อย่าให้คลาดสายตา : สี จิ้นผิงเจอหม่า อิงจิ่ววันนี้

อย่าให้คลาดสายตา : สี จิ้นผิงเจอหม่า อิงจิ่ววันนี้

เลือกตั้งพม่าพรุ่งนี้

เสาร์-อาทิตย์นี้ ผมเกาะติดข่าวใหญ่อย่างน้อยสองข่าว ที่มีผลต่อประเทศไทยและภูมิภาคนี้อย่างมาก หากไทยเราตามไม่ทัน หรือไม่พิเคราะห์ให้ลุ่มลึก ถึงผลกระทบต่อเราทั้งด้านบวกและลบ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาที่เราคาดไม่ถึงในวันข้างหน้าก็ได้

ข่าวแรกคือการพบปะระหว่างผู้นำปักกิ่งกับไต้หวันที่สิงคโปร์วันนี้

ข่าวสองคือการเลือกตั้งที่พม่าวันพรุ่งนี้

ทั้งสองข่าวเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ควรจะมีผลทางด้านบวก เพราะการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงตัดสินใจยอมพบกับประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวันหลังจากที่เหมาเจ๋อตุง บินจากฐานที่มั่นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ “เหยียนอาน” ไปพบกับเจียงไคเช็คที่ศูนย์บัญชาการฝ่ายชาตินิยมที่ “ฉงชิ่ง” เมื่อเดือนสิงหาคม 1945 แล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้นำสองฝ่ายยอมมาเจอกันอย่างสันติ

เป็นการจับมือครั้งแรกใน 70 ปีของจีนสองฝ่าย ที่น่าจะปูทางไปสู่ความสัมพันธ์ที่ต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อไม่ให้ต้องมีการใช้กำลัง

แต่จังหวะการพบกันที่สิงคโปร์ของสี จิ้นผิงกับหม่า อิงจิ่วทำให้นักวิเคราะห์ตีความว่าเป็นการเล่นการเมือง ข้ามช่องแคบไต้หวัน เพื่อช่วยพรรคก๊กหมินตั๋ง (Kuomintang) ในการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนมกราคมนี้หรือเปล่า

เพราะพรรค KMT กำลังเพลี่ยงพล้ำ นางไช่ อิงเหวิน ตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน Democratic Progressive Party (DPP) กำลังนำลิ่วในโพลทั้งหลายเพราะตัวแทนของพรรครัฐบาล คือนางหงซิ่วชู่คนเดิมนั้นถูกทิ้งห่างมาตลอด

จนพรรคต้องเปลี่ยนม้ากลางศึกมาเป็น Eric Chu หรือนายจูลี่หลุน หัวหน้าพรรคและนายกเทศมนตรีนิวไทเป ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะแก้ปัญหาได้

ปักกิ่งย่อมไม่ต้องการให้พรรค DPP ชนะเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะนโยบายของพรรคนี้ต้องการให้ไต้หวันเป็นอิสระ มากกว่าที่จะพูดจากภาษาใกล้เคียงกับจีนแผ่นดินใหญ่

สีจิ้นผิงย่อมเห็นหม่าอิงจิ่วเป็นมิตรกับปักกิ่งมากกว่านางใช่อิงเหวิน

จึงห้ามไม่ได้ที่จะทำให้ผู้คนมองว่าการที่สีจิ้นผิงกับหม่าอิงจิ่วเจอกัน ครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้เป็นการเล่นการเมืองเพื่อให้พรรค KMT ชนะเลือกตั้งมากกว่าจะให้ DPP ฝ่ายค้านเป็นผู้บริหารไต้หวันหลังเดือนมกราคมที่จะถึงนี้

หม่าอิงจิ่วปฏิเสธเรื่องนี้อย่างแข็งขัน บอกว่าที่ต้องการพลิกโฉมประวัติศาสตร์ระหว่างแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันก็เพื่อ ความสุขของคนรุ่นต่อไป ไม่ใช่เพื่อผลการเมืองเฉพาะหน้า

วันอาทิตย์กำหนดชะตากรรมของพม่าที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออองซานซูจีประกาศในโค้งสุดท้ายเมื่อวันพฤหัสบดีว่าหากพรรค NLD ของเธอชนะเลือกตั้งครั้งนี้ เธอจะเป็นผู้บริหารประเทศที่ อยู่เหนือประธานาธิบดี ด้วยซ้ำไป

เป็นการประกาศจุดยืนที่แข็งกร้าวที่สุดเท่าที่เคยมีมา

และเป็นการตอกย้ำว่าแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ยอมให้เธอเป็นประธานาธิบดีได้ แต่หากประชาชนลงคะแนนเสียงให้พรรคเธอชนะอย่างล้นหลาม เธอก็จะเป็นคนแต่งตั้งประธานาธิบดีซึ่งต้องทำตามนโยบายของเธออยู่ดี

เป็นการหาเสียงในสามวันสุดท้ายที่ต้องกระตุ้น ให้คนพม่าออกมาใช้สิทธิ์ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง

ที่อินเดียก็มีกรณี ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาล เช่นนางซอนย่า คานธีที่เป็นหัวหน้าพรรค Congress และเคยเป็นคนตั้งนายกรัฐมนตรีที่ต้องรายงานกับเธอเสมอ

ผลการเลือกตั้งของพม่าจะตัดสินว่า ผู้นำทหารพม่าพร้อมจะเคารพในเสียงของประชาชนที่แท้จริงหรือไม่ เพราะแม้ว่ากองทัพจะมีโควต้าที่นั่งในสภา 25% และเป็นผู้กำหนดว่าจะให้กฎหมายสำคัญ ๆ โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่

แต่ถ้าหากพรรค NLD ของอองซานซูจีได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นในวันหย่อนบัตร ทหารจะกล้าทัดทานกระแสความต้องการของประชาชนหรือไม่?

สองข่าวใหญ่นี้กลบกระแสเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ชั่วคราว... แต่ทุกข่าวล้วนมีความเกี่ยวโยงกันไปหมด

เพราะระหว่างนี้รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ นายแอสตัน คาร์เตอร์ก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ตรวจดูความเคลื่อนไหวของจีนในย่านนี้อย่างแข็งขันเช่นกัน!