ละครไทยในอาเซียน

ละครไทยในอาเซียน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายๆ คนคงได้ยินว่า เกิดกระแสละครไทยไปโด่งดังในประเทศจีน แต่สำหรับประชาคมอาเซียนของเรา

ที่กำลังจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวในสิ้นปีนี้ล่ะ มีกระแสละครไทยกับเขาบ้างหรือเปล่า คำถามนี้คงจะตอบแบบเหมารวมทั้งภูมิภาคไม่ได้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างลาวหรือกัมพูชานั้น รู้จักและรับชมละครไทยมาเนิ่นนานแล้ว แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยเรียกว่าเป็นกระแส เพราะผู้ชมเหล่านี้รับชมผ่านช่องทางแบบไม่เป็นทางการ เช่น ลักลอบอัดแล้วนำไปพากย์เสียงต่ออีกที หรือดูผ่านจานดำ

แต่ในช่วงสี่ห้าปีหลังมานี้ เริ่มมีประเทศใหม่ๆ และกลุ่มผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ ที่หันมาชื่นชอบละครไทยมากขึ้น อย่างในประเทศเวียดนาม ที่เพิ่งจะมีช่องเคเบิลทีวีนำละครไทยเข้าไปออกอากาศเมื่อไม่กีปีมานี้ หรือกัมพูชาที่หยุดออกอากาศละครไทยทางโทรทัศน์ไปยาวนานถึงสิบกว่าปี หลังกรณีการปล่อยข่าวลือ กบ สุวนันท์ พูดจาดูถูกคนเขมร ก็เริ่มหันมานำเข้าละครไทยไปฉายทางโทรทัศน์มากขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา แม้แต่ในประเทศพม่าที่ถูกตลาดละครเกาหลีครอบครองมาโดยตลอด แต่ในช่วงสองปีหลัง ละครไทยถูกส่งไปบุกตลาดพม่ามากขึ้น

กระแสละครไทยที่เริ่มก่อตัวขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของไทยนั้น ในแง่หนึ่งมาจากการที่คุณภาพละครไทยดีขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในอีกแง่หนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มาจากปัจจัยความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ทั้งในประเทศไทยเอง และในประเทศเพื่อนบ้าน แต่เดิมนั้นละครไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศมีบริษัท เอ็กแซกท์ ครองตลาดใหญ่อยู่เจ้าเดียว ในขณะที่ช่อง 3 และช่อง 7 ที่เคยส่งละครไทยไปจีนในช่วงหลายปีก่อน ตอนนี้ก็หยุดส่งละครออกไปจีนแล้ว และที่ผ่านมาก็ไม่เคยส่งละครไทยไปออกอากาศในประเทศอาเซียนเลย แต่ปัจจุบันการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลมากมายหลายช่องในประเทศไทย ที่หันมาลงทุนผลิตละครโทรทัศน์เป็นหลัก ทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้ พากันออกไปหาตลาดในต่างประเทศเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ของตน ที่ผ่านมาเราจึงเห็นซีรีย์อย่าง ฮอร์โมน หรือ วุ่นนักรักเต็มบ้าน ออกไปโกยเรตติ้งสูงมากในประเทศเวียดนาม และทุกวันนี้ละครของช่อง 8 อาร์เอส ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อได้รับการฉายทางช่องเคเบิลทีวีของกัมพูชา

