ฝ่าฟันอุปสรรค ต้องกล้าแกร่ง

ฝ่าฟันอุปสรรค ต้องกล้าแกร่ง

สำนักวิจัยชื่อดังอย่างไอดีซี เผยผลประมาณการใช้จ่ายด้านไอซีที

 ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปี พบการใช้จ่ายไอทีในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป หรือไอที คอนซูเมอร์ในไทยปีนี้มีแนวโน้มลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี หรือโต 2% ต่ำกว่าจีดีพีซึ่งเป็นการลดตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเป็นการสะสมของหนี้ครัวเรือนที่ในไทยมีมูลค่าสูงถึง 80% ของจีดีพี จากโครงการสร้างหนี้ เช่น รถคันแรก ขณะที่ภาคส่งออกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ทำให้ต้องพึ่งพาการขับเคลื่อนการใช้จ่ายจากโครงการรัฐเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายโครงการของรัฐแม้จะมีเมกะโปรเจค แต่ส่วนใหญ่เป็นเงินสำหรับระบบสาธารณูปโภคใหญ่ๆ เช่น รถไฟฟ้า คมนาคมมากกว่าด้านไอที กลุ่มที่ยังไปได้คือ สถาบันการเงิน และประกันภัย ที่ยังลงทุนไอที ส่วนภาคส่งออก และคอนซูเมอร์ยังไม่ฟื้น ปีนี้โดยรวมการใช้จ่ายไอทีมีแววจะลดต่ำที่สุด ขณะที่ ความพยายามผลักดันโครงการ "ดิจิทัล อีโคโนมี” ก็ยังไม่มีสิ่งที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ทั้งด้านกฎหมายที่จะเป็นพื้นฐานรองรับการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล นโยบายการผลักดันด้านอื่นๆ ทำให้โครงการเกิดการชะลอตัว 

ส่วนการประมูลคลื่น 4จีนั้น จะส่งผลให้เกิดธุรกิจ หรือการลงทุนใหม่ๆ ชัดเจนในช่วงปลายปี 2559 ช่วงแรกผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจะเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างปรับปรุงเสาและสถานีฐาน

ขณะเดียวกัน จากสภาวะเศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สินค้าประเภทแทบเล็ต และฟีเจอร์ โฟน เสื่อมความนิยมลงมาก แต่ยอดขายของสินค้าไอทีขายดีอย่างเช่น สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยังชดเชยยอดขายที่หายไปไม่ได้ ทำให้ภาพรวมแล้วคอนซูเมอร์มีแนวโน้มใช้จ่ายไอทีหดตัวลงเล็กน้อย หรือราว 1.7 แสนล้านบาทจากปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท การลงทุนไอทีจะเปลี่ยนจากการซื้อสินค้าไอทีแบบเดิม ขยับหาเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น แอพพลิเคชั่น, อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือเทคโนโลยีเกี่ยวกับโรโบติคที่กำลังเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมากขึ้น ในภาพรวมแล้วไทยกำลังเข้าสู่ยุคแพลตฟอร์มที่ 3 ที่จะเกิดการลงทุนไอทีในรูปแบบใหม่ๆ แทนที่ไอทีแบบเดิมๆ เช่น พีซีทั่วไป และจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ที่จะส่งผลต่อธุรกิจต่างๆ และองค์กรจำเป็นต้องมีผู้นำ หรือ 3ดี ลีดเดอร์ชิพที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลง และกำหนดวิชั่นให้องค์กรปรับตัวเข้ากับยุคสมัยใหม่ได้

แม้คาดการณ์การใช้จ่ายด้านไอทีจะลดน้อยถอยลง แต่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ และต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้บริโภคเองก็จะต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี และฉลาดเลือกจับจ่ายซื้อเทคโนโลยีเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมมาใช้งาน ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก และเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ดังนั้น สภาพการบริโภคต่อไปอาจไม่ได้ใช้เงินจำนวนมากๆ เช่นเดิม แต่จะต้องเปรียบเทียบคุณสมบัติที่เหมาะสม คุณประโยชน์ที่จะได้รับต่อเงินที่จ่ายไป ผู้บริโภคจะต้องฉลาดเลือกมากขึ้น ใช้เงินเท่าที่จำเป็น นำเทคโนโลยีเดิมๆ มาต่อยอดใช้งานตามความเหมาะสม ยกเว้นสิ่งที่จำเป็นต้องลงทุนจึงจะใช้จ่าย ซึ่งก็หมายความว่า ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจะต้องคิดค้นหาสิ่งที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคจึงจะกระตุ้นการใช้จ่ายได้ ดังนั้น ช่วงเวลาจากนี้ ไปถึงปีหน้าคงยังเป็นปีที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคให้ผ่านพ้นความยากลำบากกันต่อไปของทุกฝ่าย แต่ต้องทำให้ได้ด้วยความกล้าแกร่ง