ปีใหม่ทักษะใหม่ ว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ creativity

ปีใหม่ทักษะใหม่ ว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ creativity

แทบทุกองค์กรที่ดิฉันมีโอกาสร่วมงานด้วย ล้วนอยากให้ทีมงานสามารถช่วยคิด

ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งต้องใช้ทั้งพลังสติปัญญา และความมีใจกล้าเสนอมุมมองใหม่ๆ ที่ฟังไม่ธรรมดา

พี่ๆทั้งหลายอยากบอกน้องว่า น้องจ๋า เมื่อใช้วิธีเดิมๆ แล้วยังแก้ปัญหาไม่ได้

หากใช้แบบเดิมไปเรื่อยๆ..

พี่รอจนเปื่อย ปัญหาก็คงยังอยู่ แถมจะดูยิ่งใหญ่ ร้ายแรงขึ้นตามกาลเวลาที่ล่วงเลยไป

คำถาม : แล้วทำอย่างไรดี ที่จะให้น้องมีมุมมองหลากหลาย มีแนวคิดใหม่ๆ จะได้ร่วมด้วยช่วยกันคลายปัญหา ที่ทุกวันนี้ มีใหม่ๆ มาให้ตื่นตาตื่นใจไม่เว้นวัน

วันนี้ ลองมาดูผลงานวิจัยของอาจารย์ Robert Epstein และทีมงาน ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยด้านจิตวิทยา แห่งสถาบันการวิจัยและเทคโนโลยีด้านพฤติกรรมศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาและวิจัยเรื่องวิธีการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี

อาจารย์ศึกษาพฤติกรรมของทั้งหัวหน้างานและทีมงานกว่า 20,000 คน ในองค์กรที่หลากหลาย ในกว่า 47 ประเทศ เพื่อแจกแจงว่า สิ่งที่ฟังกว้างๆ ว่า “มีความคิดสร้างสรรค์” เกิดจากพฤติกรรมย่อยอะไรบ้าง เพื่อเราจะได้นำพฤติกรรมนั้นๆไปใช้พัฒนาและฝึกฝนต่อไป

การศึกษาใช้หลักการของการพัฒนาสรรมถนะ หรือ Competencies ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง นั่นคือ ศึกษาว่าพฤติกรรมใด ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งที่เราอยากมี อยากเห็น ในกรณี คือ การมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งส่งผลให้สามารถหามุมมอง และแนวทางใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการเกิดนวัตกรรม ทั้งในองค์กรและสังคมต่อไป ไม่ธรรมดา!

จากการวิจัย อาจารย์ฟันธงว่า พฤติกรรมหลัก 4 ประการ ที่คนอยากมี Creativity ต้องฝึกฝน คือ

1. ขยายความรู้และทักษะให้กว้างขึ้น Broaden Knowledge & Skills

ตั้งใจแสวงหาความรู้ ด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน ศึกษา หารือกับผู้รู้ ดูสารคดี ฯลฯ ตลอดจนฝึกฝนสิ่งที่ศึกษา เพื่อนำไปใช้งาน ให้เกิดประสบการณ์ และทักษะ

ที่สำคัญอาจารย์เน้นว่า Broaden หรือ ขยายความรู้ นะคะ

นั่นคือ เติมความรู้และทักษะ ในประเด็นที่นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในงานปกติของเรา

อาทิเช่น องค์กรล่าสุดที่ดิฉันได้มีโอกาสทำงานด้วย ขอน้องๆที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ (ซึ่งประยุกต์ใช้ได้กับทุกธุรกิจที่ต้องมีการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ โครงการบ้าน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ) พัฒนาเพิ่มทักษะในการขายและต่อรองกับลูกค้า

แม้ตระหนักว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ที่ชอบใช้เวลาในการออกแบบ มักมีความรักปักใจกับการได้ทำงานแบบศิลปินเดี่ยว ไม่อยากเกี่ยวข้องกับใคร ที่ทำให้จินตนาการสะดุด

ผลออกมาน่าพึงพอใจ เพราะนักออกแบบที่มีทักษะเสริมเรื่องการขาย จะมีมุมมองใหม่ในการออกแบบ ที่ทั้ง “ล้ำ” ขณะเดียวกัน ทำให้ลูกค้าบอกว่า “ใช่” และ “ชอบ” เพราะตอบโจทย์เขาด้วย

