หน้าที่ของ "นักวิชาการ"

หน้าที่ของ "นักวิชาการ"

นักวิชาการควรมีหน้าที่อย่างไร? หากเป็นสังคมแบบ “อนุรักษนิยม”นักวิชาการก็มีหน้าที่ผลิตซ้ำความรู้เดิม

เพื่อตอกย้ำความหมายและคุณค่าของ ความจริง ความดี ความงามชุดเดิมที่ปู่ย่าตายายได้เคยสร้างเอาไว้ให้เพื่อรักษาระเบียบแบบแผนเดิมของสังคมที่เชื่อว่าถูกต้องดีงามเอาไว้ โดยไม่ต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลง หรือพยายามชะลอความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางสังคมและสัมพันธภาพทางอำนาจให้ดำเนินไปอย่างช้าที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

แต่ในสังคมที่คนมีความจำเป็นต้องปรับตัวดังเช่นสังคมไทยในปัจจุบัน การสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และความรู้ความเข้าใจใหม่ที่นักวิชาการได้มานี้เอง ที่ทำให้นักวิชาการมองเห็นปัญหาหรือข้อบกพร่องต่างๆ ในสังคมที่ควรจะได้รับการแก้ไข และจำเป็นต้องเสนอความคิดเห็นบนฐานความรู้ที่ตนเองมีอยู่เพื่อให้สังคมร่วมกันพิจารณา ว่าความรู้หรือความคิดเห็นเหล่านั้นมีคุณค่าหรือประโยชน์หรือไม่ หน้าที่ของนักวิชาการจึงไม่ได้อยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ ที่นักวิชาการจะต้อง "โต้เถียง" กับผู้ใช้อำนาจรัฐ หรือกลุ่มทุนหรือกลุ่มใดๆ ก็ตาม เพื่อหาคำตอบหรือข้อสรุปสำหรับเรื่องต่างๆ เช่น อะไรคือปัญหาสำคัญๆ ที่จะต้องได้รับการแก้ไข อะไรคือสาเหตุหลักๆ ของปัญหา อะไรคือทางออกสำหรับปัญหาเหล่านั้น อะไรคือเป้าหมายที่สังคมควรจะบรรลุถึง และจะบรรลุถึงเป้าหมายเหล่านั้นได้อย่างไร ฯลฯ

เนื่องจากหน้าที่ของนักวิชาการคือการสร้างและเผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมนักวิชาการจึงต้องมีเสรีภาพในการตั้งคำถามและการหาคำตอบ และต้องมีเสรีภาพในการเผยแพร่ความรู้ด้วย เพื่อจะสามารถ “โต้เถียง” กับความคิดเห็นหรือความรู้ชุดอื่นๆ จนเกิดความงอกงามทางวิชาการได้ รวมทั้งมีเสรีภาพในการ “โต้เถียง” กับผู้ใช้อำนาจรัฐว่าสิ่งที่ผู้ใช้อำนาจรัฐกระทำอยู่นั้น ถูกต้องหรือ ถูกทางหรือยัง (เมื่อพิจารณาจากมุมมองทางวิชาการ)

หากปราศจากเสรีภาพ โอกาสที่จะสร้างและเผยแพร่ความรู้เพื่อการปรับตัวของสังคม และเพื่อ “โต้เถียง” กับผู้ใช้อำนาจรัฐก็ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ และสังคมก็จะสูญเสียโอกาสในการพิจารณาคำอธิบายและทางเลือกใหม่ๆ อย่างน่าเสียดาย

ในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่านักวิชาการได้ วิพากษ์วิจารณ์ผู้ใช้อำนาจรัฐมาแล้วทุกชุด แม้แต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การแสดงความคิดเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

เฉพาะในสองทศวรรษที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่าในสมัยที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจ กลุ่มนักวิชาการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (จำนวนไม่น้อยก็เป็นคนหน้าเดิมที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา กล่าวถึง ) ได้จัดสัมมนาเรื่อง "ระบอบทักษิณ" ที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการวิพากษ์ระบอบเศรษฐกิจและการเมืองในยุคของอดีตนายกฯ คนนี้ ก่อนที่จะเกิดขบวนการต่อต้านของกลุ่มพันธมิตรฯ นานมากทีเดียว (โปรดอ่าน ฟ้าเดียวกัน ฉบับที่ว่าด้วย "ระบอบทักษิณ")

