กลยุทธ์การลงทุนข้ามชาติอันไกลโพ้นของ SMEs

กลยุทธ์การลงทุนข้ามชาติอันไกลโพ้นของ SMEs

ปกติการลงทุนข้ามชาติมักดำเนินการโดยบริษัทใหญ่โต แต่อันที่จริง SMEs ก็ทำได้ และอาจจะทำได้ดีกว่ารายใหญ่

ที่มัก “เจ๊ง” กลับมาก็ได้ ลองไปดูกันถึงอาฟริกาอันไกลโพ้นเลย

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปประชุม ทำงานและสำรวจประเทศต่างๆ มาทั่วโลกราว 200 เมือง ตั้งแต่อเมริกาใต้ อาฟริกา ยันยุโรปและออสเตรเลีย อันที่จริง ยังมีโอกาสที่นักลงทุนไทยจะไปลงทุนได้มากมาย ท่านอาจไม่เชื่อว่าไม่เฉพาะวิสาหกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะไปได้ แต่แท้ที่จริงกลับเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ Small and Medium Enterprises (SMEs) ที่น่าจะไปบุกตลาดนั่นเอง

ในรอบปี 2558 ผมไปทำงานประเมินค่าทรัพย์สินที่ประเทศในอาฟริกาตอนใต้ ซึ่งประกอบด้วย แซมเบีย นามิเบีย บอตสวานา และเลซูทู (ซึ่งเขียนว่า Lesotho) เห็นโอกาสมากมายที่จะสามารถไปลงทุน แต่ถ้าถามคนไทยเรา ก็คงมีน้อยคนที่จะได้ไปที่ประเทศทั้งสี่นี้ แม้แต่ไปเที่ยวก็คงมีน้อยมาก เพราะตั้งอยู่ไกลโพ้นจากประเทศไทยจริงๆ คือถ้าวัดจากกรุงเทพมหานครบินตรงไปเลซูทู ก็คงเป็นระยะทาง 9,703 กิโลเมตร แต่เดี๋ยวนี้การบินไทยปิดเส้นทางบินนี้เสียแล้ว เราจึงต้องขึ้นเครื่องจากกรุงเทพมหานครไปลงสิงคโปร์ ฮ่องกงหรือตะวันออกกลาง แล้วจึงต่อเครื่องไปอีกทอดหนึ่ง ใช้เวลาเดินทางถึงเกือบ 24 ชั่วโมง จากแต่เดิมที่เราบินตรงใช้เวลาไม่เกิน 12 ชั่วโมงเท่านั้น

ปกติคนไทยเราพูดถึงอาฟริกา ก็จะเบือนหน้าหนีกันแล้ว เพราะดูด้อยความเจริญกว่าไทยมาก โดยเฉพาะในอาฟริกาตะวันตกที่มีปัญหาเชื้ออีโบลา คนก็ยิ่งกลัวแบบเหมารวมไปใหญ่ แต่เราอาจไม่ทราบว่า ประเทศต่างๆ ทางตอนใต้ของทวีปอาฟริกาและโดยเฉพาะอาฟริกาใต้นั้น เป็นพื้นที่ที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดและเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในอาฟริกาและในโลกเลยทีเดียว ที่สำคัญประชาชนยังสามารถสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษกันได้อย่าง มืออาชีพ” ไม่ใช่ภาษาอังกฤษสำเนียงไทย สำเนียงสิงคโปร์ สำเนียงฟิลิปปินส์ หรือสำเนียงจีนแต่อย่างใด

ปัญหาเฉพาะหน้าในอาฟริกาตอนใต้ในขณะนี้ ก็คือภัยกันดาร (Drought) หรือภัยแล้ง ทั้งนี้จากผลของเอลนีโนก่อให้เกิดความกันดาร ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทั้งนี้ถือเป็นภัยกันดารที่รุนแรงที่สุดนับแต่ปี 2536 หรือเมื่อ 22 ปีก่อน ผลของภัยส่งผลต่อเกษตรกรรม น้ำสำรอง การประมง การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้า จะเห็นได้ว่าผลิตผลทางการเกษตรมีปริมาณลดน้อยลง คุณภาพผลิตผลไม่ดี ทำให้ราคาตก ทำเศรษฐกิจยิ่งตกต่ำ

ภัยกันดารนี้ย่อมส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่กำลังซื้อที่ลดต่ำลงในภาคเกษตรกรรมที่เป็นภาคเศรษฐกิจที่ประชากรเป็นจำนวนมากทำงานอยู่ การขายสินค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็ไม่ได้เป็นดังหวัง จึงทำให้เกิดการฝืดเคือง ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์จึงอาจลดลงตามลำดับ การนี้ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ต่ำเกินความเป็นจริง หากลงทุนซื้อ น่าจะสามารถซื้อได้ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป และเมื่อโอกาสทางเศรษฐกิจมาถึง ภัยธรรมชาติผ่านพ้นไปตามวัฏจักรราคาอสังหาริมทรัพย์ก็จะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในแง่ตรงกันข้าม แม้จะมีภัยแล้งแผ่ไปทั่วทางของทวีปอาฟริกา แต่ในบริเวณบางแห่งก็เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ก็กลับมีรีสอร์ตขนาดใหญ่ลือชื่อ เช่น ตามเขื่อนในเลโซโท ป่าดงดิบของบอตสวานาที่ยังมีสัตว์ใหญ่ เช่น เสือ และน้ำตกวิคตอเรีย ซึ่งเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกที่กั้นระหว่างซิมบับเวกับแซมเบีย รองจากน้ำตกอีกัวชูที่กั้นระหว่างอาเจนตินากับบราซิล ส่วนอันดับที่สามก็คือน้ำตกไนแองการาที่กั้นสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

