ไทยต้องถ่วงดุลซามูไรกับมังกร

ไทยต้องถ่วงดุลซามูไรกับมังกร

รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะนำคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจหลายท่าน

ไปทำ Road Show ที่ญี่ปุ่นวันที่ 27-28 พ.ย.นี้

ผมหวังว่าจะเป็นการประชุมลักษณะ Cabinet-level meeting อันหมายความว่าเขาจะเอารัฐมนตรีกระทรวงเดียวกัน มาประกบรัฐมนตรีของไทยเพื่อแสดงความเป็นเพื่อนแท้ เพื่อนที่เท่าเทียมในการปรึกษาหารือความร่วมมือในทุก ๆ ด้านอย่างเปิดเผย โปร่งใส จริงใจและจริงจัง

กติกาที่ผ่านมาสำหรับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ จีนและญี่ปุ่น มักจะมีพิธีการทางการทูตที่เป็นขั้นเป็นตอน นายกฯ ประเทศเล็กจะไปพบผู้นำของเขาไม่ได้ง่ายๆ จะต้องผ่านระดับปลัดกระทรวง รัฐมนตรีช่วยและต่อไปถึงรัฐมนตรีตามลำดับ

ในกรณีของญี่ปุ่น การที่ระดับรองนายกฯ ไทยจะพบกับนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ได้จะต้องมีการออกแรงกันพอสมควร

อย่างเก่งเขาก็จะให้พบกับมือขวาของนายกฯชื่อ Yoshihide Suga ที่มีตำแหน่งทางการคือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ความจริงคือ นายกฯน้อย ที่มีอำนาจค่อนข้างจะกว้างขวาง หลายเรื่องทำแทนนายกฯได้ทีเดียว

ผมเคยสัมภาษณ์คุณซูก้า พร้อมกับบรรณาธิการของ Asia News Network และสัมผัสได้ถึงบารมีทางการเมืองของเขา

แต่ในแง่ของการทูตระหว่างประเทศ ในยุคที่มีการถามหาความสนิทสนิมส่วนตัว และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำต่อผู้นำแล้ว ผมเชื่อว่าญี่ปุ่นกำลังตระหนัก ว่าจะต้องให้ความสำคัญกับทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจของไทย มากกว่าที่เคยทำมาก่อน

ดังนั้น หากนายกฯอาเบะจะขอพบรองนายกฯ สมคิดเพื่อถามไถ่ลึกๆ ถึงบทบาทของญี่ปุ่นในไทยและอาเซียนก็จะเป็นการตัดสินใจ ที่จะกระชับความสัมพันธ์กับไทยขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

โดยเฉพาะในขณะที่ญี่ปุ่นต้องการจะแสดงให้ไทยและอาเซียน เห็นว่าไม่ควรจะโอนเอียงไปทางจีนมากเกินไป และญี่ปุ่นพร้อมจะเป็นพลังถ่วงดุลอำนาจในเอเชียไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม

และแม้ด้านความมั่นคง นายกฯอาเบะก็ได้นำร่องความเปลี่ยนแปลงจุดยืนเรื่องนี้ ด้วยการตีความรัฐธรรมนูญใหม่ให้รัฐบาลญี่ปุ่น สามารถยกระดับบทบาทของกองทัพญี่ปุ่นในการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ได้คึกคักขึ้นกว่าเดิมแล้ว

สาระสำคัญของการไปเยือนญี่ปุ่นของรองนายกฯสมคิดครั้งนี้ ข่าวบอกว่ามีหัวข้อหลักอย่างน้อยสามเรื่องคือ

    1. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในไทย
    2. ให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมใน Super Clusters หกแห่งของไทย
    3. ขอให้ญี่ปุ่นช่วยเราเข้าเป็นสมาชิกใน Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ที่มีสหรัฐและญี่ปุ่นเป็นแกนหลัก และมีสมาชิกก่อตั้งอีก 10 ประเทศที่มีทั้งสิงคโปร์ เวียดนามและมาเลเซียที่เป็นเพื่อนอาเซียนเราเข้าร่วมหอลงโรงตั้งแต่ต้น

ระยะหลังนี้ ผมสังเกตได้ว่าญี่ปุ่นเพิ่มระดับความคึกคักในประเทศไทยไม่น้อย เพราะเขาสัมผัสได้ถึงการขยายอิทธิพลของจีนในแถบนี้ ถึงระดับที่ทำให้เกิดคำถามย้อนกลับไปที่โตเกียวว่าญี่ปุ่นกำลังทำอะไรอยู่? จะกลายเป็นชาติที่ถูกเบียดตกเวทีโลกแล้วหรือ?”

แต่วันนี้ ญี่ปุ่นภายใต้การนำของชินโซะ อาเบะรุกหนัก ไม่เพียงแต่เกาะติดสหรัฐเท่านั้น แต่โตเกียวก็ยังมีความริเริ่มทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ผ่านสโลแกน “Cool Japan” หรือการเสนอสร้างเส้นทางรถไฟและโครงสร้างพื้นฐานในไทย อีกทั้งยังอาสาเป็นผู้สนับสนุนหลักของการพัฒนาประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ยิ่งเมื่อจีนบุกด้วยโครงการ เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21” ประสานกับ One Belt One Road อย่างหนัก ญี่ปุ่นก็ต้องขยับตัวด้วยการเข้ามามีส่วนร่วม ในการสร้างเส้นทางการขนส่ง และโครงสร้างเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ประเทศไทยมีความสนใจ

ผมกำลังจับตาดูว่าญี่ปุ่นจะใช้สไตล์การทูตแบบนิ่ม เนียน ช้าแต่มั่นคงแข่งกับวิธีรุกเร็วและกร้าวและโฉ่งฉ่างของจีน เพื่อเอาชนะใจคนไทยได้อย่างไร