คนผิดต้องถูกลงโทษ?

คนผิดต้องถูกลงโทษ?

คำพิพากษาศาลแพ่งตัดสิน คดีสาวซีวิค น.ส.แพรวา หรือ อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา

 ให้จ่ายค่าเสียหาย 30 ล้านบาท แก่ญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 9 รายและผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 4 คน กรณีขับรถเก๋งเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารพลิกคว่ำ บนทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยให้สังคมเกิดความสบายใจ และเพิ่มความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้อีกระดับหนึ่ง 

000 ก่อนหน้านั้นหลายฝ่ายกังวลว่าคดีจะไม่คืบหน้า เพราะรอคอยกันมาจนถึงวันนี้เหลืออีกเพียง 20 กว่าวันก็จะครบ 5 ปีเต็ม  อีกทั้งก่อนหน้านั้นโทษประมาทของ“สาวซีวิค”ยังถูกรอลงอาญา ซึ่งแม้ว่าจะมีคำอธิบายชัดว่าขณะนั้นผู้กระทำความผิดยังเป็น“เยาวชน” แต่ก็อดที่จะสร้างความกังวลไม่ได้

000 หากย้อนไปดูโลกโซเชียลเมื่อ 5 ปีก่อน จะเห็นหลากหลายความเห็นที่สะท้อนความไม่พอใจ ทั้งประเด็นการขับรถประมาท การดูแลของผู้ปกครอง การปกป้องและขอความเห็นใจให้กับผู้กระทำความผิดจนขัดความรู้สึกผู้สูญเสีย รวมทั้งเกิดวลีในทำนองว่า “คุกมีไว้ขังเฉพาะคนจน”

000 วันนี้หลายคนเห็นตัวเลข 30 ล้านบาท อาจมองเป็นเงินมากมายมหาศาล แต่การจะบอกว่ามากหรือน้อยอย่างไรเป็นเรื่องที่พูดลำบาก เพราะชีวิตคนไม่สามารถประเมินเป็นราคาค่างวดได้ และจำนวนเงินที่เห็นว่าเป็นก้อนใหญ่นั้นจะต้องแบ่งปันให้กับผู้เสียหายที่ร่วมกันฟ้องร้องถึง 28 คน

000 เป็นเงินที่ต้องแบ่งปันกันไปตั้งแต่รายละ 4 พันบาท ไปจนสูงสุด 1.8 ล้านบาท...ที่แน่นอนว่าบรรดาญาติผู้เสียชีวิตมองว่าเป็นเงิน“น้อยนิด”เมื่อเทียบกับความสูญเสีย โดยเฉพาะเป็นความเสียหายที่เกิดจากความประมาท และตัวเลขยังห่างไกลจากที่มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายไปกว่า 100 ล้านบาท

000 แม้ว่าบรรดาญาติพี่น้องจะยืนยันเคารพคำตัดสินของศาล แต่ก็มีแนวโน้มที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามกระบวนการยุติธรรม เพราะทีมทนายความนัดหารือกันในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ คงจะมีการตัดสินใจว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์หรือไม่ หรือจะยื่นอุทธรณ์ในประเด็นใด...เช่นเดียวกับฝ่ายจำเลยที่คงจะยื่นอุทธรณ์เช่นกันเพื่อยืดเวลาการจ่ายค่าเสียหายออกไป

000 2-3 วันก่อนมีการลงนามขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้กับผู้รับจ้างออกไปอีก 387 วัน ก่อนที่จะครบกำหนดสัญญาเพียงวันเดียวในวันที่ 24 พ.ย. เป็นการตัดสินใจกล้าหาญของ น.ส.สายทิพย์ เชาวลิตถวิล ว่าที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่อยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นตามมา

000 เพราะเห็นชัดว่าที่ผ่านมาฝ่ายรัฐเองมีปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ และการขนดินออกจากเขตก่อสร้าง ที่ฝ่ายผู้รับจ้างชี้ว่าเฉพาะประเด็นหลังส่งผลให้เกิดความล่าช้าอย่างน้อย 6 เดือน หรือราว 180 วัน ที่สำคัญการขอพูดคุยเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาก็ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร 

000 ต่างจากปากคำของนายจเร พันธ์เปรื่อง เมื่อขณะยังอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะถูกสอบผิดวินัยร้ายแรง ระบุว่าบริษัทผู้รับเหมาไม่ตั้งใจก่อสร้างจนเป็นเหตุของความล่าช้า โดยไม่ได้เอ่ยว่าในส่วนฝ่ายราชการเองมีความบกพร่อง หรือข้องขัดอย่างไรตามเงื่อนไขสัญญาหรือไม่  

000 สิ่งที่รัฐบาลต้องขบคิดจากนี้ไป สัญญาที่ขยาย 387 วัน เป็นการขยายเวลาเพื่อลงมือดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งหมายถึงทุกอย่างจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนธ.ค.2559 ในขณะที่เจ้าของที่ดินผืนใหญ่

โรงเรียนโยธินบูรณะ” บอกว่าจะส่งมอบพื้นที่ราวเดือนก.ย.2559 หลังนักเรียนสอบปลายภาค 

000 เหลือเวลาให้งานก่อสร้างโครงการรัฐสภา“หมื่นล้าน” ที่ยังมีงานค้างอีก 80-90% ดำเนินการต่อภายในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน...งานนี้ไม่เพียงจะทำให้การก่อสร้างอาคารรัฐสภากลายเป็นมหากาพย์ แต่ยังส่อว่าจะต้อง“เสียเงิน”จ่ายค่าเสียหายกว่าพันล้านบาทตามที่ฝ่ายเอกชนเรียกร้อง

000 ทั้งหมดนี้คงไม่สามารถปล่อยผ่าน ต้องมีการพิจารณาว่าการบริหารงานที่ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย เกิดขึ้นตรงจุดไหน อย่างไร และ“เพราะใคร” รวมทั้งต้องลงลึกด้วยว่าเป็นการบกพร่องโดยสุจริตมากน้อยแค่ไหน !!!

.........................................

นฤพีร์ เพชรดล [email protected]