อะไร? ต้นเหตุยืดเวลาสร้างรัฐสภา

อะไร? ต้นเหตุยืดเวลาสร้างรัฐสภา

“อาคารรัฐสภาแห่งใหม่” บริเวณเกียกกาย มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท

     ที่ ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) แข่งเบียดเอาชนะบริษัทยักษ์อย่าง  อิตาเลียน-ไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เรียกว่าไม่ธรรมดาสำหรับงานประมูลครั้งนี้ ที่ ซิโน-ไทย ได้กลายมาเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับรัฐสภาเมื่อปี 2556 ส่วนจะกำไรหรือขาดทุนยังบอกไม่ได้เวลานี้ 

การได้มางานนี้สำหรับซิโน-ไทย ไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่คิด ว่าจะทำได้ตามสัญญาที่ระบุไว้ภายใน 900 วัน หรือภายใน 24 พ.ย.2558 ที่ผ่านมา แม้ลงมือตอกเข็มมาตั้งเมื่อ 8 มิ.ย.2556

แต่ดูเหมือนยังมีอะไรๆ เป็นปัจจัยที่จะต้องให้แก้ไขอยู่ร่ำไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ ที่ไม่เป็นไปตามกำหนด ยังไม่มีการส่งมอบโรงเรียนโยธินบูรณะและพื้นที่บางส่วน และการจัดหาพื้นที่ทิ้งดิน ที่ยังไม่สามารถจัดการได้ ทำให้มีดินกองอยู่บริเวณก่อสร้างถือเป็นอุปสรรคต่อการเข้าทำงานก่อสร้าง

สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นภาระที่ทำให้ผู้รับเหมาเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้ตามวันเวลา ที่กำหนด แน่นอนการทำสัญญาใดระหว่างรัฐกับเอกชน ความรัดกุมย่อมเกิดขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของเอกชน ย้อนกลับไปดูได้หลายโครงการความเหนือชั้นในสัญญาเอกชนย่อมเหนือกว่ารัฐบาลแน่นอน

เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ วงเงินก่อสร้างเป็นหมื่นๆล้าน ใครๆก็อยากได้พูดง่ายๆมันเป็นชิ้นปลามันเชียวละ สำหรับยักษ์ใหญ่แห่งวงการรับเหมา 

ส่วนงานก่อสร้างที่มันล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนหรือข้อกำหนดตรงนี้ คู่สัญญาอย่างภาครัฐต้องรัดกุม ต้องเข้าใจในปมปัญหา หากออกมานั่ง ร้องแรกแหกกระเชอ ระวังจะเสียเปรียบเอกชนเขา ฉะนั้นใครที่รับผิดชอบโครงการนี้ต้องพลิกดูสัญญาให้แน่ชัดว่ามันเกิดจากอะไร

 งานนี้มีอะไรน่าคิดหลายอย่าง นอกจากส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามข้อสัญญาแล้ว ระหว่างทางยังมีปัญหามากมาย แต่ที่น่าสนใจปมหนึ่ง ที่ทำให้งานนี้ต้องเกิดอาการขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 387 วัน 

เขาว่ากันว่างานนี้...มีปัญหาเรื่องดินเข้ามาเกี่ยวข้องพอสมควร ตามสัญญาดิน ที่ขุดออกมาจากงานก่อสร้าง เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะต้องจัดการออกจากพื้นที่ก่อสร้างเอง ทั้งที่ปกติเรื่องอย่างนี้ ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ผู้รับเหมาดำเนินการ เพราะการจัดการกับดิน ถือเป็นต้นทุนการขนส่ง ที่สำคัญพื้นที่โดยรอบของงานก่อสร้าง ไม่น่าจะรองรับดินที่ขุดขึ้นมาได้ถึง 1 ล้านคิว 

แต่สัญญาก่อสร้างงานนี้้ กลับกลายเป็นสัญญาที่ทำให้เอกชนลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่แน่ใจว่าเป็นสัญญาที่งานก่อสร้างส่วนใหญ่ทำกันหรือไม่

พูดกันหนักถึงขั้นขายดินเกิดขึ้น ทั้งๆที่สัญญาระบุว่าจะบริจาคแต่เหตุไฉนกลายเป็นกลายเป็นมีการซื้อขายเกิดขึ้น ใครควรต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้ 

 ว่ากันว่าตอนนี้ดินส่วนนี้ถูกนำไปขายให้กับเสี่ยจ. ไม่รู้อยากได้ หรือบังคับขาย  ปมปัญหาดิน” จึงกลายเป็นเหตุทำให้งานก่อสร้างล่าช้าไปหลายเดือน งานนี้หากยึดตามข้อสัญญาที่ทำไว้ บอกได้เลยว่า ซิโน-ไทย เหนือชั้นกับความล่าช้าที่เกิดขึ้น   

กระทั่งล่าสุดเหลือดินในพื้นที่ก่อสร้างกว่า 3 หมื่นคิว ทำให้ซิโน-ไทย ควักเงินประมูลไปร่วม7แสนบาท หวังที่จะเคลียร์พื้นที่ก่อสร้าง 

ยิ่งเห็น โชติจุฑา อาจศร กรรมการบริหารกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ออกมาบอกชัดเจน ถึงเหตุผลการขยายเวลาก่อสร้าง ถึงขั้นบอกล่วงหน้าว่ายังสามารถขอขยายเวลาออกไปได้อีก 2 ครั้ง ส่วนครั้งละกี่วันเป็นเรื่องในอนาคต นั่นหมายถึงที่ปรึกษาโครงการรู้ชะตากรรมงานก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นอย่างน่าคิด 

เรื่องนี้ไม่น่าจะจบลงง่ายๆ แว่วๆมาว่า ตอนนี้คู่สัญญาอย่าง ซิโน-ไทย ได้คิดคำนวณผลที่เกิดขึ้นกับงานก่อสร้างที่ผ่านมา นำพาไปสู่การยื่นหนังสือถึงเลขาธิการรัฐสภา เพื่อเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า1,200 ล้านบาท..ซะแล้ว 

งานนี้ มีหวังเสียทั้งเงิน เพิ่มทั้งเวลา อย่างนี้ใคร? ที่ต้องรับผิดชอบ