หนังดีสิ้นปี เพื่อนักบริหาร

หนังดีสิ้นปี เพื่อนักบริหาร

หนังเรื่องนี้ ว่าด้วยเรื่องของการที่คนต่างวัยต้องมาทำงานร่วมกัน และการที่องค์กรในอนาคตอาจจำเป็นต้องจ้างพนักงานที่เกษียณแล้ว

แล้วเราก็มาถึงสัปดาห์สุดท้ายของปี พ.ศ. 2558 ทำงานหนักกันมาตลอดทั้งปี พอมาถึงเวลานี้เชื่อว่าทุกท่านคงอยากพักผ่อนเฉลิมฉลองการส่งท้ายปีเก่า สวัสดีปีใหม่กันอย่างแน่นอน

บางท่านอาจมีแผนเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ และก็คงมีอีกหลายท่านที่ไม่อยากเหน็ดเหนื่อยออกเดินทางไปไหน อยากพักผ่อนอยู่กับบ้านใช้เวลากับครอบครัว อาจทำอาหารเมนูพิเศษทานกันเองที่บ้าน หรืออาจจะใช้บริการส่งอาหารถึงบ้านก็มีให้เลือกมากมาย อร่อยไม่แพ้ไปทานตามภัตตาคารเลย

สำหรับท่านนักบริหารทั้งหลายที่เลือกพักผ่อนอยู่กับบ้านในช่วงวันหยุดยาวนี้ ดิฉันมีหนังดีที่ขอเสนอให้ท่านลองพิจารณาดูว่าอาจจะเป็นหนึ่งในโปรแกรมสร้างความบันเทิงสำหรับท่านและครอบครัวในช่วงหยุดเทศกาลกัน หนังหรือภาพยนตร์ที่ดิฉันได้ชมมาแล้วและขอเสนอแนะให้ท่านลองชมดูคือเรื่อง “The Intern-Experience Never Gets Old ” (ดิฉันขอแปลว่า “พนักงานฝึกงานวัยเก๋า-ประสบการณ์ไม่เคยเก่า” ละกัน ในขณะที่ตามโรงภาพยนตร์ใช้ชื่อไทยให้โดนใจคอหนังว่า “โก๋เก๋ากับบอสเก๋ไก๋”) หนังเรื่องนี้เพิ่งออกจากโรงมาได้แค่ 2 เดือนกว่าๆเท่านั้น เชื่อว่าตามร้าน DVD คงมีให้เช่ากันแพร่หลายแล้วค่ะ

ในฐานะที่ดิฉันมีอาชีพเป็นอาจารย์ บางครั้งดิฉันก็ใช้หนังนี่แหละค่ะเป็นสื่อช่วยในการเรียนการสอน บางครั้งการบรรยายเดี่ยวไมโครโฟนก็เป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับนิสิตนักศึกษาได้ อาจารย์จำเป็นต้องใช้สื่อต่างๆ เช่น คลิปภาพยนตร์ แบบฝึกหัด กรณีศึกษา เกมออนไลน์ ฯลฯ มาช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย

ดิฉันได้ชมหนังเรื่อง The Intern นี้แล้วรู้สึกชอบในเนื้อหา คิดว่าอาจจะนำมาใช้ในการเรียนการสอนวิชาการบริหารบุคคลได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้หัวข้อที่สามารถหยิบยกมาพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์กันจากหนังเรื่องนี้คือเรื่องของการที่คนต่างวัย(Multi-Generation Workforce) ต้องมาทำงานร่วมกันว่าต้องมีการปรับตัวอย่างไร และเรื่องของการที่องค์กรในอนาคตอาจจำเป็นต้องจ้างพนักงานสูงวัยที่เกษียณอายุแล้วให้กลับมาทำงานอีกจะต้องเตรียมการอย่างไร

