เตรียมรับมือค้าเสรี

เตรียมรับมือค้าเสรี

ขณะที่สหรัฐฯและสมาชิกอีก 11 ประเทศ รวมเป็น 12 ประเทศ

 บรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่จีนและอินเดียซึ่งถือว่ามีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกไม่ได้เป็นสมาชิกทีพีพี แต่มีแนวโน้มว่าจะมีบทบาท สำหรับในการเร่งผลักดันการเจรจาเรื่องความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ในสัปดาห์นี้ ที่จะมีการประชุมที่เกาหลีใต้ โดยไทยไม่ได้เป็นสมาชิกทีพีพี แต่เป็นสมาชิก RCEP 

RCEP เป็นข้อเสนอในการจัดตั้งเขตการค้าเสรี 16 ประเทศซึ่งจะครอบคลุมประชากร 3.4 พันล้านคน และจะถือเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และอีก 6 ประเทศ คือ จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยรัฐบาลจีนถือมีบทบาทสำคัญในการผลักดันสำคัญการจัดตั้ง RCEP แม้ขณะนี้ยังมีหลายประเด็นที่ทำให้อาจความตกลงดังกล่าวต้องล่าช้าออกไป

นั่นหมายความว่าในขณะนี้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังจะเกิดเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ทับซ้อนกันสองเขต ซึ่งหากมองในแง่ของการช่วงชิงบทบาทในเวทีโลก อาจมองได้ว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯกับจีนในการสร้างบทบาทในเวทีการค้าโลก แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว การมองว่าความเป็นคู่แข่งในการเมืองโลกไม่จำเป็นต้องตัดขาดความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เพราะทุกวันนี้เราจะเห็นบริษัทอเมริกันขนาดใหญ่ไปลงทุนในจีนมากมาย แต่ในทางการเมืองกลับขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา

ยิ่งพิจารณาสมาชิกของ RCEP ก็ยิ่งต้องกลับมาคิดใหม่เกี่ยวกับการแข่งขันของเขตการค้าเสรีทั้งสองเขต เพราะว่าหลายประเทศใน RCEP ก็เป็นสมาชิกใน TPP เช่นเดียวกัน นอกจากนี้สหรัฐฯ ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญก็ไม่ได้ปิดกั้นหากประเทศใดจะเข้าเป็นสมาชิก TPP แม้แต่จีนเอง ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งสำหรับอนาคตที่เขตการค้าทั้งสองเขตจะรวมตัวกันเป็นเขตเดียวกัน นั่นก็หมายความว่าจะเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่อย่างมาก กินอาณาบริเวณและขนาดเศรษฐกิจครึ่งค่อนโลก

แม้ว่า RCEP ยังไม่บรรลุข้อตกลงเหมือนกับ TPP แต่ก็เชื่อว่าด้วยตัวเร่งจาก TPP จะทำให้ต้องเร่งบรรลุข้อตกลงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งสำหรับไทยที่เป็นสมาชิก RCEP อยู่แล้ว และตั้งอยู่ในภูมิภาคที่ต้องได้รับผลกระทบและผลประโยชน์จากการจัดตั้งเขตการค้าเสรี จำเป็นอย่างยิ่งต้องตั้งหลักเพื่อรับกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงจากการรวมตัวเป็นเขตการค้าเสรีจากนี้ไป ซึ่งไม่ว่าเราจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เราจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีแผนระยะยาวหรือแผนระดับชาติ

หากจะย้อนกลับไปดูการเตรียมพร้อมของรัฐบาล ไม่เพียงแต่รัฐบาลนี้เท่านั้น แต่รวมถึงรัฐบาลก่อนหน้านั้นด้วย เราจะพบว่ายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนมากนัก หรืออาจจะมีนโยบายแล้ว แต่ประชาชนทั่วไปรับรู้กันน้อยมากว่าเราจะเดินหน้าไปอย่างไร ซึ่งเราเชื่อว่าหากเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่เรานี้เริ่มมีผลทางปฏิบัติ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น เหมือนกับกรณีเอฟทีเอไทย-จีน ที่เคยเป็นปัญหามาแล้ว เนื่องจากประชาชนไม่ได้รับรู้หรือเตรียมความพร้อมมาก่อน

เราเห็นว่าในเมื่อรัฐบาลมีแผนปฏิรูปประเทศ โดยมุ่งไปที่การจัดระเบียบภายในประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง รัฐบาลน่าจะมีแผนหรือนโยบายต่อเขตการค้าเสรีเหล่านี้ ซึ่งไม่เพียงแค่การเข้าร่วมเพราะผลประโยชน์ทางการค้าเท่านั้น แต่ต้องมีแผนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นและกระทบต่อผู้คนในประเทศด้วย หาไม่แล้ว คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงจะซัดกระหน่ำคนที่ไม่สามารถตั้งหลักได้จนไม่มีที่ยืน ทั้งๆที่เรามีเวลามากพอ แต่เราไม่มีแผนรับผลกระทบที่อาจตามมา