ทำไมคนไทยต้องสนใจ COP21 ที่ปารีส หลังเกิดเหตุร้าย?

ทำไมคนไทยต้องสนใจ COP21 ที่ปารีส หลังเกิดเหตุร้าย?

หลังผู้ก่อการร้ายโจมตีปารีสเมื่อวันที่ 13 พ.ย. นับจากวันนี้อีกห้าวัน

 เมืองหลวงของฝรั่งเศส ก็จะเป็นจุดสนใจระดับโลก แต่เป็นหัวข้อเรื่อง “ภาวะโลกร้อน” ครั้งสำคัญที่เรียกว่า COP21 (Conference of the Parties) ว่าด้วยภาวะโลกร้อน ที่จะมีผลต่อทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทยเราด้วย

ผมเจอผู้บริหารระดับโลกหลายคนที่มาร่วมประชุม One Young World ที่กรุงเทพฯเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ต่างก็ล้วนบอกว่าจะไปประชุม COP21 กันทั้งนั้น

พวกเขาบอกตรงกันว่ายิ่งปารีสถูกคุกคามโดยผู้ก่อการร้ายอย่างนี้ ยิ่งต้องไปแสดงตนเพื่อประสานพลังให้เห็นกันในระดับโลก และตอกย้ำว่าภัยคุกคามทาง “ภาวะโลกร้อน” ก็ไม่ได้น่ากลัวน้อยไปกว่าความรุนแรงจากการก่อการร้ายด้วยซ้ำไป

ข่าวบอกว่านายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชาของไทยก็น่าจะไปร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย เพราะการปรากฏตัวของผู้นำไทย เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาคมโลก ในการเดินหน้าร่วมมือกับทุกประเทศในเรื่องนี้มีความสำคัญต่อสถานภาพของไทยในเวทีสากลอย่างยิ่ง

ว่ากันว่าการประชุม Paris 2015 ครั้งนี้ (ครั้งที่ 21 ในหัวข้อการออกกติกาลดภาวะโลกร้อนที่ทุกสมาชิกสหประชาชาติต้องทำตาม) มีความสำคัญถึงขั้นที่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนการใช้พลังงานทั่วโลกก็ได้

จึงเป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องสนใจเป็นพิเศษ เพราะประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของเราไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย

ชื่อทางการของการประชุมครั้งนี้คือ UN Framework Convention on Climate Change (COP21/CMP11) ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย. ถึง 11 ธ.ค.

จะมีคนไปร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 50,000 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากประเทศสมาชิก 190 ประเทศไม่ว่าจะเป็นตัวแทนรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ เอ็นจีโอและประชาสังคมจากทุกมุมโลก

เป้าหมายหลักของการประชุมยักษ์ครั้งนี้ คือการหาทางบรรลุข้อตกลงใหม่ของชาวโลก เรื่องสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

เป้าหมายคือให้รักษาภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส

ซึ่งแปลว่าทุกคนในทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกัน เช่นการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นน้ำมันและถ่านหิน ที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศจนทำให้โลกร้อนขึ้น

เมื่อประเทศยักษ์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากที่สุดอย่างสหรัฐ จีนและอินเดียพร้อมที่จะนั่งลงเขียนกติการ่วมกัน ก็จะเป็นจุดพลิกผันของการรักษาโลกไม่ให้ร้อนจนเกิดหายนะไปทั่วได้

ถึงขั้นที่ท่านสันตะปาปาเขียนจดหมายกระตุ้นชาวโลกกลางปีนี้ ว่าถ้าไม่ร่วมกันแก้ปัญหา Climate Change โลกจะตกอยู่ในภาวะวิกฤติและอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ได้

นักวิเคราะห์บอกว่าที่การประชุมปารีสครั้งนี้สำคัญอย่างยิ่งก็เพราะเป็น โอกาสสุดท้าย สำหรับประเทศต่าง ๆ ที่จะทำข้อตกลงกันในหัวข้อต่าง ๆ เพื่อให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ไม่มีใครต้องเสียสละแต่เพียงฝ่ายเดียว ที่เรียกว่า win-win สำหรับทุกประเทศนั่นเอง

ที่น่าสนใจคือหลังจากที่ไม่ยอมลงมาพูดจากับประเทศอื่น ๆ ในเรื่องนี้ จีนก็ตัดสินใจว่าจะลงมาเล่นด้วย เพราะหากปักกิ่งซึ่งเป็นประเทศใช้พลังงานที่สร้างปัญหามากกว่าใครอยู่นอกเกมนี้แล้ว การประชุมระดับโลกก็ไม่มีความหมาย

ที่คนไทยจะต้องสนใจมากก็เพราะผลการประชุมครั้งนี้ อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงาน และการใช้พลังงานของโลกในอนาคตที่ไม่ไกลนัก เราจึงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการถกแถลงและหาทางออกร่วมกันอย่างคึกคักและจริงจัง

หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจมากคือ การที่จะโยกเงินสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มาเป็นเงินส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดแทน ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของการแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้เริ่มที่การประชุมสุดยอดที่เรียกว่า Rio Earth Summit ปี 1992 ซึ่งรับรอง UN Framework on Climate Change (UNFCCC) ที่วางกรอบกติกาเพื่อลดผลร้ายของแก๊สเรือนกระจก และมีผลใช้บังคับเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 มี.ค.1994

ถึงวันนี้ UNFCCC เป็นที่รับรองของ 195 ชาติรวมทั้งไทยแล้ว

ต่อมา การประชุมประจำปีของ Conference of Parties (COP) ก็เพื่อทบทวนว่าได้มีการนำเอาข้อตกลงนี้ไปใช้ในทางปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน ใครทำจริง ใครยังไม่ทำ เพราะอะไร และจะหาทางให้มีการปฏิบัติจริงอย่างไร

การประชุม COP ประจำปีครั้งแรกจัดที่เบอร์ลินในปี 1995 หลังจากนั้นการประชุมที่เป็นข่าวใหญ่ก็คือ COP3 ที่โตเกียวซึ่งลงนาม Kyoto Protocol อันเป็นพิธีสารที่ลงรายละเอียด ว่าใครต้องร่วมรับผิดชอบลดการใช้พลังงาน ที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

COP11 ที่มอนทรีลจบลงด้วยแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า Montreal Action Plan

VOP15 จัดที่โคเปนเฮเกนเชื่อมต่อจาก Kyoto Protocol ที่ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร

COP17 ที่เดอร์บันก่อเกิดกองทุนสีเขียวหรือ Green Climate Fund ขึ้น

ปีนี้ COP21 หรือที่เรียกกันว่า 2015 Paris Climate Conference จะมีความสำคัญเป็นพิเศษตรงที่ว่า

จะเป็นครั้งแรกในกว่า 20 ปีของการเจรจาในกรอบสหประชาชาติ ที่จะให้มีข้อตกลงทางการเป็นลายลักษณ์อักษร ที่สมาชิกทุกประเทศต้องทำตามเพื่อลดภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส

ใครปล่อยแก๊สที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมาก็ต้องจ่ายภาษีมาก!

ฟังดูแล้วครั้งนี้หลายฝ่ายเอาจริง และถ้าจีน อเมริกาและอินเดียบอกว่าพร้อมจะเป็นแกนนำของกติกาใหม่นี้ด้วย คนไทยต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนทีเดียว

เพราะภัยพิบัติของโลกจะเป็นจริงถ้าภาวะโลกร้อน มาพร้อมกับความรุนแรงของผู้ก่อการร้าย!