อุตฯผลิตปิโตรเลียม ก่อให้เกิดมูลค่าที่มากกว่าเม็ดเงินลงทุน?

อุตฯผลิตปิโตรเลียม ก่อให้เกิดมูลค่าที่มากกว่าเม็ดเงินลงทุน?

“อุตสาหกรรมด้านการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เป็นธุรกิจที่ลงทุนสูงและมีความเสี่ยงสูง”

เป็นประโยคที่ผู้อ่านทุกท่านได้ยิน ได้ฟังมาโดยตลอด แม้หลายท่านจะไม่อยู่ในแวดวงปิโตรเลียม แต่สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงปิโตรเลียมตระหนักและประจักษ์แจ้งว่า ข้อความข้างต้นคือ ความจริงอย่างที่สุด แต่อาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากคนในสังคมบางกลุ่มว่า เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน จ้างคน หรือการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ จะตกไปอยู่กับชาวต่างชาติ

ผู้เขียนในฐานะอดีตข้าราชการกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่มีภารกิจหน้าที่กำกับดูแลและบริหารจัดการด้านการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับคนไทยทุกคน และเป็นผู้ที่เริ่มทำงานนับแต่ก้าวแรกของชีวิตข้าราชการ ณ จุดนี้ ด้วยประสบการณ์ยาวนานร่วม 38 ปี จึงอยากจะบอกว่า นับแต่เริ่มต้นบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียมเมื่อปี 2514 เป็นการเปิดศักราชให้โอกาสกับประเทศในการเชิญชวนให้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำการสำรวจปิโตรเลียม เพราะเรายังไม่มีองค์ความรู้ ความสามารถ ไม่มีเทคโนโลยีเพียงพอ จึงจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมและเอื้อต่อการลงทุน โดยกฎหมายปิโตรเลียมกำหนดให้มีการนำผู้เชี่ยวชาญและช่างฝีมือ ตลอดจนวัสดุ อุปกรณ์สิ่งจำเป็นเข้ามาในราชอาณาจักรได้ภายใต้มาตรา 69-70 แต่ทั้งนี้ต้องมีการกลั่นกรองการนำเข้าอย่างเป็นระบบ และต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

ต้องยอมรับว่า สัดส่วนของคนไทยและต่างชาติ ซึ่งเข้ามาทำงานในกิจการปิโตรเลียม ณ ขณะนั้น 10:90 บริษัทที่ได้รับสิทธิให้เข้ามาดำเนินการด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ที่เรียกว่า “ผู้รับสัมปทาน”) นั้น ต้องว่าจ้างบริษัทผู้รับจ้างเหมาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาดำเนินงาน ซึ่งการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนของชั้นหินที่เป็นกิจกรรมแรกของธุรกิจนี้ ก็เป็นบริษัทต่างชาติแน่นอน เพราะระยะเวลาการดำเนินงานค่อนข้างสั้น ขึ้นอยู่กับสภาพทางธรณีวิทยาใต้ผิวดินของแต่ละภาค ตั้งแต่ประมาณ 10-20 วัน

และเมื่อมีการประมวลผลและวิเคราะห์หลังทำการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนของชั้นหินแล้ว และบริษัทพบว่ามีร่องรอยและมีศักยภาพทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจก็ต้องรายงานกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตามกฎหมาย เพื่อขอกำหนดหลุมเจาะ ซึ่งการเจาะหลุมสำรวจต้องว่าจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ มีอุปกรณ์ตลอดจนเทคโนโลยีชั้นสูง (แท่นเจาะสำรวจ-Rig) เพื่อดำเนินการ ทั้งนี้ระยะเวลาเจาะหลุมสำรวจขึ้นอยู่กับความยากง่ายของธรณีวิทยาใต้ผิวดินเช่นกัน โดยเฉลี่ยประมาณ 15-45 วัน แต่มีกรณีที่นานที่สุดเท่าที่ทราบจากประสบการณ์ คือ แถวภาคอีสานประมาณปีกว่าๆ (และสุดท้ายก็ยังไม่เจอปิโตรเลียมแต่อย่างใด แต่บริษัทมีค่าใช้จ่ายทะลวงไปแล้วหลุมเดียวหลายร้อยล้านบาท)

กรณีที่เจาะหลุมสำรวจตามที่กำหนดในสัญญาสัมปทานแล้ว หากบริษัทเจอร่องรอยปิโตรเลียม และคาดว่ามีปริมาณในเชิงพาณิชย์ (หมายถึงคุ้มค่าต่อการลงทุน-ซึ่งเป็นปกติของธุรกิจทุกประเภท) ก็จะยื่นขออนุมัติเพื่อพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมตามกฎหมายต่อไป

