ไม่เลื่อนขั้นให้...ก็ดันตัวเองได้

ไม่เลื่อนขั้นให้...ก็ดันตัวเองได้

นายไม่เลื่อนขั้นให้ เป็นเรื่องร้ายแต่ไม่ถึงกับต้องลาตายหรือทอดอาลัยในชีวิต ทั้งนี้อย่ารอให้ส้มหล่น ต้องรู้จักเขย่าต้นส้มเองบ้างก็น่าจะดี

เขียนหัวข้อคอลัมน์สำหรับสัปดาห์นี้เสร็จก็ให้รู้สึกมีใจฮึกเหิมอย่างไรไม่ทราบ ใช่ว่าตัวเองจะเป็นคนที่ไม่ได้รับการเลื่อนขั้น เลยต้องออกมาตอบโต้ด้วยการเขียนบทความเรื่องนี้ขึ้น แต่จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมากว่ายี่สิบปี ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความสมหวังและผิดหวังมาพอสมควร และได้เคยเห็นมนุษย์เงินเดือนที่มีความสามารถหลายคนที่โชคร้ายมีผลงานไม่เข้าตากรรมการ (หรือในหลายกรณีที่กรรมการตาถั่วและมีอคติ) ต้องลงเอยด้วยการไม่ได้รับการเลื่อนขั้น ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน ทำให้เขาเหล่านั้นหมดกำลังใจ โดยเฉพาะกับคนที่ท้อแท้ง่ายหน่อย พอท้อแล้วก็เลยเปลี่ยนพฤติกรรมจากคนที่เคยมีไฟขยันขันแข็งในการทำงาน ก็กลายเป็นมนุษย์ผีดิบทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม และบางวันก็ไม่ได้สักชาม สรุปของผลลัพธ์ก็คือติดลบทั้งพนักงานและองค์กร และถ้าเป็นเช่นนี้ไปนานๆ คนเก่งที่ทำตัวซึมง่อยก็จะกลายเป็นคนซึมง่อยจนทรัพย์อับปัญญาไปจริงๆ เสียทรัพยากรบุคคลที่ดีๆอย่างน่าเสียดาย

นายไม่เลื่อนขั้นให้ เป็นเรื่องร้ายแต่ไม่ถึงกับต้องลาตายหรือทอดอาลัยในชีวิต ชีวิตยังไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันไป วันนี้ไม่ใช่วันของเรา วันต่อๆไปก็อาจจะเป็นวันของเราก็ได้ ทั้งนี้อย่ารอให้ส้มหล่น ต้องรู้จักเขย่าต้นส้มเองบ้างก็น่าจะดี

สัปดาห์นี้เราจะมาคุยกันว่าคนเก่งมีผลงานแต่โชคร้ายไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเพราะนายไม่ยุติธรรมหรือองค์กรไม่มีตำแหน่งให้ (ประมาณว่าไม่มีเส้นทางพัฒนาสายอาชีพให้กับสายงานบางสายงาน) จะมีหนทางอะไรบ้างที่จะช่วยตัวเองให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าสวรรค์(นาย)จะมีตา

ทั้งนี้พนักงาน Gen Y วัยเอ๊าะอย่าได้ประมาทไปคิดว่าเรื่องของการไม่ได้เลื่อนขั้นเป็นปัญหาของพนักงานรุ่นพี่หรือรุ่นน้ารุ่นลุงเท่านั้น คนหนุ่มคนสาวไม่น่ามีปัญหา ซึ่งไม่เป็นความจริงค่ะ จากการสำรวจของนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) และฟอร์จูน (Fortune) พบว่าบรรดามนุษย์เงินเดือนมืออาชีพวัยขิงอ่อนทั้งหลายก็จำเป็นต้องสร้างแผนสำรองไว้เผื่อพัฒนาสายอาชีพของตนเองเหมือนกัน จะมารอว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรจะต้องจัดทำให้ตนฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะแม้ว่าองค์กรในปัจจุบันจะง้อพนักงานคนเก่งเพราะคนเก่งหายากก็ตามที แต่เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจมีผลทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงสูง องค์กรอาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายโดยลดคนงานได้ง่ายๆ

