"ล็อบบี้" ผลประโยชน์ไทยในอียู

 "ล็อบบี้" ผลประโยชน์ไทยในอียู

เมื่อพูดถึง “การล็อบบี้” ผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือผลประโยชน์และภาพลักษณ์ของประเทศ หลายคนอาจนึกไปเชิงลบก่อน

แต่อันที่จริงในยุโรปเรื่องการล็อบบี้ของประเทศ รวมทั้งกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ กับสถาบันและองค์กรอียูให้ทำกันอย่างโปร่งใสและเป็นระบบ โดยเฉพาะที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงแห่งยุโรป อันเป็นศูนย์กลางการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และการกำหนดนโยบายสำคัญต่างๆ ของสหภาพยุโรปหรืออียู การล็อบบี้กลายเป็นกิจกรรมประจำวัน ที่เจ้าหน้าที่ กลุ่มธุรกิจ และอุตสาหกรรมต้องดำเนินการ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจและประเทศของตน ก่อนที่กฎหมายหรือกฎระเบียบอียู จะปรับใช้แล้วสายเกินแก้

ที่กรุงบรัสเซลส์ มีกลุ่มล็อบบี้ยีสต์อยู่หลายหมื่นคน ทำงานใกล้ชิดกับสถาบันหลักและองค์กรต่างๆ ของอียู มีทั้งล็อบบี้ยีสต์ที่ทำงานเป็นผู้แทนของประเทศต่างๆ เพื่อคอยติดตาม จับตา และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศเหล่านั้นในอียู รวมทั้งผู้แทนของสมาคมธุรกิจการค้า กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มองหาตลาดอียูหรือติดตามกฎระเบียบอียู เพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจตน ยิ่งเป็นบริษัทเอกชน MNCs ใหญ่ระดับนานาชาติแล้ว ผู้แทนประจำบรัสเซลส์เป็นเรื่องจำเป็นมาก

ล็อบบี้ยีสต์เหล่านี้ที่ทำหน้าที่ติดตามข่าวสารทั้งวงนอกและวงในของอียู เกี่ยวกับการแก้ไข ปรับเปลี่ยนกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อแจ้งเตือนให้กลุ่มของตนทราบล่วงหน้า เพื่อการเตรียมปรับตัว หรือเข้า engage หารือกับเจ้าหน้าที่เพื่อปรับเปลี่ยนหรือแก้ร่างกฎหมายกฎระเบียบ ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจตนมากที่สุด ก่อนที่กฎหมายจะปรับใช้อย่างเป็นทางการ หรือแม้แต่ทำหน้าที่เข้าหารือ พูดคุย สร้างความกระจ่างเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศนั้นๆ

อียูเป็นองค์กรใหญ่ ทำงานเสมือนเครื่องจักรใหญ่ที่มีความซับซ้อน แม้กระบวนการกำหนดนโยบายและการออกกฎระเบียบจะซับซ้อน แต่ก็เปิดกว้างรับความคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำมากำหนดทิศทางกฎหมายและนโยบายต่างๆ ได้อย่างโปร่งใสและเป็นระบบ ในช่วงของกระบวนการร่างกฎหมายและกฎระเบียบ คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ยกร่างกฎหมายเพื่อส่งไปให้สภายุโรป และคณะมนตรียุโรปพิจารณาอนุมัติ จะเปิดกระบวนการปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ที่เรียกว่า stakeholder consultation ทั้งจากภายในอียูเอง และจากประเทศที่สาม โดยช่องทางนี้เองเป็นช่องที่กลุ่มล็อบบี้ยีสต์ทั้งหลาย ใช้เป็นโอกาสในการโน้มน้าวทิศทางกฎหมายและนโยบายของอียู

เมื่อเกมการล็อบบี้ในอียูเป็นลักษณะนี้แล้ว กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สามารถจ้างล็อบบี้ยีสต์ หรือมีผู้แทนที่กรุงบรัสเซลส์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง มีการติดต่อใกล้ชิดและเข้าถึงเจ้าหน้าที่อียู สามารถรู้ข่าววงในของอียูได้ก่อน ก็จะมีโอกาสปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนได้ดีกว่า เพราะมีโอกาสหว่านล้อมและให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่อียูที่ได้ก่อน นอกจากกลุ่มธุรกิจแล้ว กลุ่ม NGOs ในยุโรปก็มีเสียงดัง และ active มากในการล็อบบี้อียู โดยเฉพาะกับสภายุโรปที่สนใจประเด็นด้านสังคม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองผู้บริโภค สวัสดิภาพสัตว์ หรือสิ่งแวดล้อม เป็นพิเศษ

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการล็อบบี้คือ ข้อมูลที่ใช้ประกอบการล็อบบี้อียูต้องแน่น และเป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับการสนับสนุนด้วยสถิติหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งกฎหมายและกฎระเบียบอียูเป็นเรื่องเทคนิค ดังนั้น กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ จึงต้องจ้างล็อบบี้ยีสต์เพื่อเป็นหูเป็นตา และตระเตรียมข้อมูลเหล่านี้ให้ครบถ้วน หลายครั้งการล็อบบี้ต้องดำเนินการในลักษณะการสร้างพันธมิตรของกลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มประเทศ เนื่องจากจะมีน้ำหนักมากขึ้นในการหารือกับอียู โดยเฉพาะหากร่วมกับประเทศใหญ่ๆ

ประเด็นที่กลุ่มล็อบบี้ยีสต์ของธุรกิจยุโรป ดำเนินการอยู่ครอบคลุมทุกธุรกิจอุตสาหกรรม ตั้งแต่เรื่องการค้า โควตา การบิน เคมี สิ่งทอ เกษตรและอาหาร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่ก็คอยมีกลุ่มล็อบบี้ยีสต์ NGOs คอยจับตาประเด็นด้านสังคมอื่นๆ มิให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจครอบงำ จนผลประโยชน์โดยรวมของผู้บริโภคและประชาชนถูกลืม

ท่ามกลางกระแสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก หลายต่อหลายครั้งที่ประเทศไทยรู้ล่วงหน้าล็อบบี้ได้ แต่การตัดสินใจไม่เด็ดขาดหรือเชื่องช้าเกินไป ธุรกิจยุคใหม่ต้องปรับตัวให้ทัน ต้องดำเนินธุรกิจแบบโปรแอ็คทีฟ หากรอให้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ปรับออกมาใช้แล้ว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจตน แล้วก็สายเกินแก้ หากธุรกิจไทยคิดแบบก้าวหน้า กล้าได้กล้าเสี่ยง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการล็อบบี้อียู เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจไทยจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำให้ทัดเทียมนานาชาติ

ล่าสุด ระหว่างวันที่ 4-15 มกราคม ปีหน้า Master of Arts in European Studies จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดคอร์สสั้นสอนรวบรัดเรื่อง EU Lobbying โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสหภาพยุโรป บุคคลทั่วไปสนใจเข้าร่วมได้ แต่มีค่าใช้จ่าย หากสนใจติดต่อสอบถามข้อมูลที่ อีเมล [email protected] โทร.0-2218-3924

ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทย ที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd