อาร์เธอร์ ราชันแห่งนิรันดร์กาล

อาร์เธอร์ ราชันแห่งนิรันดร์กาล

อาร์เธอร์ ราชันแห่งนิรันดร์กาล หนังสือแปลคลาสสิกของมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม จากเรื่อง The Once and Future King

ของ ที.เอช.ไวท์ (1906-1961) เป็นนวนิยายสมัยใหม่ (เขียนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ที่ตีความตามยุคสมัยและความคิดของผู้เขียนอย่างค่อนข้างซับซ้อน เป็นนวนิยายสำหรับผู้ใหญ่มากกว่าสำหรับเยาวชนที่เคยแปลเป็นไทยกันมาก่อนหน้านี้

เรื่องกษัตริย์อาร์เธอร์และอัศวินโต๊ะกลม เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกนิยมกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องผจญภัยและเรื่องรักโศกของกษัตริย์และขุนนางที่สนุกสนานเร้าใจน่าติดตามเท่านั้น หากยังเป็นเรื่องเชิงคติธรรม เช่น เรื่องความยุติธรรม ความถูกต้องดีงาม ที่มนุษย์โหยหาอยู่ลึกๆ ด้วย คติธรรมแบบอัศวินของกษัตริย์อาร์เธอร์ (ซึ่งเป็นตำนานมากกว่าเรื่องจริง) ที่ว่าอัศวินควรจะมีคุณธรรม มีประมวลจริยธรรม เช่น เป็นคนมีฝีมือในการรบแบบตัวต่อตัว กล้าหาญ และเป็นคนดีที่เชื่อในพระเจ้าและความถูกต้องดีงาม ช่วยคนอ่อนแอที่ถูกคนมีอำนาจมากกว่ากดขี่ข่มเหง เป็นแนวคิดของปัญญาชนทั้งในยุโรปในยุคกลางเมื่อราวพันปีที่แล้ว และในจีนและญี่ปุ่นยุคที่ใกล้ๆ กัน จีนเรียกคนแบบอัศวินนี้ว่า เซียนเคอะ ญี่ปุ่นเรียกว่า ซามูไร

แนวคิดใหญ่ๆ คือ อาร์เธอร์เป็นรัฐบุรุษที่เกิดมาเพื่อที่จะแก้ปัญหาความระส่ำระสายในอังกฤษยุคที่อยู่กันแบบนครรัฐหลายแห่ง ทำสงครามกันบ่อย และเจ้าเมืองมักใช้อำนาจบาตรใหญ่ กดขี่ข่มเหงประชาชน เมอร์ลิน ผู้คงแก่เรียนและเป็นพ่อมดผู้มีอิทธิฤทธิ์เป็นครูผู้ชี้แนะให้แก่อาร์เธอร์ ผู้ซึ่งถูกพ่อที่เป็นกษัตริย์ทรราช ทอดทิ้งให้เติบโตแบบสามัญชน อาเธอร์เติบโตมาใกล้ชิดกับธรรมชาติ ชีวิตในชนบท ฉลาดและมีนิสัยดี แตกต่างไปจากเจ้าเมืองส่วนใหญ่ซึ่งมักเป็นทรราช

หลังจากได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ อาร์เธอร์ได้เริ่มสร้างนครรัฐใหม่และแสวงหาทหารและอัศวินผู้มีฝีมือและมีอุดมคติแบบเดียวกันมาร่วมงาน เพื่อสร้างอาณาจักรแนวปฏิรูปที่เน้นเรื่องกฎหมาย เหตุผล และความเป็นธรรม มากกว่าการใช้อำนาจบาตรใหญ่แบบเจ้าขุนมูลนาย อาร์เธอร์ได้คิดเรื่องโต๊ะกลมขนาดใหญ่ที่อัศวินมานั่งประชุมพร้อมกันได้ 150 คน แบบเสมอภาคกัน (ไม่มีใครนั่งหัวโต๊ะ)

ผู้เขียนเรื่องนี้ ที.เอช.ไวท์ เรียนและเป็นอาจารย์สอนวรรณกรรมที่เติบโตมาในยุคสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง เขาสนใจทั้งวรรณกรรมโรแมนติก ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา มีทัศนคติเกลียดชังสงครามทุกสงคราม (เขาปฏิเสธการเป็นทหารด้วยการอ้างสิทธิ์คัดค้านการไปรบด้วยจิตสำนึก) เขาหลบสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปเช่าบ้านพักเพื่อเขียนหนังสือเรื่องนี้ในไอร์แลนด์

ผู้เขียนมองอาร์เธอร์และแนวคิดอัศวินโต๊ะฝ่ายธรรมในแง่อุดมคติแบบโรแมนติกว่าเป็นฝ่ายธรรม แต่เขาก็มองปัญหาอย่างวิพากษ์ว่าสังคมในอังกฤษยุคอาร์เธอร์เมื่อหลายร้อยปีที่แล้วยังคงมีความโหดเหี้ยมและปัญหาต่างๆ อยู่มากและในตอนนั้นปลายของชีวิต อาร์เธอร์และอัศวินโต๊ะกลมทำตามความใฝ่ฝันของพวกเขาได้เพียงระดับหนึ่งและระยะหนึ่งเท่านั้น ยังคงมีสงครามและความรุนแรงที่ควบคุมไม่ได้ทั่วทั้งเกาะอังกฤษอยู่นั่นเอง ผู้เขียนวิจารณ์ในเชิงระบบสังคมว่าเป็นข้อจำกัดทางวิวัฒนาการของมนุษย์ทั้งมวล มากกว่าจะมองว่าเป็นความผิดพลาดของตัวบุคคล แม้ว่าตัวบุคคลก็มีปัญหาแบบปุถุชนผู้มีทั้งแง่ดีและแง่ร้ายอยู่ด้วยเช่นกัน

