สปท.ใหม่ 'หัวใจงุ้งงิ้ง'

สปท.ใหม่ 'หัวใจงุ้งงิ้ง'

ใบหน้า “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” (สปท.) 200 คน มิได้เหนือความคาดหมาย

 เพราะส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

เหนืออื่นใด กว่าครึ่งของ สปท.ป้ายแดง ล้วนมาจากเครือข่าย “พี่ใหญ่” ทั้งสิ้น

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ จึงพุ่งไปที่ สปท. 3 คน จากเครือข่าย “ทักษิณ” ได้แก่พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, สุชน ชาลีเครือ อดีตประธาน ส.ว., สมพงษ์ สระกวี อดีต ส.ว.สงขลา

ผู้ที่ตกเป็นเป้ากระชากลากไส้มากที่สุดคือ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ เพราะเป็นเพื่อนรักของทักษิณ แต่เขาก็เก็บตัวเงียบ

“อดีตไม่สำคัญ ปัจจุบันสำคัญกว่า” ถ้อยวลีนี้ ใช้ได้กับ “ชิดชัย” แน่นอน

หลังรัฐประหาร 2549 “ชิดชัย” กลับคืนบ้านเกิด โดยหันไปจับงานการพัฒนาเมืองอุบลราชธานี และช่วงนั้น คนเมืองดอกบัวกำลังเดือดร้อนจากโครงการสร้างถนนเลียบแม่น้ำมูล ของเทศบาลนครอุบลฯ “ชิดชัย” ได้อาสามาทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในนามเครือข่ายพลเมืองฮักอุบล

จากบทบาทผู้นำภาคประชาสังคม ก็ก้าวสู่การรวมกลุ่มการเมืองทุกสีในเมืองอุบลฯ จัดทีมผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครอุบลฯ ตั้งเป้าล้มแชมป์เก่า รจนา กัลป์ตินันท์ ภรรยา เกรียง กัลป์ตินันท์ แกนนำพรรคไทยรักไทย(พลังประชาชน/เพื่อไทย) สายตรงเจ๊แดง

แผนการหักโค่น “เกรียง” สำเร็จอย่างงดงาม และ “ชิดชัย” ก็ได้เป็นที่ปรึกษาผู้บริหารเทศบาลนครอุบลฯ

จากนั้น “ชิดชัย” จับมือตระกูลการเมือง “โควสุรัตน์”ที่ใกล้ชิดพินิจ จารุสมบัติและปรีชา เลาหพงศ์ชนะยึดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลฯ โดยเอาชนะคู่แข่งจากตระกูล “กัลป์ตินันท์”

“ชิดชัย” ยังไม่มีแผนเล่นการเมืองระดับชาติในวันนี้ แต่หากเขาตัดสินใจขึ้นสังเวียนวันใด ย่อมอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ “เกรียง” คนสนิทเจ๊แดง อย่างมิต้องสงสัย

หันไปทางเมืองเจ้าพ่อพระยาแล สุชน ชาลีเครือ อดีตที่ปรึกษานายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถือว่าเป็นนักการเมืองที่แนบชิดกับตระกูลชินวัตร

จริงๆแล้ว “สุชน” สร้างบทบาททางการเมืองจากการคบค้าสมาคมกับทหาร ย้อนไปเมื่อปี 2534 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก่อการยึดอำนาจ สุชนในนามผู้นำครูประชาบาล ได้นำกระเช้าดอกไม้ไปขอบคุณหัวหน้าคณะรัฐประหารทันที

ถัดมา สุชนได้ระดมผู้นำครู เข้ามาสังกัดพรรคสามัคคีธรรม และลงสมัคร ส.ส.ใต้ร่มธงพรรคทหาร ซึ่งได้เป็น ส.ส.หลายคนใน พ.ศ.นั้น

เมื่อพรรคสามัคคีธรรมปิดฉาก สุชนก็ทำตัวเป็น “เพลย์เมกเกอร์” คอยประสานงานกับพรรคต่างๆ เช่นปี 2539 เขาจับมือ “ป๋าเหนาะ” หาเสียงในกลุ่มครูอีสานหนุน “บิ๊กจิ๋ว” เป็นนายกรัฐมนตรี

“สุชน” ไม่ต่างจากนักเลือกตั้งส่วนใหญ่ ที่ท่องคาถา “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” จึงลื่นไหลไปได้ทุกสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม มีข่าวกระซิบบอก ว่าใครบางคนแอบเปิด “ไฟเขียว” ให้เขามาร่วมปฏิรูปประเทศ ภายใต้ร่มเงา คสช. และ “ผู้ใหญ่” ของฝ่ายถืออำนาจได้เปิดประตูให้อดีตประธาน ส.ว. เข้ามาเป็น สปท.ด้วยหวังที่ให้ “ดีลปรองดอง” ราบรื่น

ส่วน สมพงษ์ สระกวี ที่ใบลาออกจากพรรคเพื่อไทยนั้น ก็มีคนเข้าใจผิดว่า เขาเป็นแกนนำ นปช. แกนนำเสื้อแดง ในความเป็นจริง เขามีสถานะแค่ “แนวร่วม” และเป็นผู้ดำเนินรายการทอล์คการเมือง ทางช่องพีซทีวีเท่านั้น

ในอดีต “สมพงษ์” เป็นผู้นำนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นเพื่อนรักของ พินิจ จารุสมบัติ และลงสมัคร ส.ว.สงขลา โดยการสนับสนุนของเพื่อนรัก-พินิจ และ”คนเดือนตุลา” สายการเมืองอีกหลายคน

สมพงษ์มาเกี่ยวข้องกับเครือข่ายทักษิณ หลังรัฐประหาร 2549 เขาจับมือกลุ่มวาดะห์กลับเข้าพรรคพลังประชาชน โดยเขาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งภาคใต้

ช่วงที่มีการชุมนุมโค่นอำมาตย์ 2 ปีซ้อน สมพงษ์ไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัย หากแต่ไปร่วมปรึกษาหารือกับแกนนำ นปช. และเดินสายเชิญชวนให้คนใต้ขึ้นมาร่วมชุมนุมเท่านั้น

การตัดสินใจเป็นสมาชิก สปท.ของสมพงษ์ ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย สำหรับเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รู้จักมักคุ้นเขามายาวนาน

มองเผินๆ การดึงคนในฟากทักษิณมาเป็น สปท. อาจทำให้ภาพการปรองดองชัดเจนขึ้น แต่หากลงลึกในรายบุคคล มันเป็นเรื่องที่มีนัยทางการเมือง

  ว่าด้วยการสร้างพรรคใหม่แบบเนียนๆ ตามยุทธศาสตร์ “เซตซีโร่ของผู้ทรงอำนาจในสยามประเทศ