divergence diversity and convergence สถาบัน รัฐ ตลาด (45)

 divergence diversity and convergence สถาบัน รัฐ ตลาด (45)

ความคิดเรื่อง cluster ดูจะแยกออกจากกันไม่ได้ เวลาพูดถึงยุทธศาสตร์ของการพัฒนาอุตสาหกรรม

และในเมืองไทยได้กลับมาฮิตใหม่ เมื่อรองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาดูแลเศรษฐกิจของประเทศ เกือบสิบปีมาแล้วที่แนวคิดเรื่อง cluster สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ที่คุณสมคิดเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ถูกจุดประกาย แต่ในที่สุดประเทศไทยดูเหมือนไม่มียุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ที่ชัดเจน ยุทธศาสตร์ cluster ในที่สุดก็เงียบหายไป แสดงให้เห็นว่า การทำให้เกิด cluster จริงๆ ไม่ใช่ของปลอมไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะมองในมิติทางพื้นที่ หรืออุตสาหกรรม หรือในมิติการพัฒนาภูมิภาค ขณะนี้แม้ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังมีขนาดใหญ่ แต่ทุกคนเป็นห่วงเรื่องคุณภาพ และความสามารถในการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อเราติดอยู่กับกับดักรายได้ปานกลาง และกำลังเผชิญกับปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจในอัตราที่ต่ำลงมาก

คราวที่แล้วเราพูดถึงSilicon Valley ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ทางด้านนวัตกรรมที่โดดเด่น และประสบความสำเร็จของอเมริกาหรือของโลกนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลอกเลียนแบบไปใช้กันในประเทศอื่น และให้ประสบความสำเร็จยั่งยืนระยะยาวได้อย่างต่อเนื่อง เหมือนที่เกิดขึ้นที่นั่น หรือกรณี Industrial district ของอิตาลี ที่มักจะมีการกล่าวถึง เวลาประเทศกำลังพัฒนามองหาต้นแบบ ประเทศไทยอาจจะมีอุตสาหกรรมที่กระจุกตัว ในพื้นที่ หรือจังหวัด หรือในนิคมอุตสาหกรรม แต่นั่นไม่ใช่คลัสเตอร์เหมือนที่ Silicon Valley เป็น

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เคยมีความเชื่อ และความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับ Silicon Valley ซึ่งมีนัยในเชิงนโยบายว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ไม่ใช่เรื่องยากเย็น สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาข้ามคืน โดยมักจะยกตัวอย่างของการเกิดหรือการก่อตัวของ Silicon Valley เปรียบเสมือนเป็น Cowboy Capitalism เพราะที่นี่ล้าหลังเป็น Frontier ที่คนมาบุกเบิกจับจองที่ดินมาขุดทอง ไม่มีวัฒนธรรมไม่เหมือนชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา ความเชื่อเช่นนี้เกิดจากความเข้าใจผิดของที่มาของ Silicon Valley ซึ่งจริงๆ แล้วมีวิวัฒนาการมาค่อนข้างยาวนาน

ส่วนใหญ่แล้วโลกรู้จัก Silicon Valley เมื่อภูมิภาคนี้เริ่มโด่งดังเต็มที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รู้จักกันมากๆ น่าจะเป็นในช่วงทศวรรษ 70 เมื่ออเมริกาเป็นผู้นำของโลกในอุตสาหกรรม semi-conductor การผลิต IC หรือ Integrated Circuit อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ โลกรู้จัก Intel รู้จัก Apple ของ Steve Jobs ที่ผลิต Computer ส่วนบุคคล เป็นรายแรกของโลก ในช่วงกลางทศวรรษ 70 หรือย้อนกลับสักสองสามทศวรรษ คือราวทศวรรษ 1950 โลกรับรู้ว่าWilliam Shockley ซึ่งเป็นผู้ร่วมคิดประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ ที่ Bell Lab ในปี ค.ศ.1947 นั้น ได้มาตั้งบริษัทผลิตทรานซิสเตอร์ที่ Palo Alto ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย Stanford และตามมาด้วยการแตกแขนงของบริษัท Fairchild ที่ผลิต semi-conductor เชื่อกันว่านี่คือจุดหักเหที่สำคัญหลังสงครามของการเติบโต ถ้าให้ถูกต้องขึ้นไปอีก ก็จะมีคนพูดถึงกำเนิดของ Silicon Valley เมื่อบริษัท Hewlett Packard ก่อตั้งขึ้นในปี 1938 และบริษัท Varian และสหาย ซึ่งสองบริษัทนี้ จะได้รับการฟูมฟัก (หรือการเป็น Incubator) โดยมหาวิทยาลัย Stanford ในบริบทนี้ การเติบโตของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์รอบๆ มหาวิทยาลัย Stanford ถูกมองว่ามีรากเหง้ามาจากวิสัยทัศน์ของ Frederick Terman ซึ่งเป็นคณบดีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Stanford ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ คือการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะทางด้านทุนวิจัย และการจัดซื้อสำหรับกิจการทหาร

อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่ใช่ภาพที่สมบูรณ์ในเชิงวิวัฒนาการของ Silicon Valley โดยเฉพาะเมื่อเราคำนึงถึงประเด็นสำคัญที่ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นเรื่องของการสะสมองค์ประกอบพื้นฐานหลายอย่างที่ใช้เวลา ในกรณีนี้ประเด็นสำคัญที่ไม่ได้พูดถึงคือการเกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินมาต่อเนื่องของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มมีความเข้มแข็งในย่านอ่าวซานฟรานซิสโกมาก่อนหน้าหลายสิบปี เพราะฉะนั้น Hewlett Packard และ Varian รวมทั้ง Fairchild ไม่ใช่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์แรกๆ ที่เกิดขึ้นแถวๆ มหาวิทยาลัย Stanford

ที่สำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณอ่าวซานฟานซิสโกในช่วงนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเกิดนวัตกรรมที่สำคัญในสาขาวิทยุ โทรทัศน์ และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในการทหาร เช่น ระบบวิทยุ โทรเลข พัฒนาการของหลอดสุญญากาศ การต่อสู้กับการผูกขาดของ RCA พัฒนาการของโทรทัศน์อิเล็กทรอนิกส์ในซานฟรานซิสโก การเป็นผู้นำ วิทยุคลื่นสั้น หรือการพัฒนาเสาอากาศเรดาร์ รวมทั้งเครื่องอัดเสียง เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญที่เกิดในช่วงนี้ก็คือ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาในทุกๆ ด้าน เมื่อลงมาทางใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโก (เช่น San Mateo County, Santa Clara County และ San Jose) แม้จะมีขนาดที่เล็กกว่า เช่น ความสำคัญของการจัดหาเงินทุนจากท้องถิ่น ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างบริษัทหรืออุตสาหกรรมท้องถิ่น กับสถาบันการศึกษาในย่านนั้น ลักษณะของสินค้าหรือผลผลิตที่เน้นสินค้าประเภทส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การผลิต อุปกรณ์การสื่อสารขั้นสูง อิเล็กทรอนิกส์สำหรับกิจการทหาร และที่สำคัญมากคือ ความร่วมมือระหว่างบริษัท การยอมรับ การแตกแขนงของกิจการ ความเป็นอิสระที่ไม่อยู่ภายใต้การบงการของอิทธิพลของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ รวมทั้งสถาบันการเงินทางภาคตะวันออกของสหรัฐฯ สิ่งที่ปรากฏเป็นเอกลักษณ์เด่นๆ ของ Silicon Valley ในช่วงหลังนั้น นักวิชาการ ที่ทำวิจัย ในเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ทั้งหมดนี้ได้เกิดขึ้นแล้วที่บริเวณนี้ในแถบอ่าวซานฟรานซิสโกในช่วงค.ศ.1910-1940 หรือประมาณ ครึ่งศตวรรษก่อนยุคที่โลกรู้จัก Silicon Valley

ทั้งหมดนี้มันบอกให้โลกรับรู้ว่า การเป็นคลัสเตอร์ทางนวัตกรรมที่ยั่งยืนแบบ Silicon Valley ให้ได้นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหมือนที่ทำในประเทศไทย จริงๆ แล้ว Silicon Valley สามารถมองได้เป็นทั้ง network ทางด้านการผลิต เป็นระบบนิเวศหรือ eco-system เป็นทุนทางสังคม