ทั้งนี้ ทักษะใหม่ที่หมั่นขยันเติม อาจเลือกอะไรที่เราชอบ ตอบโจทย์ตนเองก็ได้ ไม่ผิดกติกา

เพราะ “ความหลากหลาย” เป็นยาคลายโรคสมอง “ผูก” (คล้ายๆอาการระบายไม่ออก แบบท้องผูก) เพราะช่วยให้เรามีโลกทัศน์ที่กว้างขวาง ซึ่งเป็นพื้นฐานการสร้างมุมมองใหม่ๆได้ดียิ่ง

ตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งสะท้อนความหลากหลายนี้ คือ ประสบการณ์ของมนุษย์โลกไม่ลืม คุณ Steve Jobs

คุณ Steve Jobs มีวาทะเด็ดเรื่อง Connecting the Dots หรือ การมองหาความเชื่อมโยงของจุดต่างๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่

ในชีวิตคนเรา มีหลายสิ่งเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ เปรียบเสมือน “จุด” ต่างๆ

หากจะมองแยกส่วน อาจเห็นเป็นภาพย่อย แต่หากเราค่อยๆเชื่อมโยงปะติดปะต่อ อาจได้เห็นภาพใหม่ ได้มุมมองที่น่าสนใจ และแปลกใหม่

ตอนที่เขายังเยาว์วัย เขาสนใจเรียนเขียนตัวหนังสือแบบ calligraphy ซึ่งต้องฝึกเขียนเส้นหลากหลาย ทั้งบาง เบา หนา หนัก ยาว สั้น ผสมผสานจนสวยงามวิจิตร

จากนั้นอีก 10 ปี จึงตระหนักว่า ที่เขาสามารถสร้างตัวอักษร หรือ font ที่สวยงาม แปลกใหม่ ในคอมพิวเตอร์ได้ ก็เพราะความสามารถโยงใยกับทักษะการเขียนโดยใช้ปากกาแบบ calligraphy นี่เอง

2. เปิดใจกว้างรับแนวคิดใหม่ๆและจดจำไว้ Capture New Ideas Without Editing Them

มีไอเดียหลายหลาก มากไว้ย่อมดีกว่ามีน้อย

อย่าเพิ่งเอาสติปัญญาเดิมๆ เป็นตัวกรองกลั่นเร่งหั่นออก บอกว่า ไม่น่าใช่ ไม่น่าได้

อาจารย์ Albert Einstein ผู้ฉลาดล้ำ สอนเราว่า

“We cannot solve our problems with the same thinking we used when we created them.”

“เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยใช้วิธีคิดแบบเดิมที่สร้างปัญหานั้นให้เรา”

สรุปว่า ต้องหาวิธีใหม่ๆนั่นเอง

และด้วยความ “ใหม่” บางครั้งจึงยากจะบอกว่าสิ่งใด “ใช่” “sure” หรือ “มั่ว” แน่

วิธีหาแนวทางใหม่ จึงเน้นความมาก ความหลากหลายไว้ก่อน แล้วจึงนำมาร่อน มากรองภายหลัง

ท่านที่เคยใช้วิธี “ระดมสมอง” หรือ “brainstorm” เพื่อหาแนวทางใหม่ๆ จะคุ้นเคยกับกติกาที่ว่า ห้ามสกัดกั้นความคิดกันและกัน ในขั้นต้นของการระดมสมอง

อาทิ กรุณาอย่าใช้วลีที่ระคายเคืองเฟืองสมองของเรา “เคยทำแล้ว ไม่ work!”..“ไม่ได้ เราไม่เคยทำแบบนั้น!”.. “ไม่ได้เพราะเงินไม่มี!”.. “พี่ใช้อวัยวะส่วนไหนคิด!”

ดังนั้น เมื่อเล็งหามุมมองใหม่ๆ กรุณาทำใจดีใจกว้างกับตนเอง

เกิดไอเดียแว้บแปล๊บเหมือนสายฟ้า กรุณาหาวิธีบันทึกไว้ก่อนถูกลืมเลือนไป ใช้มือถือ จดในกระดาษ อัดเสียง ฯลฯ แล้วค่อยนำมาเรียบเรียง เลือก และ ต่อยอด

สัปดาห์หน้า มาคุยกันต่อถึงอีก 2 หัวข้อของพฤติกรรมที่ต้องมี เพื่อ Creativity ที่ใครๆต้องการกันค่ะ