อย่างบริเวณน้ำตกวิคตอเรียนั้น มีเมืองชื่อลิฟวิงสโตนในฝั่งประเทศแซมเบีย (ตะวันออกของน้ำตก) และเมืองวิคตอเรียในฝั่งประเทศซิมบัฟเว (ฝั่งตะวันตกของน้ำตก) บริเวณนี้มีโรงแรมที่พักราคาแพงและหรูอยู่เป็นจำนวนมาก มีผู้คนเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอันมาก โดยสามารถเลือกบินจากนครโจฮันเนสเบอร์กในประเทศอาฟริกาใต้ หรือนครไนโรบีในประเทศเคนยาไปในเมืองใดเมืองหนึ่งข้างต้นได้ค่อนข้างสะดวก และยังสามารถข้ามฝั่งไปมาระหว่างสองประเทศนี้ได้ด้วย โดยต้องจ่ายค่าวีซาในราคาค่อนข้างสูง (ประมาณ 50-100 ดอลลาร์ต่อคน แล้วแต่ตกลงกับเจ้าหน้าที่!?!)

โรงแรมที่พักในย่านนี้มีแบบห้าดาว ซึ่งราคาสูงถึงประมาณ 10,000 บาทต่อห้อง หรือบางแห่งก็แพงกว่านั้นเสียอีก อย่างไรก็ตามยังมีโรงแรมระดับสี่ดาว สามดาว และโรงแรมในท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมากด้วย ในระยะที่ผ่านมาด้วยกระแสความกลัวเชื้ออีโบลา ทำให้การท่องเที่ยวชะงักลงไปประมาณ 1 ปี บางแห่งสร้างเสร็จยังไม่ทันได้เปิดเพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในปี 2559 นี้ เพราะความกลัวเรื่องอีโบลาได้เจือจางลงไปแล้ว

หนทางที่ปลอดภัยที่สุดในการลงทุนในต่างประเทศนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อ แต่เป็นแบบเช่าระยะยาว เพื่อดำเนินกิจการโรงแรม หรืออาจพัฒนาที่อยู่อาศัยในนครใหญ่ๆ หลายแห่งด้วยเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่ทันสมัยของไทยเราเอง ผมจำได้ว่าเคยพาคณะเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางประเทศในอาฟริกา ไปพบคุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ เจ้าของ บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีของพฤกษาแล้ว แทบอยากอุ้มคุณทองมากลับไปด้วยเลยทีเดียว โอกาสทางธุรกิจนี้ก็มีอยู่มากเช่นกัน

วิสาหกิจ SMEs ที่สามารถไปได้โดยเฉพาะในด้านอสังหาริมทรัพย์ ก็มีตั้งแต่บริษัทก่อสร้าง บริษัทออกแบบ สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่บริษัทประเมินค่าทรัพย์สินเช่นจากประเทศไทยเราก็ยังสามารถไปทำมาหากินที่นั่นได้ ในฐานะที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย เจ้าหน้าที่ราชการและวิสาหกิจเอกชนด้านประเมินค่าทรัพย์สิน ก็ยังมารับการศึกษาอบรมถึงที่นี่ ความต้องการนักวิชาชีพยังมีอยู่อย่างมาก

อย่าคิดแต่ว่าบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่ไปได้ แท้ที่จริงแล้วพวกเราจะพบว่าบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งกลับ เจ๊งไม่เป็นท่ากลับมา ทั้งนี้เพราะไม่รู้จริง ไม่ศึกษาตลาดให้รู้แจ้งแทงตลอด กร่างเลยประมาทเลินเล่อ ยิ่งกว่านั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยอาจดู “ใหญ่คับฟ้า” แต่เป็นเพราะ “เส้นสาย” แบบกึ่งผูกขาด เวลาขยายตัวไปเมืองนอกกลับ “ไปไม่เป็น” เพราะเล่นเส้นไม่ได้ และไม่ได้มีความสามารถจริงแต่อย่างใด

การขยายธุรกิจไปต่างประเทศเป็นสิ่งที่ SMEs ไม่อาจมองข้าม เพราะนอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยง แสวงหาโอกาสแล้ว ยังเป็นการสร้างแบรนด์ให้กลายเป็นวิสาหกิจระดับภูมิภาค ระดับทวีปหรือระดับโลก

รัฐบาลไทยควรส่งเสริมให้วิสาหกิจไทยๆ ไปต่างประเทศมากขึ้น เป็นการพัฒนาแบรนด์ประเทศไทยของเราด้วย ส่วนราชการเช่นกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศต้องออกนำ ด้วยการศึกษาตลาด กรุยทาง และนำท่านนายกฯ หรือรัฐมนตรีไปเยือน ไปช่วยเจาะตลาดด้วย

โอกาสมีอยู่อย่างแน่นอน เมื่อเรารู้จักแสวงหา