Harvards Thai Dentist

Harvards Thai Dentist

เรื่องราวของทันตแพทย์ไทย หนีทุน เรียกอารมณ์ร่วมที่ร้อนแรง จากผู้คนในสังคมมาเกือบสองสัปดาห์แล้ว และยังคงครุกรุ่นอยู่จนถึงขณะนี้

แม้มหาวิทยาลัยมหิดล จะแถลงว่าได้ทำสิ่งใดไปบ้าง และกำลังจะดำเนินการต่อไปอย่างไรกับทันตแพทย์หญิงไทย แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดคนนี้ แต่ทันตแพทย์หนุ่มผู้ค้ำประกันก็บอกว่า มหาวิทยาลัยมิได้ดำเนินการอย่างรัดกุมและเพียงพอในการติดตามหนี้ จนกระทั่งผู้ค้ำประกันต้องเดือดร้อนกันทั่วหน้า

ประเด็นดังกล่าวคงต้องติดตามกันต่อไป แต่วันนี้ผมอยากกลับไปสู่อีกประเด็นหนึ่ง ที่คนในสังคมยังค้างคาใจกันมากว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งคนจำนวนมากทั่วโลกบอกว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ ดีที่สุดในโลก นั้น ทำไมจึง (ยัง) ไม่ทำอะไรกับผู้หญิงคนนี้

ข่าวที่ออกมา บอกว่าฮาร์วาร์ดแจ้งกลับมาว่าเป็น เรื่องส่วนตัว (a private matter) ซึ่งผมก็พยายามหาข้อมูลว่าฮาร์วาร์ด ได้แจ้งเช่นนั้นจริงหรือไม่และเขียนไว้ว่าอย่างไร ก็พบว่าเป็นความจริง เพราะในจดหมายลงวันที่ 23 มีนาคม 2015 จากนาย Ara Gershengorn ทนายความของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาได้ตอบมาสั้นๆ เพียง 5 บรรทัดว่า เรื่องราวทั้งหมดนี้ เป็นนิติกรรมระหว่างกัน ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลและนิติบุคคล ในประเทศไทยทั้งหมด และฮาร์วาร์ดก็มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนิติกรรมต่างๆดังกล่าว แต่อย่างใดเลย ดังนั้นจึงถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และฮาร์วาร์ด ก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือใดๆ ได้ (As this is a private matter, we are not able to provide any assistance)

ที่เขาตอบมานี้ ฟังด้วยเหตุผล ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะในทางกฎหมาย เขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย เพียงแต่ประเด็นที่ทำให้คนไทยรู้สึกคับแค้นใจ ก็คือฮาร์วาร์ดจะวางเฉยในทางจริยธรรมหรือ จะปล่อยให้คนที่มีประวัติเช่นนี้ สง่างามต่อไป ในมหาวิทยาลัย ที่คนทั่วโลกต่างก็ใฝ่ฝันอยากจะเข้าไปเรียนที่นั่น กระนั้นหรือ

ในวงการธรรมาภิบาล เราพูดกันเสมอว่า กฎหมายคือข้อปฏิบัติขั้นต่ำที่สุด ที่เราทุกคนต้องปฏิบัติ แต่สิ่งที่เหนือกว่ากฎหมาย คือจริยธรรมของวิชาชีพ ซึ่งแต่ละวิชาชีพ ก็มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ เช่นวิชาชีพแพทย์ สถาปนิก วิศวกรรม นักบัญชี เป็นต้น ซึ่งเราเรียกกันว่า Code of Ethics บ้าง Code of Conduct บ้าง ดังนั้น ทันทีที่เหตุการณ์นี้ ปรากฏเป็นข่าว ผมจึงเข้าค้นหาข้อมูลในส่วนนี้ว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มี Code of Conduct ของ อาจารย์ ระบุไว้อย่างไรบ้าง

ผมอาจจะค้นไม่เก่งก็เป็นไปได้ แต่หาอยู่นานมากพอสมควร ก็ไม่พบข้อมูลที่พอจะกล่าวได้ว่า พฤติกรรมของทันตแพทย์คนนี้ ผิด Code of Conduct ของความเป็นอาจารย์ตรงไหน ก็เลยไปค้นแหล่งอื่นบ้าง เช่น Stanford, MIT, Cornell, Purdue ฯลฯ ก็พบว่า Code of Conduct ของความเป็นอาจารย์ ที่ระบุไว้นั้น ก็จะคล้ายๆ กัน คือเน้นเรื่องการละเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์กับลูกศิษย์ การไม่ลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง การตรวจข้อสอบอย่างเป็นธรรม ฯลฯ อะไรประมาณนั้น ส่วนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ที่ไม่เกี่ยวกับการสอน หรือการวิจัย ไม่มีอยู่ในนั้น

