ปมความเหลื่อมล้ำ ค่าจ้างลูกจ้างเอกชนไทย

ปมความเหลื่อมล้ำ ค่าจ้างลูกจ้างเอกชนไทย

“ค่าจ้าง” เป็นแหล่งรายได้สำคัญของครัวเรือนไทย โดยเฉพาะกับครอบครัวที่ไม่มีเงินทุน หรือไม่สามารถเข้าถึง

แหล่งเงินทุน เพื่อประกอบกิจการของตนเอง โดยในปี 2556 รายได้ของครัวเรือนไทยเกือบครึ่งมาจากค่าจ้าง รองลงมาเป็นรายได้จากกิจการนอกภาคการเกษตร (ร้อยละ 21) รายได้จากกิจการภาคการเกษตร (ร้อยละ 12) ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ร้อยละ 10) และเงินโอน (ร้อยละ 9) ตามลำดับ

ที่ผ่านมา ผู้มีรายได้จากค่าจ้าง อย่างกลุ่มลูกจ้างเอกชนไทยนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การเลือกเป็นแรงงานหรือลูกจ้างเอกชน กลายเป็นทางเลือกในการเข้าสู่กำลังแรงงานของคนกว่า 12.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของลูกจ้างในช่วงหลังปี 2552 นั้น เกิดจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกจ้างนอกระบบ ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กองทุนประกันสังคม และไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลโดยนายจ้าง

แนวโน้มอีกประการสำคัญของโครงสร้างของลูกจ้างไทยขณะนี้คือ กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากลูกจ้างใช้แรงงานเป็นหลัก มาเป็นลูกจ้างในภาคบริการหรือทำงานนั่งโต๊ะมากขึ้น สังเกตได้จากในกลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในวัยเกษียณ โดยมากมีการศึกษาน้อยกว่ามัธยม ในขณะที่กลุ่มลูกจ้างที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีนั้น กว่าร้อยละ 76 มีการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมเป็นต้นไป

ค่าจ้างคนทำงานแตกต่างกันเพราะเหตุใด?

ผู้เขียนได้ศึกษาความเหลื่อมล้ำ ในค่าจ้างของลูกจ้างในแต่ละกลุ่มระดับการศึกษา ได้แก่ กลุ่มลูกจ้างที่มีการศึกษาน้อยกว่าระดับมัธยมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาเป็นต้นไป ตามลำดับ โดยเลือกนำผลการศึกษาบางประการที่น่าสนใจ มาอภิปรายให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ ดังนี้

ในกลุ่มลูกจ้างระดับการศึกษาน้อยกว่ามัธยมศึกษา ปัจจัยกำหนดความแตกต่างในค่าจ้างที่สำคัญที่สุดคือ ปัจจัยด้านพื้นที่ หมายความว่า ความต่างของค่าจ้างขึ้นกับว่า ลูกจ้างทำงานอยู่ในพื้นที่ใด หากอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจดี ก็จะได้รับค่าจ้างสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยนี้แม้จะมีความสำคัญมากที่สุดในการอธิบายความเหลื่อมล้ำ แต่ก็มีแนวโน้มลดลง เนื่องมาจากนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทั่วประเทศ ที่ทำให้ความแตกต่างระหว่างพื้นที่ทุเลาลงไปบ้าง จากเดิมที่แต่ละจังหวัดมีค่าจ้างขั้นต่ำแตกต่างกัน

ปัจจัยที่สำคัญรองลงมา ที่ทำให้ค่าจ้างภายในกลุ่มลูกจ้างการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาแตกต่างกันมาก คือ ปัจจัยเรื่องเพศ ด้วยลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังแรงงาน การเปลี่ยนแปลงค่าจ้างในอนาคต หรือการเลื่อนขั้นเงินเดือนระหว่างคนงานระดับล่าง อาจมีอคติทางเพศแฝงอยู่ ซึ่งเอื้อให้ลูกจ้างชายมีแนวโน้มที่จะได้รับค่าจ้างหรือการเลื่อนเงินเดือนสูงกว่าเพศหญิง ที่มีข้อเสียเปรียบทางเพศสภาพ

สำหรับกลุ่มลูกจ้างการศึกษาระดับมัธยมฯ ปัจจัยกำหนดความแตกต่างในค่าจ้างมากที่สุดเป็นปัจจัยเรื่องลักษณะงานในหรือนอกระบบ ซึ่งการที่ลูกจ้างการศึกษาระดับนี้ได้ทำงานในบริษัทหรือองค์กรที่เป็นทางการ จะได้รับค่าจ้างสูงกว่าลูกจ้างที่ทำงานนอกระบบ ราวร้อยละ 20-25 ในขณะที่การทำงานในระบบของลูกจ้างระดับการศึกษาอื่นๆ จะได้รับค่าจ้างมากกว่าลูกจ้างทำงานนอกระบบ สูงสุดไม่เกินร้อยละ 21.5 การมีงานทำในระบบนี้เองจึงมีความสำคัญมากกับลูกจ้างทุกระดับการศึกษา โดยเฉพาะระดับมัธยม

สำหรับความเหลื่อมล้ำในกลุ่มลูกจ้างการศึกษาระดับสูงกว่ามัธยมนั้น นอกจากความสำคัญของจำนวนปีการศึกษา การมีวุฒิปริญญาตรี โท เอก และประสบการณ์การทำงานจะมีความสำคัญมากแล้ว ผลด้านปัจจัยรายได้ของครอบครัว ก็มีผลต่อความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างลูกจ้างการศึกษาระดับบนมากที่สุด เมื่อเทียบกับผลต่อค่าจ้างของลูกจ้างระดับการศึกษาอื่น และมีแนวโน้มจะมีผลมากขึ้น

ข้อค้นพบนี้มีนัยต่อความเหลื่อมล้ำในแง่ที่ว่า หากแรงงานถูกเลี้ยงดูเติบโตในครอบครัวที่มีฐานะ ด้วยระดับการเลี้ยงดูเอาใจใส่และมีโภชนาการที่ดี การเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี และการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่า เหล่านี้อาจนำไปสู่ระดับค่าจ้างที่สูงกว่าลูกจ้างที่เติบโตมาจากครอบครัวรายได้น้อยในอนาคตได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของตลาดแรงงานลูกจ้างระดับสูง ที่มีส่วนผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำให้คงอยู่ต่อไปได้

กล่าวโดยสรุป ในช่วงที่ผ่านมาแนวโน้มของค่าจ้างลูกจ้างเอกชนไทยโดยรวม มีความเหลื่อมล้ำลดลง สาเหตุประการสำคัญอาจมาจากการดำเนินนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ และผลกระทบทางอ้อมจากการปรับเงินเดือนลูกจ้างปริญญาตรีจบใหม่ ในภาคราชการให้เป็น 15,000 บาท ทำให้ลูกจ้างในภาคเอกชนบางส่วน ได้รับประโยชน์ไปด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้แนวโน้มความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ ได้แก่ ปัจจัยด้านเพศในตลาดแรงงานระดับล่าง แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของลูกจ้างนอกระบบ และผลของรายได้ครอบครัวต่อความเหลื่อมล้ำในค่าจ้าง

ประเด็นต่างๆ ของผลการศึกษา ยังชี้ให้เห็นถึงช่องว่างเชิงนโยบาย ในการปรับปรุงความเท่าเทียมทางรายได้ในตลาดแรงงานให้เกิดขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตลูกจ้าง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานหญิงระดับล่าง ที่ไม่ได้รับโอกาสในการเพิ่มรายได้เทียมเท่าแรงงานชาย รวมถึงแรงงานนอกระบบ ที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานในระบบ และกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งในประเด็นนี้นอกจากจะมีผลต่อความเหลื่อมล้ำแล้ว อาจจะส่งผลต่อมิติการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย

-----------------------

ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์