ขั้นตอนหลังจากที่ได้รับอนุมัติพื้นที่ผลิตตามกฎหมายตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว บริษัทต้องวางแผนงานเตรียมการผลิต เตรียมติดตั้งแท่นผลิตกลาง แท่นหลุมผลิต แท่นที่พักอาศัย และแท่นเผาก๊าซธรรมชาติ (สำหรับแหล่งปิโตรเลียมในทะเล) เพื่อทำการผลิตปิโตรเลียมซึ่งหมายถึงก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ

ตามที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด โดยสรุปเพียงเพื่อจะบอกกล่าวผู้อ่านว่า การกำกับดูแลและบริหารจัดการกิจการปิโตรเลียมในประเทศมิได้เพียงเพื่อได้มาซึ่งปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการนำเข้า แต่มีนโยบายในการถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากรผู้มีสัญชาติไทยทดแทนชาวต่างชาติ ตลอดจนขอความร่วมมือให้บริษัทผู้ประกอบการใช้บริการด้านยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในประเทศเป็นอันดับแรก

จะเห็นได้จากปัจจุบันนี้ มีคนไทยทำงานในธุรกิจนี้ในสัดส่วนที่กลับกันกับเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา นั่นคือสัดส่วนคนไทยต่อชาวต่างชาติ 90:10 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในทะเล ตำแหน่งผู้จัดการประจำแท่นผลิต (OIM-Offshore Installation Manager) เป็นคนไทยมานับแต่ปี 2532 เป็นต้นมา แม้ว่าบางตำแหน่งอาจยังจำเป็นที่ต้องการชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่จะเป็นลักษณะของการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทต้องมีแผนพัฒนาคนไทยอย่างชัดเจน และแม้บางบริษัทซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ต้องมีเทคโนโลยีสูง อาจเป็นบริษัทต่างชาติแต่ผู้บริหารและพนักงานส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยทั้งสิ้น และขอยืนยันว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการ มีโครงการพัฒนาบุคลากรชาวไทยแทนชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่องหลายโครงการด้วยกัน และสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

ในปี 2558 สรุปข้อมูลการจ้างงานในกิจการปิโตรเลียม เป็นพนักงานคนไทย 30,000 คน และพนักงานคนไทยจ้างเหมาช่วงอีกร่วม 20,000 คน โดยมีชาวต่างชาติ 2,064 คน จำนวนที่กล่าวมานี้ยังไม่นับคนไทยที่ทำงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกนับแสนคน

เมื่อกล่าวถึงการจ้างงาน จ้างคนแล้ว ต้องกล่าวย้ำถึงการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านปิโตรเลียม ซึ่งยืนยันได้ว่า มีการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการใช้บริการด้านยานพาหนะ ตลอดจนใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ในประเทศไทยเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะในรูปแบบของประกาศเชิญชวนให้มาขอสิทธิเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือการออกประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพิ่มเติมปลายปี 2558 ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง“การใช้บริการด้านยานพาหนะโครงสร้างเหล็กและอื่นๆ ที่มีอยู่ในประเทศ” ด้วย

การขอความร่วมมือตลอดจนการออกประกาศต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้นก็เป็นการยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า เป็นการส่งเสริมและก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในประเทศอย่างแน่นอน มิใช่เฉพาะการประกอบแท่นผลิตเท่านั้น แต่ยังมียานพาหนะที่จำเป็นต้องใช้ในการขนส่งทั้งพนักงานและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ระหว่างชายฝั่งและสถานประกอบการในทะเล นั่นคือ เฮลิคอปเตอร์และเรือสนับสนุนต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทไทยทั้งสิ้น

นอกจากนี้แล้ว ยังมีบริษัทที่ให้บริการ (Service Company) หรือบริษัทรับจ้างเหมาช่วง (Sub-Contractor) ที่ดำเนินงานด้านการหยั่งธรณีหลุมเจาะ บริการด้านข้อมูลหลุมเจาะ ด้านการพัฒนาปรับปรุงหลุมผลิต หรือแม้กระทั่งบริษัทที่ให้บริการด้านรับจัดอาหารนอกชายฝั่ง (Offshore Catering) ก็เป็นบริษัทไทยและมีพนักงานเป็นคนไทยทั้งสิ้น

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนต้องการยืนยันว่า ธุรกิจด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมิใช่เพียงเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับคนไทยทุกคน ลดการนำเข้าแล้ว แต่ยังก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนและประเทศไทยได้รับประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการกำกับดูแลและบริหารจัดการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ภายใต้กฎหมายโดยมุ่งเน้นผลประโยชน์เพื่อคนไทยอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมให้มีการพัฒนาคนไทยให้ทำงานแทนชาวต่างชาติ (Nationalization Plan) หรือการถ่ายทอดองค์ความรู้ (Technology Transfer) ตลอดจนการสนับสนุนให้ใช้อุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศเป็นอันดับแรก (Local Content)

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านจะมีความเข้าใจและมีความรู้สึกด้านบวก ต่อความพยายามที่เราได้ทำงานกันอย่างทุ่มเทเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง