ผู้บริหารการศึกษาควรได้รับการปฏิรูปก่อน

ผู้บริหารการศึกษาควรได้รับการปฏิรูปก่อน

การจัดการศึกษาของไทยรอบ 20 ปีได้ผลต่ำ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ทั้งๆ มีการจัดสรรงบประมาณการศึกษาสูงกว่าเพื่อน

ราว 20% การจัดการศึกษาของไทยรอบ 20 ปีได้ผลต่ำ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ทั้งๆ มีการจัดสรรงบประมาณการศึกษาสูงกว่าเพื่อนราว 20% ของงบประมาณของทั้งประเทศ และ 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ที่ถ้าคิดเป็นตัวเม็ดเงินเพิ่มมาโดยตลอด ขณะที่ประชากรวัยเรียนมีจำนวนลดลง ปัญหารากเหง้าคือนักการเมืองและข้าราชการผู้เกี่ยวข้อง ทั้งไม่รู้เรื่องการปฏิรูปจริง และทั้งติดอยู่ในอำนาจผลประโยชน์ของตัวเอง

ในครูอาจารย์เองรอบ 10 ปีหลังได้ปรับเงินเดือนหลายครั้ง บวกกับเงินวิทยฐานะ รวมแล้วรายได้สูงขึ้นเกือบเท่าตัว เช่น ครูที่ที่มีเงินเดือน 15,000 บาท ในปี 2544 ได้รับเพิ่มเป็น 24,000-25,000 บาท ในปี 2553 แต่ไม่มีการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพทั่วทั้งประเทศจริง ผลสัมฤทธิ์การศึกษาของนักเรียนไทยโดยเฉลี่ยทั้งประเทศ ทั้งในการสอบระดับชาติและระหว่างชาติตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาหลักคือ การจัดการศึกษาแบบให้นักเรียนจดจำเนื้อหาและเรียนเพื่อสอบให้ผ่านมากกว่าที่จะเรียนแบบวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ นำไปใช้งาน แก้ปัญหาและพัฒนาสังคมได้จริงทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้และทักษะที่จะนำไปใช้งานได้ในโลกจริงต่ำ ผู้บริหารชนชั้นนำไทยมักเรียนรู้แบบจำหลักการคร่าวๆ ต่างประเทศบางเรื่องได้แบบคร่าวๆ ไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เป็นจริงของประเทศไทยอย่างเจาะลึกมากพอที่จะจับประเด็นใหญ่ได้ว่าปัญหาที่เป็นรากเหง้าของไทยจริงๆ แล้วอยู่ที่ไหน ควรจะประยุกต์หลักการ, วิธีการปฏิรูปการศึกษาของประเทศที่เขาทำสำเร็จอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับไทย ซึ่งมีลักษณะเฉพาะต่างจากประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมืองมากกว่าไทย

การจะปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพให้ได้ผลจริงต้องมียุทธศาสตร์ มีโครงการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาทั้งระบบ (ครู, หลักสูตร, การสอน, การวัดผล, การบริหารจัดการ) ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนสร้างกลไกในการวัด, การประเมินติดตามที่สามารถทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่แค่การเขียนเป้าหมาย หลักการ กฎหมาย โรดแมป แผนพัฒนาหลักสูตรแบบสวยๆ อย่างที่ทำมา นี่คือประเด็นที่ต้องวิเคราะห์กันอย่างวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมาว่า ทำไมผู้บริหารการศึกษาไทยถึงชอบทำเสียของ คือปฏิรูปการศึกษาไม่ได้จริง ทำได้แค่แก้ไขปัญหาเป็นเรื่องๆ เท่าที่มองเห็นชัดว่าเป็นปัญหาแต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างครบวงจร

นายกฯ, คณะรัฐมนตรี, ผู้บริหารและข้าราชการ เกือบทั้งหมดอาจมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และปฏิรูปการศึกษาน้อย พวกเขาเองได้รับการศึกษาแบบเก่า เรียนแบบท่องจำเพื่อสอบเอาคะแนนและประกาศนียบัตร ติดอยู่ในระบบวัฒนธรรมการคิด, การทำงานแบบขุนนางข้าราชการที่แค่ทำงานตามกฎระเบียบก็ได้ขึ้นเงินเดือนทุกปีอยู่แล้ว ไม่มีใครมาประเมินผลการทำงานอย่างจริงจังเหมือนในภาคธุรกิจเอกชน นักบริหารการศึกษาไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลหรือคุณภาพการจัดการศึกษา รับผิดชอบแค่ทำตามระเบียบ, การแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องพอให้ผ่าน, และให้ผลงานเชิงปริมาณเดินหน้าไปได้ โดยไม่เป็นข่าวถูกใครจับผิดได้/ร้องเรียนก็เพียงพอแล้ว

ตัวปัญหาจริงๆ คือ ระบบการบริหาร (ทั้งการเมืองและระบบราชการ) แบบขุนนางที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง และใช้อำนาจสั่งการลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆ ข้าราชการทำงานกันตามระเบียบ, ตามเจ้านาย เพื่อประโยชน์ (ตำแหน่ง, รายได้) ของตนเอง ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนทั้งหมด อาจแข่งขันกันเพื่อติวนักเรียนเก่งๆ ส่วนน้อยให้สอบแข่งขันเก่ง ทำชื่อเสียงให้โรงเรียนบ้าง แต่ไม่ได้ทุ่มเทพัฒนาผู้เรียนทั้งโรงเรียน แม้แต่ครูที่มีคุณภาพ, มีความตั้งใจที่มีดีอยู่บ้าง ก็ต้องทำงานตามระบบ, สอนตามหลักสูตรที่เน้นเนื้อหา, บรรยายมาก แต่พัฒนาผู้เรียนได้น้อย

รัฐบาล, ผู้บริหาร, ครูอาจารย์ เขียนโรดแมป, แผนพัฒนา, แผนปฏิรูป, ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา ออกมาสวยๆ ว่าปัญหาคืออะไร จะต้องแก้ปัญหาตรงไหนมีแนวทางการปฏิรูปกี่ด้าน แต่เวลาที่พวกเขาลงมือทำจริง ได้แค่ทำงานแบบประนีประนอม แบบข้าราชการที่ค่อยทำไปเรื่อยๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ปัญหาทุจริต โยกย้ายคน ไปวันๆ รมต. ศึกษาฯ กี่คนๆ ก็ไม่ต่างกันมากคือ ไม่มีวิสัยทัศน์/ความกล้าที่จะปฏิรูปโครงสร้างแบบฟันธง ผ่าตัดใหญ่ เช่น เปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินและปฏิรูปครูอย่างเอาจริง มักจะจำรูปแบบจากประเทศอื่นเป็นเรื่องๆ เช่น ประเทศอื่นครูเงินเดือนสูง ก็เพิ่มเงินเดือน ให้ค่าตอบแทนวิทยฐานะครูที่ส่งผลงานวิชาการมาขอตำแหน่งกัน

แต่สิ่งที่ควรทำคือ มีการประเมินครูตามความรู้ความสามารถ ความตั้งใจทำงาน ไม่ได้มีการฝึกอบรมครูใหม่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, วิธีการสอน, การทำงานของครูทั้งประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

การปฏิรูปต้องหมายถึง การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกระบวนการคัดเลือก, ผลิตครู และการส่งเสริมให้ครูต้องทำงานแบบมืออาชีพที่ต้องมีประสิทธิภาพสูง ได้ผลตอบแทนสูง การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร, กระบวนการเรียนการสอน, การวัดผล เพื่อสร้างให้ผู้เรียนรักการอ่าน รู้วิธีการเรียนด้วยตนเอง คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ด้วยตัวเองเป็น, มีความรู้, ทักษะ, คุณสมบัติที่จะพัฒนาเป็นพลเมืองในโลกศตวรรษที่ 21 ได้อย่างแท้จริง

ถ้าจะฝึกให้ครูไทยคิดวิเคราะห์เป็น ควรทำอย่างอื่น เช่น ให้ทั้งผู้บริหารและครูทั้งประเทศไปเข้าสอบข้อสอบแนว PISA สำหรับนักเรียนอายุ 15 ปี ของ OECD เพื่อวัดว่าครูไทยมีความรู้ในวิชาพื้นฐานเรื่องการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่ใช้งานแบบคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ได้อยู่ระดับไหน จะได้เลิกจ้างสำหรับคนที่ได้คะแนนต่ำมาก หรือฝึกอบรมใหม่สำหรับคนได้คะแนนปานกลาง

ภาคประชาชน เช่น สมัชชาการศึกษาจังหวัด, คณะกรรมการการพัฒนาการศึกษาจังหวัด, องค์กรประชาชนต่างๆ ควรจัดตั้งกันขึ้นมาเพื่อเรียกร้องผลักดันการแก้ไขกฎหมาย เปลี่ยนแปลงระบบบริหารแบบรวมศูนย์ กระจายงบประมาณอำนาจการจัดการให้จังหวัด, เขต, สถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาชนเพิ่มขึ้น เช่น ให้งบอุดหนุนโรงเรียนที่องค์กรภาคประชาชนจัดตั้งกันขึ้นมาเป็นโรงเรียนอิสระ คล้ายโรงเรียนเอกชน จ่ายเป็นคูปองการศึกษาให้นักเรียนเลือกไปเรียนโรงเรียนของรัฐ, องค์กรปกครองท้องถิ่น, โรงเรียนอิสระ, โรงเรียนเอกชนได้อย่างอิสระ จะได้เกิดการแข่งขันในเชิงคุณภาพ และมีการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สนองความต้องการของประชาชนและสังคมได้เพิ่มขึ้น