Generation ไทย (Gen Thai)

Generation ไทย (Gen Thai)

สังคมเราทุกวันนี้ เป็นการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลาย Generations ทั้ง Baby Boomers, Gen X, Gen Y

และ Gen Z โดยแต่ละ Gen เกิดและเติบโตมาในช่วงเวลาที่ต่างกัน วิถีชีวิตวัฒนธรรมในแต่ละช่วงเวลา ก็ต่างกัน ทำให้คนแต่ละ Gen มีนิสัยและอะไรๆ ที่ต่างกันในหลายเรื่อง แต่ต้องมาอยู่ในสังคมเดียวกัน

ในทางเศรษฐศาสตร์ มีแบบจำลองที่น่าสนใจชื่อ Overlapping Generations Model (OLG Model) ซึ่งรูปลักษณะของแบบจำลองจะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ของคนต่าง Generations ที่อยู่ร่วมกันในระบบเศรษฐกิจ (Economy) โดยในช่วงเวลาหนึ่งๆ (เวลา t) จะมีคนต่างรุ่น (เกิดไม่พร้อมกัน) อาศัยอยู่ คนแต่ละรุ่นก็ทำหน้าที่ของตนเอง มีการจัดสรร ซื้อขายแลกเปลี่ยน เก็บออม ‘สินค้า’ ที่มีอยู่ในระบบ พอเวลาผ่านไป (เวลา t+1) คนรุ่นที่แก่ที่สุดก็จะตายจากไป คนอายุรุ่นถัดๆ มาก็จะอายุมากขึ้น แล้วก็จะมีคนกลุ่มใหม่เกิดขึ้น และเข้ามาอาศัยร่วมกับคน Gen อื่นๆ ที่อยู่กันมาก่อนหน้า โดย OLG Model ในยุคแรกนี้ จำกัดให้คนแต่ละรุ่นที่ยังมีชีวิตอยู่ เลือกตัดสินใจในพฤติกรรมต่างๆ โดยคำนึงถึงความสุขความพอใจ (Utility) ของตนเอง และมีความสุขจากการบริโภคของตนเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงคนอื่น

OLG Model ในยุคต่อมาได้ถูกพัฒนาให้สามารถเพิ่ม ‘ความไม่เห็นแก่ตัว’ (Altruism) เข้ามาในแบบจำลองได้ โดยความน่ารักของ OLG Model ในยุคนี้คือ การที่คนแต่ละรุ่นที่ยังมีชีวิตอยู่ ถูกกำหนดให้เลือกตัดสินใจในพฤติกรรมต่างๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงความสุขความพอใจ (Utility) ของตนเองเท่านั้น แต่ยังคำนึงความสุขความพอใจของคนรุ่นต่อๆ มาด้วย โดยมีความสุขจากการที่เห็นคนรุ่นหลังมีความสุข และคนรุ่นก่อนหน้าสามารถเลือกที่จะ ‘เมตตา’ คนรุ่นต่อๆ มา โดยการให้ ‘สิ่งที่มีค่า’ (Bequests) ทิ้งไว้กับคนรุ่นหลังได้ด้วย

มองกลับมาที่ชีวิตจริง คนเราเลือกเกิด (หรือเลือกไม่เกิด) ไม่ได้ และเลือกที่จะหนีความตายไม่ได้ สิ่งเดียวที่เลือกได้คือ เลือกว่าเราจะทำอะไรบ้างในช่วงที่เรามีชีวิตอยู่ เราสามารถเลือกที่จะมีความสุขจากการซื้อหาและบริโภคสิ่งของต่างๆ หรือเลือกที่จะมีความสุขจากการได้เห็นคนอื่นมีความสุข และจากการที่ได้มีส่วนร่วมทำให้สังคมดีขึ้น

คงจะไม่ได้ผิดถ้าเราเลือกอยากวิ่งไขว่คว้าในสิ่งที่เราอยากได้ แต่เคยสังเกตไหม อยากได้อะไรๆ เมื่อได้มาแล้วก็รู้สึกพอใจได้เพียงสักครู่หนึ่ง อีกไม่นานก็อยากได้อย่างอื่นอีก แล้วก็จะอยากได้ไปอีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านั้นมาก็มักจะเป็นทุกข์ ทุกข์จากความไม่พอ

ในทางกลับกัน เคยรู้สึกดีๆ บ้างไหมเมื่อได้ทำสิ่งดี เล็กๆ น้อยๆ โดยไม่หวังอะไร เคยรู้สึกดีบ้างไหมเมื่อได้มีส่วนร่วมในอะไรสักอย่างที่ทำให้สังคมดีขึ้น หรือทำให้ชีวิตของใครดีขึ้น สุขแบบนี้เป็นสุขแบบสบายๆ หาได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้เงินทอง เป็นความสุขที่เกิดจากการให้ เป็นความสุขที่เกิดจากความเมตตา

หากคนทุกๆ Generations เลือกที่จะมีความสุขจากการให้ มากกว่าเลือกที่จะมีความสุขจากการได้รับ การอยู่ร่วมกันของคนต่าง Gen หรือแม้แต่คน Gen เดียวกัน ที่คิดไม่เหมือนกัน ก็คงจะราบรื่นขึ้น แม้ปัญหาหลายอย่างของประเทศเราคงต้องใช้เวลาGenerations ในการแก้ไข แต่หากคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่กันอย่างไม่เห็นแก่ตัว คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน ประเทศเราก็น่าจะพอมีหวัง

เรามาช่วยกันสร้างค่านิยมความเป็น Generations ’ไทย’ คือ การเป็นคนไทยที่ไม่เห็นแก่ตัว รักชาติ และเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง มีความต้องการจะอยู่ร่วมกับคนไทยด้วยกัน ที่อาจคิดไม่เหมือนกันได้อย่างสงบสุข ต้องการจะเห็นประเทศไทยเจริญก้าวหน้า และต้องการช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ที่เก่งและดีที่จะเป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไป

เราอยากเห็นอนาคตประเทศไทยเป็นแบบไหนไม่ได้มีใครบังคับ และเราทุกคน ทุก Generations สามารถเลือกได้ตั้งแต่วันนี้

 ----------------------------

ดร.วรประภา นาควัชระ

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย