การเขียน“แผนนวัตกรรม”สำหรับธุรกิจขนาดย่อม

การเขียน“แผนนวัตกรรม”สำหรับธุรกิจขนาดย่อม

ในยุคที่เรา “เห่อ” เรื่องของ สตาร์ทอัพ เช่นในทุกวันนี้ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องพัฒนาให้ สตาร์ทอัพไทย รู้จักกับการเขียน “แผนนวัตกรรม”

ในยุคที่เรา “เห่อ” เรื่องของการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เรียกกันว่า “เอสเอ็มอี” เราให้ความสนใจกับเรื่องของ การทำ “แผนธุรกิจ” เป็นอย่างมาก และได้มีการสนับสนุนให้เกิดการอบรมในเรื่องของการเขียน “แผนธุรกิจ” ให้กับ เอสเอ็มอี อย่างเอิกเกริก เพื่อให้เอสเอ็มอีได้ใช้ “แผนธุรกิจ” บ่งบอกทิศทางและความเป็นไปได้ของการแนวคิดการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการ

และในหลายๆ กรณี “แผนธุรกิจ” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการพัฒนาธุรกิจให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้

แต่ในยุคที่เรา “เห่อ” เรื่องของ สตาร์ทอัพ เช่นในทุกวันนี้ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องพัฒนาให้ สตาร์ทอัพไทย รู้จักกับการเขียน “แผนนวัตกรรม” ???

“แผนธุรกิจ” เป็นเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่จะแสดงให้ “ผู้อ่านแผน” ได้รับทราบว่า “ผู้เขียนแผน” กำหนดทิศทาง และมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้

ดังนั้น เนื้อหาใน “แผนธุรกิจ” จึงต้องประกอบไปด้วยคำอธิบายที่ว่า ธุรกิจที่ต้องการจะทำมีลักษณะเป็นเช่นไร ในการทำเนินการ จะต้องมีขั้นตอนและใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง จะทำการตลาดอย่างไร จะทำการผลิตอย่างไร จะต้องใช้บุคคลากรประเภทใด และจำนวนเท่าใดบ้าง

รวมไปถึง การนำเสนอว่า การดำเนินการตามแผน จะต้องใช้เงินลงทุนเท่าใด จะหาเงินเหล่านี้มาจากแหล่งใด และคาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจนี้จำนวนเท่าใด

การทำนวัตกรรม อาจถือได้ว่าเป็นกิจกรรมย่อยอย่างหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น สำหรับ สตาร์ทอัพ ซึ่งถือได้ว่าเป็น ธุรกิจตั้งใหม่ที่เป็นธุรกิจนวัตกรรม การเขียนแผนนวัตกรรม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายของนวัตกรรมที่ต้องการนำเสนอออกสู่ตลาด

ดังนั้น “แผนนวัตกรรม” หรือ “แผนธุรกิจนวัตกรรม” จึงต้องมีทั้งองค์ประกอบเดิมในแผนธุรกิจอย่างครบถ้วน และยังจะต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางและกลยุทธ์ในการสร้างนวัตกรรม เพื่อให้ “ผู้อ่านแผน” ได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ แนวคิด และความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของนวัตกรรมนั้นๆ ด้วย

เป็นทราบกันดีอยู่แล้วว่า การทำนวัตกรรม ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ต้องการทำสิ่งประดิษฐ์ใหม่เท่านั้น!!

กระบวนการการทำนวัตกรรม ที่ควรจะต้องนำมาสรุปเพื่อเขียนเป็น “แผน” ที่เป็นลายลักษณ์อักษร จะมีองค์ประกอบที่จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับกระบวนการนวัตกรรมที่ต้องการจะนำเสนอใน 5ประเด็นหลักได้แก่

เหตุผลที่ต้องการทำนวัตกรรม (Why) นวัตกรรมที่จะนำเสนอคืออะไร (What) มีกระบวนการหรือวิธีทำอย่างไร (How) มีใครที่เป็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง (Who) และการพัฒนานวัตกรรมจะทำที่ไหน (Where)

ในการลำดับเรื่องราวของสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือ “แผน” จะทำให้สตาร์ทอัพ ได้ทบทวนความพร้อมและความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้อย่างรอบคอบเพราะได้วางแผนอนาคตไว้ก่อนแล้ว

การกำหนดเหตุผลที่ต้องการทำนวัตกรรม (Why) ขึ้นอย่างชัดเจน เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง “นวัตกรรม” กับ “ธุรกิจ” เข้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน

หากรอยเชื่อมต่อระหว่างแนวคิดนวัตกรรมกับธุรกิจไม่แสดงความสัมพันธ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผลในระดับที่ยอมรับได้ ก็อาจส่อแววให้เห็นว่า นวัตกรรมอาจกลายเป็นแค่สิ่งประดิษฐ์ หรือธุรกิจอาจไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของตลาดที่จะมารองรับนวัตกรรมที่จะนำเสนอ ซึ่งจะต้องอาศัย การพยากรณ์ตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในการอธิบายถึงนวัตกรรมที่ต้องการนำเสนอในแผนนวัตกรรม (What) เป็นเรื่องที่มีความต่อเนื่องมาจากเหตุผลและวิสัยทัศน์ที่ได้ระบุไว้ และความเชื่อจากสามัญสำนึกที่ว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องของความเสี่ยง

นวัตกรรมที่จะนำเสนอ จึงต้องอธิบายถึงมุมมองในเรื่องของโอกาสและความเสี่ยงที่มักจะคู่กันไปเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ที่อาจพลิกออกหน้าใดหน้าหนึ่งก็ได้

ดังนั้น สตาร์ทอัพ ที่มุ่งสร้างนวัตกรรมเพียงเรื่องเดียว อาจต้องคิดถึงเรื่องของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ การเตรียมสร้างนวัตกรรมต่อเนื่อง หรืออธิบายถึง “S-curve ตัวที่ 2” ไว้ล่วงหน้าก่อนในแผนนวัตกรรม

หรืออาจเป็นเพียงแค่การนำเสนอแนวคิดที่ 2 หากนวัตกรรมหลักที่มุ่งหวัง อาจไม่สร้างแรงตอบสนองจากตลาดได้ตามที่คาดไว้

เพื่อแสดงว่า สตาร์ทอัพ ไม่ได้ “ใส่ไข่ไว้เพียง ลูกเดียวในตะกร้า”

ในส่วนที่จะอธิบายกระบวนการหรือวิธีการสร้างนวัตกรรม (How) ควรเขียนให้ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างไอเดีย การคัดสรรและกลั่นกรองไอเดีย การพิสูจน์ไอเดีย เช่น การสร้างต้นแบบ แบบจำลอง ภาพวาด แบบแสดงรายละเอียดชิ้นส่วน วิธีการผลิต วิธีการนำเสนอสู่ตลาด การขาย ฯลฯ เป็นต้น

ในแผนนวัตกรรม ยังต้องระบุถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในกระบวนการสร้างนวัตกรรม ในประเด็นของ ที่มา บทบาท การสรรหา การคัดเลือก และจำนวน เช่น

ผู้คิดริเริ่ม นักวิจัย นักออกแบบ ผู้บริหารโครงการ ผู้รับผิดชอบสูงสุด ฯลฯ เป็นต้น

โดยอาจรวมถึงการแสดงว่ามีบุคลากรด้านการตลาด การขาย และการผลิต เข้ารวมในทีมงานด้วย

การวางแผนรายละเอียดของทีมงาน จะทำให้การบริหารโครงการนวัตกรรมเป็นไปด้วยความรอบคอบและแสดงถึงศักยภาพสู่ความสำเร็จ

ในองค์ประกอบสุดท้าย ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของการวางแผนว่า นวัตกรรมนั้นๆ จะสร้างขึ้นที่ใด (Where) และต้องใช้ทรัพยากร สิ่งจำเป็น สิ่งอำนวยความสะดวก ใดมาใช้ประกอบบ้าง

ยิ่งในกรณีที่สตาร์ทอัพ ต้องการใช้กลยุทธการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ก็จะต้องระบุถึงขอบข่ายการร่วมงาน ชื่อหน่วยงาน วิธีการทำงาน วิธีการประสานงาน

หรือแม้กระทั่งการนำเสนอแผนผังของเครือข่ายความร่วมมือที่จะได้รับหรือจะมาสนับสนุนให้ธุรกิจเกิดขึ้นได้

ความรู้ในการจัดทำ “แผนนวัตกรรม” จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะมีความสำคัญต่อทั้งตัวสตาร์ทอัพเอง รวมไปถึงการเป็นสื่อกลางที่สำคัญสำหรับผู้สนับสนุนทางด้านเงินทุน หรือผู้ร่วมงานอื่น จะใช้เป็นเครื่องช่วยตัดสินใจหรือเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของนวัตกรรมที่จะนำออกสู่ตลาดได้อีกทางหนึ่งด้วย!!!!