ซึ่งบรู๊ซ ทัลกัน ที่ปรึกษาและผู้แต่งหนังสือเรื่อง “สิ่งท้าทาย 27 ประการที่ผู้จัดการเผชิญหน้า” และ “มันโอเคเลยที่คุณจะต้องบริหารนายของคุณ” ได้ตอกย้ำไว้ว่า “ไม่มีอีกต่อไปแล้วที่องค์กรจะสามารถมีแผนพัฒนาสายอาชีพที่เหมาะกับทุกคนทุกสายงาน” ซึ่งแปลได้ว่าองค์กรโดยมากไม่พร้อมที่จะสร้างแผนพัฒนาสายอาชีพให้กับพนักงานทุกสายงาน ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทและเพื่อเทปูนเสริมเหล็กอนาคตการทำงานของตัวเองให้ก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน พนักงานทุกรุ่นทุกวัยจึงควรเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาองค์กร

งานตันแต่ฉันยังมีเครือข่าย (Networks) เป็นเรื่องจำเป็นประมาณเป็นปัจจัยที่ 6 ของชีวิตรองจากปัจจัย 5 ซึ่งก็คือเทคโนโลยีสื่อสารที่มนุษย์เงินเดือนจำเป็นต้องมี ทั้งนี้การมีเพื่อนเยอะแยะไว้คุยทางโซเชียล มีเดียไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่ามันจะช่วยอะไรเราได้ แคทเธอรีน เรย์โนลส์ ลูอิสได้อธิบายไว้ในนิตยสารฟอร์บส์ฉบับเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วว่ามนุษย์เงินเดือนควรสร้างเครือข่ายเพื่อนฝูงในวงการงานให้กว้างขวางเหนียวแน่น การรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือโค้ชให้พนักงานรุ่นน้อง หรือในกรณีที่อาวุโสน้อยก็คือการเข้าหาผู้ใหญ่เพื่อขอให้รุ่นพี่ช่วยเป็นโค้ชให้ก็ถือเป็นความสัมพันธ์ด้านการงานที่ดี นอกจากนี้การสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มหรือสมาคมวิชาชีพต่างๆ การอาสาสมัครช่วยกิจกรรมหน่วยงานหรือแผนกอื่นๆขององค์กรตนเองและองค์กรธุรกิจและสังคมอื่นๆ ล้วนคือการสร้างเครือข่ายที่มีเนื้อหาสาระที่ส่งเสริมความรู้ ทักษะ ประสบการณ์และขยายโอกาสการจ้างงานของตนเอง

ดังนั้นหากมีการ “ตัน” เกิดขึ้นในหน้าที่การงานในหน่วยงานของตนเอง เครือข่ายต่างๆที่ท่านได้สร้างเอาไว้จะเป็น “ตัวช่วย” อื่นๆที่ทำให้ท่านสามารถย้ายงานข้ามแผนกแล้วไปโตในแผนกอื่นได้ พนักงานสมัยนี้มีความสามารถอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้จักหาเวทีหลายๆเวทีเพื่อโชว์ผลงานของตนเป็นระยะๆด้วย จากรายงานของ SAP และ Oxford Economics พบว่ามีพนักงาน Gen Y เพียง 7% เท่านั้นที่รู้จักพัฒนาสายอาชีพตนเองผ่านการสร้างเครือข่าย ส่วนที่เหลือนั้นนั่งรอส้มหล่นจากองค์กรโดยไม่ทำอะไร จึงพลาดโอกาสงามๆ และทำให้ช้าอย่างน่าเสียดาย...

เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ถึงไม่บอกก็ควรจะรู้อยู่แล้ว คนรักความก้าวหน้าแต่ไม่หมั่นขวนขวายแสวงหาความรู้ แล้วจะมีอะไรไปนำเสนอนายจ้างล่ะคะ? แต่ทั้งนี้ต้องเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมสายอาชีพที่ตนอยากจะทำ หรือบางคนอยากเปลี่ยนสายงาน ก็ต้องเพิ่มพูนความรู้ในสายงานใหม่และยิ่งถ้าสามารถมีวุฒิบัตรมาประกันความรู้ความสามารถได้ยิ่งดี เพราะการเปลี่ยนสายงานอาจทำให้องค์กรนายจ้างไม่มั่นใจในความเชี่ยวชาญของท่าน จึงจำเป็นต้องมีวุฒิบัตรมาช่วยรับรองส่งเสริมด้วย การเรียนรู้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ต้องเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายและกลยุทธ์ ไม่ใช่เรียนสะเปะสะปะไปหมดจนสร้างจุดเด่นให้ตนเองไม่ได้

รู้จักดูแลตัวเอง คนที่ไม่รู้จักดูแลตนเองทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและสุขภาพจิตจะถูกมองว่า “ไม่พร้อม” ที่จะมาแบกรับภาระงานในการดูแลองค์กร “จะดูแลไหวยังไงในเมื่อตัวเองยังดูแย่ขนาดนั้น?” บรู๊ซ ทัลกันให้ความเห็นที่สะท้อนถึงความเห็นของนายจ้างและนายทั้งหลายที่พิจารณาดูลูกน้องเพื่อตัดสินใจว่าเขาหรือเธอคนนั้นควรได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นหรือไม่ ทัลกันกล่าวว่า “อย่าได้ปล่อยให้ตัวเองดูโทรมอยู่นานๆเด็ดขาด เพราะนอกจากมันจะทำให้คุณดูแย่ไม่น่าเชื่อถือแล้ว ยังจะฉุดองค์กรให้ตกต่ำไปด้วย”

แนนซี่ เจอรอเนี่ยน วัย 22 ปี ผู้เริ่มทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาของยักษ์ใหญ่ไอบีเอ็มในนิวยอร์คหลังจบการศึกษาได้แบ่งปันประสบการณ์ว่าเธอเคยทำงานหนักมาก มากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งทำให้สุขภาพของเธอย่ำแย่ทั้งร่างกายและจิตใจ และแม้ว่าจะทำงานหนักขนาดนั้นก็ดูเหมือนว่าเธอไม่สามารถทำงานให้เสร็จได้ โชคดีที่เธอถอยมาตั้งหลักใหม่ แล้วเข้าขอคำปรึกษาจากผู้บังคับบัญชาแทนที่จะปล่อยตัวให้จมกับงานและจมดิ่งลงไปเรื่อยๆ เธอได้เรียนรู้วิธีการบริหารเวลา การจัดลำดับความสำคัญของงาน และเจรจาต่อรองเรื่องภาระงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เธอทำงานได้อย่าง “ฉลาด” ขึ้นและได้ผลงานมากกว่าเดิม

บทเรียนนี้สอนให้รู้ว่าการทุ่มตัวทำงานหนักแบบไม่ลืมหูลืมตาจนเสียสมดุลย์ ขาดคุณภาพชีวิต ไม่ใช่วิธีการทำงานของคนฉลาดที่จะได้รับการเลื่อนขั้น แทนที่นายจ้างจะมองท่านอย่างเห็นใจ เขาอาจมองว่าท่านเป็นพนักงานที่ดูโทรมทรุด ดูไม่น่าเชื่อถือ งานแค่นี้ยังไม่สามารถบริหารได้แล้วองค์กรจะสามารถมอบหมายตำแหน่งงานและภาระหน้าที่ซึ่งสูงกว่านี้ มากกว่านี้ และยากกว่านี้ได้อย่างไร เราจึงต้องรู้จักใช้สมองในการทำงาน รู้จักดูแลตนเองให้ดูแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า สุขภาพดีอันเป็นภาพลักษณ์ของคนที่ประสบความสำเร็จเอาไว้

3 ประการเท่านี้เองที่จะช่วยสร้างความพร้อมให้ท่านมีการพัฒนาสายอาชีพอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องง้อการสนับสนุนจากองค์กร

ถูกแล้วค่ะที่เขาว่า “อัตตาหิ อัตโนนาโถ” ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน