กองทัพพม่าพร้อมถ่ายโอนอำนาจ ให้กับอองซานซูจีแค่ไหน?

กองทัพพม่าพร้อมถ่ายโอนอำนาจ ให้กับอองซานซูจีแค่ไหน?

ผู้นำทหารพม่าจะเอายังไงกับอองซานซูจี เมื่อเธอมี “อาณัติ” จากประชาชน

จากผลการเลือกตั้งอย่างล้นหลาม?

ซูจีประกาศว่าพร้อมจะนั่งลงคุยกันกับผู้นำกองทัพ เพื่อนำพาประเทศเพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น

และเธอก็ยอมรับว่าการจะเดินหน้าต่อไปไม่มีทหารมาร่วมด้วยไม่ได้

ผู้นำทหารสูงสุดคนปัจจุบันของพม่าคือนายพลมินอ่องหลาย ปกติจะไม่ปริปากแสดงความเห็นเรื่องอย่างนี้กับสื่อ

แต่วันก่อนนักข่าวหนังสือพิมพ์ Washington Post ที่ชื่อ Lally Weymouth ซึ่งสัมภาษณ์อองซานซูจีก่อน และได้ถาม-ตอบกับนายพลมินอ่องหลายด้วยบอกว่าผู้นำทหารคนนี้บอกว่า พร้อมจะพูดจากับอองซานซูจี และเคารพในผลของการเลือกตั้ง

ผมอ่านคำถามคำตอบระหว่างนักข่าวฝรั่งกับนายพลพม่าคนนี้แล้ว ก็ยังเห็นว่ามีอะไรที่ต้องทำความเข้าใจระหว่างสองฝ่ายอีกไม่น้อย

โดยภาษาทางการ นายพลมินอ่องหลายบอกว่าพร้อมจะพูดคุย แต่เป็นคำตอบสั้น ๆ ห้วน ๆ ที่ไม่ได้สะท้อนถึงความพร้อมใจเต็มที่นัก

เรียกว่ายังกั๊ก ๆ อะไรอยู่หลายอย่าง

ถามว่าจะพบกับอองซานซูจี เพื่อพูดจาเรื่องการถ่ายโอนอำนาจ จากทหารไปสู่พรรค NLD เมื่อไหร่?

เขาบอกว่าในเดือนธ.ค.นี้ คือเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการนับคะแนนของ กกต. แล้ว

ซูจีเองบอกกับนักข่าวคนเดียวกันนี้ว่าได้ขอนัดพบกับนายพลมินอ่องหลาย และประธานาธิบดีเต็งเส่งแล้ว ยังไม่ได้คำตอบ หรือพวกเขาจะรอ 45 วันเพื่อให้เสร็จพิธีกรรมการนับคะแนนก่อนหรือเปล่าไม่ทราบ เธอตั้งข้อสังเกต

ผมก็ได้แต่สงสัยว่าจำเป็นอะไรที่จะต้องรอให้ กกต. ทำงานเสร็จ ในเมื่อทุกฝ่ายก็ยอมรับผลการเลือกตั้ง ไม่มีการร้องเรียนว่ามีประเด็นอะไรที่จะทำให้ต้องคิดว่าผลจะออกมาเป็นอย่างอื่น

ความจริง ผู้นำทหารพม่าที่ได้ออกมาแสดงความยินดีกับชัยชนะของเธอ แล้วก็น่าจะนัดหมายพูดจากันแม้จะไม่เป็นทางการ เพื่อปูทางไปสู่การสร้างความปรองดองในประเทศ

แต่เมื่อมีการรีรออย่างนี้ก็ยังต้องวิเคราะห์ต่อว่านายพลทั้งหลายกำลังจะ ตั้งหลักหรือ จัดระเบียบแห่งโครงสร้างอำนาจใหม่อย่างไร

นักข่าวถามว่าทหารทำงานร่วมกับอองซานซูจีได้ไหม?

นายพลมินอ่องหลายตอบสั้น ๆ ว่า : “ทำไมจะไม่ได้”

ถามว่าทหารไว้วางใจอองซานซูจีหรือไม่?

เขาตอบว่า “ถ้าเป็นผลดีต่อประเทศ เราก็ทำงานร่วมกันได้ การจะร่วมมือกันมีหลายวิธี”

ทหารจะปรองดองกับซูจียากหรือไม่?

ถ้าเป็นผลดี เราก็เจรจาต่อรองกันได้

ถามว่าเขาพร้อมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 59F เพื่อให้ซูจีสามารถเป็นประธานาธิบดี หลังจากผลการเลือกตั้งให้พรรคเธอชนะท่วมท้นหรือไม่?

นายพลมินอ่องหลายหลบหลีกไปตอบว่า

“ผมตัดสินคนเดียวไม่ได้ ภายใต้มาตรา 12 รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินเรื่องจะแก้ไขหรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง”

ถามต่อว่าส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่? ที่นั่งในสภาร้อยละ 25 เป็นโควตาของทหาร แต่เมื่อซูจีได้เสียงประชาชนล้นหลามอย่างนี้ จะไม่ยุติธรรมหรือที่เธอควรจะได้เป็นประธานาธิบดี?

นายพลตอบว่า กฎหมายของเราไม่ได้ออกมาเพื่อคนใดคนหนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกระบวนการที่วางเอาไว้

ถามต่อว่า “อย่างนี้แปลว่าท่านไม่เห็นด้วยใช่ไหม ท่านเซย์ No ใช่ไหม ท่านไม่ต้องการเห็นเธอเป็นประธานาธิบดีใช่ไหม?”

เขาตอบว่า “เปล่า ผมไม่ได้เซย์ No นี่เป็นเรื่องของกฎหมาย”

จับน้ำเสียงและเนื้อหาของการสัมภาษณ์อย่างนี้แล้ว ยังต้องถือว่าสถานการณ์การเมืองของพม่ายังอยู่ในจุดเปราะบาง และแต่ละย่างก้าวจากนี้ไปยังต้องวิเคราะห์อย่างถ้วนถี่กันต่อไป