เนื่องจากหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุกันแล้ว ดังนั้นแรงงานวัยหนุ่มสาวก็จะขาดแคลนไปเรื่อยๆจนถึงวาระที่องค์กรต้องจ้างพนักงานที่เกษียณอายุแล้วให้มาทำงานใหม่ หรือไม่ก็ต้องขยายอายุการเกษียณของพนักงานออกไป เช่น จากที่เคยเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี ก็จะกลายเป็น 65 ปี หรือ 70 ปีเป็นต้นไป ทั้งนี้ในการบริหารบุคลากรที่มีวัยแตกต่างกันย่อมต้องมีกลยุทธ์ในการสรรหา จูงใจ พัฒนาและรักษาพนักงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จะมาใช้วิธีเดียวกันแบบเดิมๆ สำหรับทุกกลุ่มย่อมไม่ใช่แน่นอน

คุยเรื่องวิชาการมากพอแล้วสำหรับสัปดาห์สุดท้ายของปี เรามาคุยเรื่องหนังเป็นการหย่อนอารมณ์กันดีกว่านะคะ หนังเรื่อง “The Intern-Experience Never Gets Old” เป็นหนังของบริษัทวอร์เนอร์ บราเธอรส์ ที่ได้ดาราใหญ่มากฝีมืออย่างโรเบิร์ต เดอ นีโร อดีตเจ้าพ่อก็อดฟาเธอร์มาเล่นคู่กับแอน แฮทธาเวย์ สาวสวยวัยลูก

หนังเบาๆแบบนี้ได้ เดอ นีโร ตีบทแตกฉลุย เขาเล่นเป็น “เบ็น” อดีตผู้บริหารระดับรองประธานของบริษัทผลิตสมุดโทรศัพท์วัย 70 ปี ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังคือ นอร์ธเวสเธิร์น ดังนั้นปูมหลังของเบ็นจึงไม่ใช่คนวัยเกษียณที่เฟอะฟะไร้สมอง เบ็นเป็นพ่อม่ายที่ภรรยาเสียชีวิต เขาพยายามหากิจกรรมต่างๆมาทำเพื่อไม่ให้ชีวิตหลังเกษียณเงียบเหงาและว่างเปล่าจนเกินไป แต่เมื่อถึงวันที่รู้ว่าจะหาอะไรทำอีกแล้ว เบ็นก็อ่านเจอประกาศโครงการรับสมัครพนักงานฝึกงานซึ่งเป็นคนสูงอายุ (Senior Citizen InternProgram) ของบริษัท “About the Fit” ซึ่งเป็นบริษัทขายเสื้อผ้าออนไลน์ที่จูลส์ ออสติน (รับบทโดยแอนน์ แฮทธาเวย์) เป็นเจ้าของกิจการ

จูลส์คือสาวสวย เก่ง ขยัน และมีหัวคิดสร้างสรรค์ เธอสร้างธุรกิจขายเสื้อผ้าของเธอให้เติบใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมมีพนักงานเพียงนับสิบคนให้กลายเป็นองค์กรที่มีพนักงานทำงานด้วยกว่าสี่ร้อยคน จากที่ห้องทำงานคือห้องครัวภายในบ้านของจูลส์กลายเป็นอาคารขนาดกลางทั้งหลัง จูลส์เป็น “เวิร์คกิ้ง วูแมน” ที่ไฮ-เทค มีมุมมองและวิธีการทำงานแบบคนรุ่นใหม่วัย Gen Y สามีของเธอยอมทิ้งงานที่กำลังก้าวหน้ามาทำหน้าที่คุณพ่อบ้านดูแลลูกสาวตัวน้อยๆเพื่อที่จูลส์จะได้สามารถทำงานได้เต็มที่ โครงการรับคนสูงวัยมาเป็นพนักงานฝึกงานเป็นโครงการที่ผู้บริหารในองค์กรของจูลส์สร้างขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในโครงการ CSR ช่วยสังคมของบริษัท ซึ่งจูลส์ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก แต่เมื่อเธอรู้ว่าเบ็นจะกลายมาเป็น “ผู้ช่วย” หรือเลขาฯ ของเธอ จูลส์เกรงว่าคนสูงวัยอย่างเบ็นคงจะก้าวตามเธอไม่ทันแน่ ในช่วงแรกเธอจึงมีท่าทีที่ค่อนข้างเย็นชากับเบ็น ไม่เคยเรียกเบ็นมาใช้งานเลย

