การส่งออกไทยเดือนสิงหาคม

การส่งออกไทยเดือนสิงหาคม

ตัวเลขส่งออกล่าสุดของไทยในเดือนสิงหาคม ออกมาค่อนข้างจะน่าผิดหวัง (แต่ไม่ผิดคาดมากนัก) เพราะได้หดตัวลงไปถึง 6.7%

เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และมูลค่าคือ 17,669 ล้านดอลลาร์ ก็ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยสรุปนั้น การส่งออกของไทยในปีนี้คือ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 142,747 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า การส่งออกของไทยโดยรวมในปีนี้จะลดลง 5% เมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เนื่องจากเงินบาทอ่อนลงมากกว่า 5% จึงทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อคิดเป็นเงินบาท

จึงเห็นได้ว่าอย่างน้อยการอ่อนตัวของเงินบาท ก็ยังช่วยให้รายได้ของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เพราะเงินเดือนและหนี้สินส่วนหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการต้องชำระเป็นเงินบาท แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า การส่งออกซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพี และเคยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยนั้น ปัจจุบันไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้อีกต่อไป กล่าวคือ เดิมทีการส่งออกจะขยายตัวประมาณ 1.5-2.0 เท่าของจีดีพี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีแต่จะหดตัวลง

หากพยายามมองในแง่ดีก็จะสามารถเห็นปัจจัยบวก 3 ประการคือ 1.การนำเข้าก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน ส่วนใหญ่เพราะราคาน้ำมันลดลง ทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้าเกือบ 5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ จะสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 5% ของจีดีพี เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวน่าจะขยายตัวอย่างเนื่อง แปลว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (คือการขายสินค้าและบริการมากกว่าการซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศ) ก็ยังมีส่วนสำคัญในการเพิ่มจีดีพีของไทยกว่า 5% อีกด้านหนึ่งคือ การลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้า+วัตถุดิบ ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ทำให้เงินเฟ้อของไทยต่ำจนติดลบในปีนี้

แม้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอย่างฉับพลันเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต้องคิดจะปรับดอกเบี้ยขึ้น (แต่ก็ไม่กล้าปรับดอกเบี้ยลงเช่นกัน เพราะกลัวความผันผวนของค่าเงิน) ข้อดีข้อที่ 3 คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แปลว่าประเทศไทยสามารถเพิ่มการใช้จ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายเพื่อบริโภค หรือเพื่อการลงทุน เพราะปัจจุบันเราขายมากกว่าซื้อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราควรจะเพิ่มการลงทุนมากกว่าเพราะครัวเรือนของไทยนั้นมีหนี้สินสูงถึง 85% ของจีดีพีแล้วในขณะนี้

แต่ปัญหาคือการหดตัวของการส่งออกของไทย สะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดแคลนอุปสงค์ (หรือการมีอุปทานส่วนเกินอยู่มาก) ซึ่งแม้กระทรวงพาณิชย์จะยืนยันว่า ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งมีมูลค่าส่งออกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมดไว้ได้ (ตารางประกอบ) แต่หากมองในแง่ร้ายก็จะเห็นได้ว่าเรารักษาส่วนแบ่งของตลาดได้ แต่มูลค่าส่งออกก็ยังลดลงมากโดยตลอด แปลว่าอุปสงค์ของประเทศดังกล่าวอ่อนตัวลงอย่างมาก และ/หรือประเทศดังกล่าว ลดการนำเข้าลงและบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ดังนั้น ในความเห็นของผมนั้น การรักษาส่วนแบ่งของตลาดเอาไว้ได้ ไม่ใช่ข่าวดีมากนัก แต่ทำให้ต้องตั้งคำถามต่อไปอีก 2 คำถามคือ 1.อุปสงค์ของโลกโดยรวมจะอ่อนตัวลงต่อไปอีกนานมากน้อยเพียงใด และ 2.ไทยจะเพิ่มส่วนแบ่งของตลาดได้ด้วยวิธีใดบ้าง?

ตามข่าวนั้น รัฐบาลพยายาม “เจาะ” ตลาด โดยดูลู่ทางการส่งออกใน 50 เมืองใหญ่ของโลก ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่มีเหตุผล แต่หากมองตัวเลขในตารางข้างต้น ก็จะเห็นว่าการส่งออกของไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงในประเทศที่เรามีข้อตกลงการค้าเสรี ได้แก่ ออสเตรเลีย (ส่วนแบ่งตลาด 4.89%) สิงคโปร์ (ตลาดเสรีอาเซียนทำให้เรามีส่วนแบ่ง 2.72%) และญี่ปุ่น (พันธมิตรทางเศรษฐกิจ ทำให้เรามีส่วนแบ่ง 3.19%) หรือประเทศที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย (ส่วนแบ่งตลาด 5.97%) เป็นต้น

ซึ่งหากดูตัวเลขการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด (CLMV) ก็จะพบว่า มีสัดส่วนสูงถึง 10.1%ของการส่งออกทั้งหมด และขยายตัวสูงถึง 8.1% ในช่วงมกราคม-สิงหาคม ในขณะที่การส่งออกโดยรวมติดลบ 6.7% ดังกล่าวข้างต้น ข้อสรุปของผมคือ หากจะอยากเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในประเทศคู่ค้าหลักอื่นๆ ก็ควรต้องพิจารณาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศดังกล่าว เช่น การเจรจาทีพีพี ที่ (ประเทศอื่นๆ) กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่ผมเข้าใจว่าเราจะเจรจาทำเขตการค้าเสรีกับประเทศตลาดหลักไม่ได้ง่ายนัก เพราะเอ็นจีโอไทยคงจะคัดค้านอย่างรุนแรง และบางประเทศ เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป ก็แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า จะเจรจากับไทยอย่างจริงจัง เมื่อไทยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง

โดยรวมนั้น การส่งออกของไทยน่าจะยังมีแนวโน้มไม่สดใสมากนัก ภัทรมองว่า ปีหน้าการส่งออกจะขยายตัวเพียง 3% ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ขยายตัวได้เพียง 1.2% เท่านั้น ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมนั้น ยังค่อนข้างเปราะบาง ซึ่งผมจะขอเขียนถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในคราวต่อไปครับ