห่างกัน 0.2% เรียกว่า ‘ชัยชนะ’ ได้หรือไม่?

ทิ้งห่างกัน 0.2% เรียกว่า ‘ชัยชนะ’ ได้หรือไม่?

การหยั่งเสียงขั้นต้นการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐที่รัฐไอโอวา

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาทำเอาผู้คนใจหายใจคว่ำกันไปทั่ว เพราะผลที่ออกมาผิดจากที่คาดหมายกันหลายด้าน

ถึงขั้นที่ทำให้สรุปได้ตั้งแต่ตอนนี้เลยว่า ทุกก้าวย่างจากนี้ไปสามารถเกิด เซอร์ไพรส์ ทางการเมืองได้อย่างมีสีสันเข้มข้น ละสายตาไม่ได้แม้แต่ก้าวเดียว

ข้อสังเกตสำคัญจากการเกาะติดการหยั่งเสียง Caucus ของไอโอวาครั้งนี้มีหลายประเด็น

1. อย่าเชื่อโพลล์ทั้งหลายทั้งปวงอีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาคำทำนายทายทัก และการพยากรณ์ของสำนักโพลล์ทั้งหลาย ผิดจากของจริงไปหลายขุมอย่างมีนัยสำคัญ... เริ่มด้วยทุกโพลล์ที่ยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่า มหาเศรษฐีโดนัลด์ ทรัมป์จะชนะด้วยคะแนนนำอย่างมาก... แต่ผลออกมากลับอยู่อันดับ 2 ถูกคู่แข่งเท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกทางรัฐเท็กซัสนำชัยไปอย่างชัดเจนด้วยคะแนน 28-24%

2. อย่าประมาทคนเบอร์สามเป็นอันขาด กรณีพรรครีพับลิกันชัดเจนว่ามาโคร โรบิโอ วุฒิสมาชิกจากฟลอริดาที่โพลล์ก่อนหน้านี้ให้ความนิยมถูกทิ้งห่างจนไม่มีสิทธิลุ้น แต่พอชาวไอโอวาลงคะแนนจริง เขากลับมาเป็นเบอร์สามด้วยคะแนน 23% ซึ่งห่างจากโดนัลด์ ทรัมป์ตัวเต็งเบอร์หนึ่งเดิมเพียง 1% เท่านั้น แปลว่าขณะนี้พรรคนี้มีคนที่มีโอกาสเท่าเทียมกันถึง 3 คน มิใช่ให้ทรัมป์เป็นม้าตัวเต็งตัวเดียวอย่างที่ผู้คนเคยเชื่อมาตลอดหลายเดือน

3. ผู้เฒ่าวัย 74 อย่างเบอร์นี่ แซนเดอร์สซึ่งเดิมคิดว่าเป็น คนแก่ขี้บ่นเฉย ๆ มีสิทธิที่จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ หากเอาชนะฮิลลารี คลินตันได้.. และโอกาสที่จะเกิดอย่างนั้นมีสูงกว่าที่ใครต่อใครเคยกล้าคาดคิดมาก่อน

4. แม้ฮิลลารี คลินตันจะประกาศ ชัยชนะแต่เบอร์นี่ก็ยังไม่ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ เพราะคะแนนที่ห่างกัน “เพียงเส้นยาแดงผ่าแปด” 49.8-49.6% หรือเพียง 0.2% นั้นยังไง ๆ ก็ต้องถือว่าเป็น “คะแนนเท่ากัน” มิอาจจะฟันธงว่าใครชนะได้

5. ที่ฮิลลารี ชนะเบอร์นี่ครั้งนี้ต้องเรียกว่าเป็น ชัยชนะจากการโยนเหรียญมากกว่า มิได้เป็นเพราะประชาชนชาวไอโอวา มีความเลื่อมใสศรัทธาต้องการให้เป็น ประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไปมากกว่าเบอร์นี่ด้วยซ้ำ เพราะใน 6 จาก 99 เขตนั้นคะแนนเท่ากันทั้งสองคน คณะกรรมการหยั่งเสียงต้องใช้วิธีโยนเหรียญ (coin-tossing) หัวก้อยเพื่อตัดสิน... เป็นเรื่องดวงมากกว่าความเก่งกาจสามารถ

6. คนมะกันที่เป็นรีพับลิกันเอียงไปทาง ขวาจัดอย่างเท็ด ครูซ มากกว่า นักธุรกิจปากร้าย อย่างทรัมป์ ขณะที่คนเดโมแครตทำท่าจะต้องการหาทางให้กับบ้านเมืองไปทางสุดขั้วอีกด้านหนึ่งคือ “ซ้ายจัด” อย่างเบอร์นี่ อะไรที่อยู่กลาง ๆ หรือเป็น “กระแสหลัก” ถือว่าเป็นเรื่องล้าสมัยและไร้ประสิทธิภาพไปแล้ว

7. คนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวจะเป็นผู้ตัดสินผลการเลือกตั้งมากกว่าเกือบทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะดูจากผลการหยั่งเสียงไอโอวาครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าที่วุฒิสมาชิกเบอร์นี่ สามารถตีตื้นมายืนเทียบเคียงกับฮิลลารีได้อย่างสง่างามนั้น เป็นเพราะแรงหนุนอย่างแรงจากคนรุ่นใหม่ ที่ชื่นชอบในนโยบายต่อต้านทุนนิยมวอลสตรีท, การให้เรียนฟรีทุกระดับและรักษาพยาบาลฟรีสำหรับคนทุกภาคส่วน อีกทั้งยังประกาศจะเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน (คนรวย 1% มีความมั่งคั่งมากกว่าคนที่เหลือ 99%)

จึงไม่ต้องย้ำว่าทำไมการเลือกตั้งขั้นต้นหรือ primary ที่รัฐ New Hampshire วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์นี้จะสร้างความตื่นเต้นไปทั่ว เพราะไม่มีใครเชื่อใครอีกต่อไป... จนกว่าประชาชนของรัฐนี้จะไปหย่อนบัตร และทุกคะแนนจะเป็นตัวกำหนดชะตากรรม ของเก้าอี้ทำเนียบขาวอย่างตื่นตาตื่นใจแน่นอน

ติดตามทุกรายละเอียดได้ในสื่อเครือเนชั่น... ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ ออนไลน์ social media แต่แน่นอน Nation TV ช่อง 22 กับ NOW26!