เมื่ออ่านแล้ว ผมก็พอจะจับประเด็นได้ว่า เขาเขียนแนวปฏิบัติไว้ ให้อยู่ในกรอบของการเป็น อาจารย์ ที่ดี โดยเน้นในเรื่องการสอน การตรวจข้อสอบ ความสัมพันธ์ทางเพศกับลูกศิษย์ และงานทางวิชาการ เป็นหลัก แต่ที่ผมเห็นได้ชัดเจนมากอีกเรื่องหนึ่ง คือทุกมหาวิทยาลัยต่างก็มีนโยบายและบทลงโทษ เรื่อง พฤติกรรมและการลวนลามทางเพศ กับนักศึกษาและเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ไว้อย่างชัดเจนมาก เช่นฮาร์วาร์ด ระบุห้ามอาจารย์มีเพศสัมพันธ์กับลูกศิษย์ระดับปริญญาตรี แต่ไม่ห้ามระดับสูงกว่าปริญญาตรี (ซึ่งคงถือว่า มีความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอแล้ว) ยกเว้นว่านักศึกษาคนนั้น กำลังเรียนอยู่ในชั้นเรียนที่ตนเองเป็นผู้สอน เป็นต้น

ผมก็เลยคิดต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นลองไปดู นโยบายว่าด้วยการจ้างงาน (Employment Policy) เผื่อจะพบว่าพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องอย่างนี้ จะมีระบุไว้ในนั้นหรือไม่ และอาจเป็นเหตุให้มีการลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้หรือไม่ แต่เท่าที่เปิดดู ไม่ว่าจะเป็นฮาร์วาร์ด หรือ มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็มักจะเขียนไว้คล้ายกัน คือเน้นในเรื่องที่สังคมอเมริกันให้ความสำคัญมาก คือ นโยบายที่เปิดโอกาสให้มีการจ้างงานอย่างเท่าเทียมกัน (Equal Opportunity Employment) จึงมักมีข้อความที่เน้นไปในเรื่องเกี่ยวกับ สีผิว หรือ เชื้อชาติ ฯลฯ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ก็ยากที่จะค้นหาได้ครบถ้วน

ผมก็เลยเริ่ม เข้าใจ ว่า เมื่อ Code of Conduct ของความเป็นอาจารย์ รวมถึง Employment Policy เป็นเช่นนี้ จึงทำให้ฮาร์วาร์ด ตอบมาเช่นนั้น แต่ที่ผมบอกว่า เข้าใจ ก็ยังแตกต่างจากคำว่า ค้างคาใจ เพราะตรงนั้นก็ยังไม่หลุดไปจากความคิดของผมอยู่ดี คือค้างคาใจเหมือนผู้คนจำนวนมาก ฮาร์วาร์ดจะปล่อยให้คนผิดลอยนวล และมีหน้ามีตาในสังคม เฉยๆ อย่างนี้ละหรือ (โดยมิพักต้องกล่าวถึงว่า นี่เป็นสังคมของนักวิชาการระดับโลกเชียวนะ)

ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้น ที่ร้อนระอุในเรื่องนี้ แม้กระทั่งทันตแพทย์อเมริกันที่เกษียณอายุไปแล้ว ชื่อว่า Dr. David Burton แห่งรัฐ Oregon ก็ยังเขียนลงในเฟซบุ๊คของฮาร์วาร์ดว่า นานกว่า 30 ปีมาแล้ว ที่ผมเป็นทันตแพทย์และสอนที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน ผมขอเรียกร้องให้ Board of Dentistry แห่งรัฐแมสซาชูเซ็ท โปรดพิจารณาเรื่องนี้ ผมไม่ประสงค์ให้คนๆ นี้ อยู่ร่วมวิชาชีพเดียวกับพวกผม...เพราะคุณธรรมและความรับผิดชอบ คือสิ่งที่สำคัญ ผู้หญิงคนนี้จะต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง ต่อรัฐบาลไทย และคนไทย

ผมไม่ทราบว่าวันนี้ ผู้หญิงคนนี้ ยังมีความสุขในชีวิตมากน้อยเพียงใด แต่การกระทำของเธอนั้น ผมมองว่าผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม ผิดกฎหมาย ก็คือผิดสัญญา ที่ได้ลงนามไว้ ผิดจริยธรรม ก็คือปล่อยให้ภาระต้องตกเป็นของอาจารย์และเพื่อนผู้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นผู้ที่มีบุญคุณต่อเธอ พวกเขาต้องลำบากและทุกข์ยากจากการกระทำของเธอ และก็ยังผิดต่อคนไทยทั้งชาติ ที่จ่ายภาษีให้เธอไปเรียนหนังสืออีกด้วย

สุขมานานนับสิบๆ ปีแล้ว วันนี้นอกจากคนไทยทั่วโลกและคนไทยที่ฮาร์วาร์ด จะกระหน่ำเธอแบบไม่ยั้งแล้ว เพื่อนร่วมวิชาชีพชาวอเมริกันบางคน ก็ยังประกาศว่าวิชาชีพทันตกรรม ไม่ต้องการคนแบบนี้

ใครจะรู้บ้างว่า ในสภาวะกดดันเช่นนี้ เธอจะมีความทุกข์มากเพียงใดหรือไม่ เธอวางตัวกับเพื่อนอาจารย์ นักศึกษา และคนไข้อย่างไร และบางช่วงเวลาของชีวิต สมาธิ ของเธออาจว่อกแว่กออกไปไกล ได้บ้างหรือไม่ ถ้าบังเอิญสมาธิของเธอ หลุด ไปบ้าง ในช่วงที่กำลังทำฟันให้คนไข้อยู่ คนไข้ก็คงต้องสังเกตให้ดี และรีบเรียกสมาธิของเธอกลับคืนมาโดยเร็ว ก็แล้วกัน

เพื่อประโยชน์ของตัวคนไข้เอง!