ในสมัยที่อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นักวิชาการก็ได้วิพากษ์นโยบาย "จำนำข้าวทุกเมล็ด" ว่าผิดพลาดมาตั้งแต่เริ่มคิด (โปรดดูตัวอย่างบทความที่วิพากษ์นี้ ในบทความของผู้เขียน เรื่อง ความล้มเหลวของการจำนำข้าวทุกเม็ด : การสร้าง " ความต้องการเทียม" ในตลาดที่เปราะบาง)

หากมองย้อนหลังไปในยุคของอดีตนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ก็เคยได้รับการวิจารณ์ว่า ทำงานเสมือน"ปลัดประเทศไทย" (ขอโทษด้วยนะครับ ผมจำชื่อบทความไม่ได้ เพราะนานมากแล้ว) ส่วนในสมัยนายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นั้น แม้ว่านักวิชาการจำนวนมากที่มีบทบาทอยู่ในปัจจุบัน จะยังไม่ได้มีสถานะเป็น "นักวิชาการ" เพราะยังเรียนกันไม่จบ แต่ก็มีนักวิชาการรุ่นใหญ่ที่เวลานี้เกษียณอายุไปแล้ว ได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ หรือวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเอาไว้มากมาย

เพราะนักวิชาการมีความปรารถนา ความหวัง ความฝันร่วมกันที่ต้องการให้สังคมไทยเข้มแข็งและปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องการแสดงความคิดเห็นของตนเองต่อสังคม

บางคนอาจตั้งคำถามว่า ถ้าหากข้อเสนอของนักวิชาการนั้นไม่ได้เรื่อง/ผิดพลาด/หรือมุ่งร้ายต่อสังคม ใครล่ะจะรับผิดชอบ?

อาจารย์ของผมเคยเขียน “คำนำ” ไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า "การวิเคราะห์ใดๆ ที่ถูกถือว่าผิด ก็ไม่ค่อยมีอิทธิพลเท่าไร เพราะจะถูกคนอื่นยกขึ้นมาชำแหละจนกระทั่งหมดอิทธิฤทธิ์ลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ยกเว้นก็แต่ว่า การวิเคราะห์ที่ผิดนั้น ไปสอดคล้องกับผลประโยชน์ของ "อำนาจใหญ่" เข้า ก็จะมีการสร้างกำแพงนานาชนิดขึ้นมาล้อมกรอบการวิเคราะห์นั้น ไม่ให้ถูกโจมตีได้ง่ายๆ...อันตรายไม่ได้เกิดจากการวิเคราะห์เท่ากับการที่ไปแอบอิงอยู่กับ “อำนาจใหญ่...แนวการวิเคราะห์...ที่ห่างไกลจากผลประโยชน์ของรัฐและทุน เสียจนถ้าจะเปรียบเป็นป้อมค่าย ก็เป็นป้อมค่ายสับปะรังเค หากตัวการวิเคราะห์ไม่แข็งแกร่งโดยตัวของมันเอง ก็จะถูกคนอื่นตีล้มไปก่อนที่จะทำความเข้าใจผิดแก่สังคม" (โปรดดู “คำนำ” หนังสือ นิเวศประวัติศาสตร์: พรมแดนความรู้)

การทำงานวิชาการของนักวิชาการจึงถูกสังคมวิชาการด้วยกันตรวจสอบเสมอ ข้อเสนอใดเหลวไหลเลื่อนเปื้อนไม่ได้สติ ก็ย่อมไร้ความหมายไปอย่างรวดเร็ว หากข้อเสนอใดมีความหมายที่จะเกื้อหนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหา หรือการพัฒนาสังคมให้ดำเนินไปสู่สังคมเข้มแข็งและงดงาม ก็ย่อมจะได้รับการนำไปต่อยอดเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าร่วมกัน

ผมต้องขอขอบพระคุณนักวิชาการในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และจากโลกวิชาการต่างประเทศ ที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในการพิทักษ์รักษา "จิตวิญญาณ" ของมหาวิทยาลัย และพื้นที่ทางวิชาการของสังคมไทย ทุกท่านได้พร้อมที่จะแบกรับ "ความเสี่ยง" เพื่อที่จะรักษา "อุดมคติ" ทางวิชาการร่วมกัน นับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างมาก

หากปราศจากพลังของวิชาการ สังคมมนุษย์ก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ และไม่อาจก้าวหน้ามาถึงวันนี้ได้