นอกจากนี้ บทบาทของเทคโนโลยีที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การแปลซับไตเติลเพื่อนำไปแชร์ต่อในเว็บไซต์ ความง่ายของการแปลซับไตเติลนี้มาพร้อมกับ “วัฒนธรรมแฟนคลับ” ที่แฟนคลับทั้งหลายพร้อมที่จะสละเวลามาแปลละครไทยที่ตนชื่นชอบเพื่อแชร์ให้คนอื่นได้ดูด้วย ในเวียดนามมีเว็บไซต์เกิดขึ้นหลายๆ เว็บไซต์ จัดตั้งโดยกลุ่มนักศึกษาที่เรียนภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยของเวียดนาม เว็บไซต์เหล่านี้นิยมแปลละครวัยรุ่น ในขณะที่กลุ่มแม่บ้านชาวเวียดนามที่ชมละครไทยจากช่องทางเคเบิลทีวีจ ะต้องรอรับชมละครไทยผ่านช่องทางการนำเข้าอย่างเป็นทางการ ซึ่งมักจะได้ชมละครที่ค่อนข้างเก่า คือฉายในเมืองไทยไปแล้วสองสามปี แต่กลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้ไม่ต้องรออีกต่อไป พวกเขาแปลทันทีที่ละครจบ หรือหากใครไม่อยากรอก็สามารถเลือกชมจากภาษาอังกฤษที่มีคนแปลเอาไว้ได้ การเกิดขึ้นของซับไตเติลละครไทยในภาษาอังกฤษและภาษาจีน ก็ยังเป็นช่องทางให้ละครไทยได้รับความนิยมในประเทศอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียหรือสิงคโปร์เพิ่มขึ้นด้วย

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการของกระแสละครไทยก็คือ ผู้ชมในประเทศต่างๆ นิยมชมชอบละครไทยแตกต่างกันออกไป ผู้ชมชาวกัมพูชา ซึ่งเป็นคนทุกเพศทุกวัย ทั้งในเมืองและชนบท จะชอบละครแนวชิงรักหักสวาท แย่งพินัยกรรม และแนวตบตี เจ้าของร้านขายซีดีในกรุงพนมเปญ ถึงกับฝากบอกผู้ผลิตละครไทยว่า ให้ผลิตละครแรงๆ อย่างสามีตีตรา หรือแรงเงาออกมาอีก เพราะผู้ชมชาวกัมพูชาชอบ นอกจากนี้ ยังชอบละครไทยที่มีคำสอน หรือมีเรื่องกฎแห่งกรรมอยู่ในเนื้อหา

ส่วนผู้ชมชาวเวียดนามมักกล่าวว่า หลังจากชมละครเกาหลีมานาน เริ่มรู้สึกว่าช่วงหลังละครเกาหลีมักจะมีเนื้อหาซ้ำๆ นางเอกชอบป่วยไม่สบาย เนื้อเรื่องวนเวียนอยู่กับปัญหาในครอบครัว ในขณะที่พล็อตเรื่องของละครไทยนั้นน่าตื่นเต้นกว่า หักมุมมากกว่า มีพล็อตเรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา ในแง่ของการแสดงละครเกาหลีก็มักเน้นการแสดงความรู้สึกลึกๆ ภายในมากเกินไป จนผู้ชมชาวเวียดนามกล่าวว่าเริ่มรู้สึกเบื่อ

ส่วนผู้ชมชาวพม่า ซึ่งเพิ่งหันมารู้จักละครไทยในช่วงปีสองปีมานี้ นิยมละครแนวผีเป็นพิเศษ ซึ่งบริษัทฮัน มีเดีย ผู้นำละครไทยไปฉายในพม่ากล่าวว่า ช่วงแรกที่ทดลองนำละครไทยไปฉายนั้น ทดลองฉายละครสองแนว คือแนวรักกับแนวผีไปพร้อมๆ กัน ปรากฏว่าละครแนวรักไม่ได้รับความนิยมเลย แต่ละครแนวผีกลับได้เรตติ้งถล่มทลาย ทำให้ทุกวันนี้บริษัทต้องไปกว้านซื้อละครแนวผีมาไว้ในสต็อก เพื่อนำไปต่อคิวฉายให้ผู้ชมชาวพม่าได้รับชม

แต่กระแสละครไทยที่เกิดขึ้นนั้น จะเติบโตถึงขั้นก้าวเข้ามาแทนที่กระแสละครเกาหลี จนกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ชาวจีนเรียกว่า T-wind ได้หรือไม่นั้น เราอาจจะยังไม่เห็นปรากฏการณ์นั้นเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ นอกเสียจากว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ และวางแผนอย่างเป็นกระบวนเหมือนกับที่ K-Pop ได้ทำจนประสบความสำเร็จมาแล้ว

 ---------------------

อ.ดร.อัมพร จิรัฐติกร

นักวิจัย โครงการ ASEAN Watch สกว.