 สำหรับเบ็น การกลับมาทำงานในสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ไฮ-เทค ทำให้เขาต้องปรับตัวมากพอสมควรโดยเฉพาะในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่เบ็นพยายามเรียนรู้ได้โดยไม่ยากจนเกินไป แต่บางอย่างเช่นเรื่องของเสื้อผ้าหน้าผม เบ็นไม่เห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เราจึงได้เห็นเบ็นวัย 70 ใส่สูทเต็มยศไปทำงานท่ามกลางหนุ่มสาวที่นุ่งยีนส์และเสื้อยืดไปทำงาน

สิ่งที่น่าสนใจที่ได้เห็นจากหนังคือวัฒนธรรมองค์กรของคนรุ่นใหม่ที่จะยกย่องชมเชยให้เกียรติ (Recognition) เพื่อนร่วมงานในทันทีที่ใครคนใดคนหนึ่งมีผลงานดีหรือทำอะไรดีๆให้องค์กร ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเบ็นจัดโต๊ะกลางห้องทำงานที่ใครต่อใครชอบเอาของสุมไว้จนรก พอเพื่อนร่วมงานเห็นเบ็นสละเวลามาจัดโต๊ะให้หายรก ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทุกคนก็ลุกขึ้นยืนปรบมือให้กับเบ็น เป็นต้น

สิ่งที่หนังยังแสดงให้เห็น ก็คือการที่เบ็นซึ่งเป็นคนสูงวัยและมีอดีตเป็นผู้บริหารตำแหน่งสูงไม่ยึดติดกับตัวตนเดิมๆ แต่พร้อมเปิดใจเรียนรู้ยอมรับสิ่งใหม่ๆ และให้เกียรติคนอายุน้อยกว่าที่มีความสามารถอย่างจริงใจ ซึ่งเมื่อเบ็นเปิดใจกว้าง คนรุ่นใหม่ก็เปิดใจยอมรับเบ็นและสนใจเรียนรู้จากประสบการณ์ของเบ็นเช่นกัน ปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเบ็นกับเพื่อนร่วมงานทำให้จูลส์เริ่มทึ่งและสนใจในตัวเบ็น เมื่อเธอให้โอกาสเบ็นได้มาทำงานร่วมกับเธอ เธอก็ได้ประจักษ์แก่ใจว่าเบ็นชายวัย 70 ปีนี้ยังไม่ได้แก่เฒ่าพ้นสมัย แต่มีความคิดเห็นประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจและการดำเนินชีวิตครอบครัวที่มีประโยชน์ต่อเธอเป็นอย่างยิ่ง ข้อดีของเบ็นคือมีความเป็นมิตร สุขุม ถ่อมตัว ขยันเรียนรู้และให้เกียรติผู้ร่วมงานทุกคน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามันคือคุณสมบัติที่พนักงานที่ประสบความสำเร็จทุกวัยทั่วโลกพึงมี

นักวิจารณ์หนังท่านอื่นคงจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเบ็น (โก๋เก๋า) กับจูลส์ (บอสสาวเก๋ไก๋) เป็นเรื่องหลัก ดิฉันจึงไม่จำเป็นต้องเน้นประเด็นนี้มากนัก แต่ดิฉันขอกล่าวถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเบ็นกับเพื่อนร่วมงานวัยเอ๊าะคนอื่นๆซึ่งให้ข้อคิดดีๆหลายประการที่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ หนังเรื่องนี้ดูง่าย เบาสมองแต่ได้สาระ แฮปปี้เอนดิ้งเหมาะกับบรรยากาศพักผ่อนช่วงสิ้นปีค่ะ

ถ้ามีเวลาว่างช่วงหยุดปีใหม่ ลองหาเวลาชมหนังเรื่อง “โก๋เก๋ากับบอสเก๋ไก๋” ดู คงได้ข้อคิดดีๆ มากพอสมควร

สุขสันต์ปีใหม่ 2559 นะคะ