ผู้เขียนใช้เวลาเขียนนวนิยายเล่มนี้หลายปี มีทั้งหมด 5 ภาค (ฉบับแปลเป็นไทยพิมพ์เป็นหนังสือ 2 เล่ม หนารวมกันหนึ่งพันกว่าหน้า) ภาค 1-2 เป็นเรื่องในวัยเด็กของอาร์เธอร์ซึ่งถูกเลี้ยงดูโดยอัศวินในชนบท ทั้งเรื่องการเตรียมตัวเป็นอัศวินและเรื่องธรรมชาติวิทยาของสัตว์ประเภทต่างๆ ผู้เขียนเขียนเรื่องวัยเด็กของอาร์เธอร์และการเรียนรู้ธรรมชาติของสัตว์ต่างๆ อย่างละเอียดมาก ค่อนข้างไม่สนุก และผู้อ่านจะยังดูไม่ออกว่าเกี่ยวกับอาร์เธอร์และอัศวินโต๊ะกลมอย่างไร จนกระทั่งภาค 3, 4 และ 5 จึงเข้าเรื่องอาร์เธอร์ ราชินีเกววีเนียร และลานเซอร์ลอต อัศวินที่ฝีมือดีที่สุดและอาร์เธอร์รักมากที่สุด และอัศวินโต๊ะกลมคนอื่นๆ โดยรวมแล้วผู้เขียนผูกเรื่องได้อย่างซับซ้อน ภาษาลื่นไหล สนุกและได้อรรถรสมาก ทั้งเรื่องพัฒนาการของตัวละคร ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครสำคัญ 3 คน ความรักแบบ 3 เส้า

ผู้เขียนเขียนเรื่องนี้ทั้งแบบนวนิยายและแบบสมจริงผสมกัน เช่น เอาแนวคิดและผู้คนซึ่งอยู่ยุคหลังกษัตริย์อาร์เธอร์ใส่เข้าไปในความคิดและคำพูดของตัวละครด้วย โดยเฉพาะความคิดร่วมสมัย ที่เหมือนกับจะเล่าและวิจารณ์เหตุการณ์ในยุคสมัยของเขาไปด้วย บางครั้งก็ดูแปลกดี แบบเรื่องเหนือจริงหรือจินตนาการแบบแฟนตาซี แต่บางครั้งก็ดูขัดๆ อยู่บ้าง ในภาคสุดท้ายที่อาร์เธอร์เริ่มแก่ชรา และเหนื่อยหน่ายกับเรื่องความวุ่นวายของโลก รวมทั้งชีวิตของตัวเขาเองและคนใกล้ชิด เขาได้กลับไปเรียนรู้จากเมอร์ลินและพวกสัตว์ต่างๆ ใหม่ เหมือนจะเป็นการอภิปรายความคิดของผู้เขียนเกี่ยวกับสาเหตุของสงครามและแนวทางที่จะแก้ไข

การที่ผู้เขียนสนใจเรื่องวิวัฒนาการของสัตว์ต่างๆ รวมทั้งมนุษย์ ทำให้เขามีมุมมองเรื่องพัฒนาการทางสังคมที่กว้าง แต่ความรู้เรื่องสังคมที่เจาะจงบางเรื่อง เช่น มาร์กซิสม์ สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ เขามองแบบง่ายๆ เหมารวมว่าเป็นเรื่องอุดมการณ์สุดโต่ง นำไปสู่สงครามความรุนแรง ไม่ต่างไปจากฟาสซิสม์หรือชาตินิยม ข้อนี้เป็นความรู้ที่จำกัดของผู้เขียนผู้เป็นปัญญาชนชนเสรีนิยมชั้นกลางของอังกฤษในยุคสงครามเย็น (วิทยากร เชียงกูล ทำไมจึงควรอ่านมาร์กซ์ สนพ.แสงดาว 2558) ส่วนความรู้เชิงวิวัฒนาการและความเห็นของไวท์ว่ามนุษย์ทำสงครามกันเพราะมีวิวัฒนาการธรรมชาติที่ต่างไปจากสัตว์อื่น เช่น มด ห่านป่า นั้นเป็นองค์ความรู้เท่าที่เขาหาได้เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ซึ่งต่างจากความรู้ที่นักวิชาการรุ่นหลังค้นพบอยู่มาก (วิทยากร เชียงกูล ปฏิรูปมนุษย์และสังคมอย่างลึกซึ้ง สนพ.แสงดาว 2557)

ในฐานะนวนิยาย นี่เป็นนวนิยายที่ดีน่าอ่านมากเล่มหนึ่งในยุคนี้ อ.นพมาส แววหงส์ ผู้แปล แปลได้ดี อ่านไม่รู้สึกติดขัดJ.K. Rowling ผู้เขียน แฮรี่ พอตเตอร์ ยอมรับว่าหนังสือของไวท์มีอิทธิพลต่องานของเธอ หนังสือเล่มนี้ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม (