ภาคเกษตร..ยังคงกำลังรอความช่วยเหลือ

ภาคเกษตร..ยังคงกำลังรอความช่วยเหลือ

มาถึงขณะนี้ ดูเหมือนว่ายังคงไม่มีความชัดเจนใด ๆ เกี่ยวกับมาตรการการช่วยเหลือภาคการเกษตรสำหรับในปีนี้ จากรัฐบาลของท่านนายกฯ ประยุทธ์

ทั้งในส่วนของสินค้าข้าวหรือยางพารา(เว้นแต่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง) จนเป็นเหตุให้เริ่มมีข่าวคราวการรวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องของพี่น้องเกษตรกรให้ได้ยินกันบ้างแล้ว 

เปรียบเทียบกับเวลาเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ตอนที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจยังคงเป็นคุณชายปรีดียาธร รัฐบาลได้มีนโยบายให้เงินสนับสนุนชาวนาและชาวสวนยางตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกสูงสุดไม่เกิน 15 ไร่ในอัตราไร่ละหนึ่งพันบาท ซึ่งในตอนนั้นก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง บ้างก็ไม่เห็นด้วยโดยเห็นว่าเป็นนโยบายประชานิยม บ้างก็เห็นด้วย แถมยังบอกว่าอัตราเงินสนับสนุนที่ไร่ละพันนี้น้อยเกินไป แต่เมื่อดูตามวัตถุประสงค์ของโครงการแล้วคิดว่าก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรไม่มากก็น้อย

ภายใต้นโยบายภาครัฐในปัจจุบัน เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า คงจะไม่มีโครงการที่จะช่วยให้เกษตรก่อนได้ราคาสูง ๆ จนบิดเบือนกลไกราคาไปมากเหมือนอย่างเมื่อครั้งอดีตอีกแล้ว แต่คงจะมีการมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบอื่น ๆ แทน เช่น การลดต้นทุนการผลิต ได้แก่ ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเช่านา ค่ารถเกี่ยว ฯลฯ ซึ่งคงต้องตามดูกันต่อไปว่าจะมีมาตรการกันอย่างไร เนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตต่างๆเหล่านั้น ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (และดูเหมือนว่ากลไกตลาดจะไม่ค่อยทำงานเท่าไรสำหรับตลาดปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เหล่านั้น)ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลยังคงมีหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพในการวางแผนสร้างแผนแม่บทในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ด้านการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรมแยกกันไปในแต่ละประเภทสินค้าเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องทั้งกับสภาวะแวดล้อม และ/หรือ ช่วงเวลาต่อ ๆ ไปในอนาคต

ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปดูตั้งแต่สมัยโบราณกาลมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาเรื่องของเกษตรกรได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาตั้งแต่หลายพันปีมาแล้ว อาทิ ตั้งแต่สมัย กรีกหรือโรมัน เรื่อยมาจนถึงมหาอำนาจในปัจจุบันอย่างสหรัฐอเมริกา เนื่องจากลักษณะธรรมชาติอันเป็นรูปแบบเฉพาะของการเกษตร หรือ เกษตรกรรม ที่เป็นอาชีพที่ค่อนข้างเปิดกว้างสำหรับผู้คนแต่ผลผลิตที่ได้มาจากการเกษตรส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะทีมีความต้องการที่ค่อนข้างจะไม่ยืดหยุ่น (Somewhat Inelastic Demand) อีกทั้งต้องเผชิญกับโครงสร้างการตลาดของฝั่งด้านซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนกลางที่โดยปกติจะมีเพียงไม่กี่ราย ทำให้เกษตรกรมักอยู่สถานะ Price Taker หรือ ต้องยอมรับราคาที่คนกลางเสนอมา

นอกจากนี้ เนื่องจากธรรมชาติของสินค้าเกษตรเองที่บางประเภทเน่าเสียง่ายและมักจะมีลักษณะที่เป็นฤดูกาล รายได้จากการประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตร มักจะมีส่วนแบ่งในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำถึงต่ำมาก ๆ เมื่อเทียบเคียงกันระหว่างราคาขายปลีกและราคาหน้าฟาร์ม อาทิ ในบางฤดูกาลสำหรับสินค้าบางประเภทมีราคาหน้าฟาร์มไม่ถึงกิโลละบาท แต่มีราคาขายปลีกถึงกิโลละ 20 บาท

ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นกับเกษตรกรทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ที่สหรัฐ ที่เกษตรกรค่อนข้างมีฐานะและเข้มแข็ง โดยสัดส่วนของราคาที่เกษตรกรอเมริกันได้รับเฉลี่ยจากการขายสินค้าของตนก็ยังได้สัดส่วนเพียง 25% ของราคาขายปลีก(ข้อมูลจาก USDA)สำหรับส่วนที่ใหญ่ที่เหลือกว่า75% หรือมักถูกเรียกว่าเป็น Marketing Marginนั้นตกเป็นรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจ การเกษตรต่าง ๆ ผู้ทำหน้าที่รับซื้อจากฟาร์มแล้วทำการขนส่ง เก็บรักษา การตลาด ฯลฯ ไปจนถึงผู้บริโภคสินค้าเกษตรชนิดนั้น ๆ
จึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่ผู้มีอำนาจรัฐไม่ว่าประเทศหรืออาณาจักรที่ปกครองด้วยระบอบใด มาตรการช่วยเหลือ/แทรกแซงภาคเกษตรย่อมมีความจำเป็นและมีให้เห็นอยู่เสมอ โดยมาตรการการช่วยเหลือ/แทรกแซงภาคเกษตรไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต ราคา หรือ รายได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดๆก็จะ หนีไม่พ้นและ/หรือ วนเวียนหลักการใหญ่ๆ5 หลักได้แก่ 1. การประกาศราคาควบคุม 2. การเข้ารับซื้อสินค้าและเก็บรักษาสินค้าโดยรัฐบาล 3. การสนับสนุนทางเงินโดยตรงแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง 4. การควบคุมจำนวนผลผลิต และ 5. โครงการรณรงค์กระตุ้นการบริโภคสินค้าเกษตรชนิดนั้น ๆ

มาตรการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาต่างมีข้อดี/ข้อด้อยในตัวมันเอง ซึ่งอาจจะเหมาะสม ในบางสถานการณ์และอาจจะล้าสมัยแล้วเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง แต่ก็อาจได้ถูกนำกลับขึ้นมาใช้อีกหลายครั้งหลายคราเมื่อเวลาเหมาะสม

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายพันปีมานี้ ตัวอย่างของประเทศที่มาตรการช่วยเหลือ/แทรกแซงภาคเกษตรมีการประกาศออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ได้แก่ ประเทศสหรัฐ ซึ่งมีกฎหมายที่รู้จักกันในนามของ USFarm Bill ที่ผ่านสภาคองเกรสออกมาบังคับใช้ตั้งแต่สมัย Great Depression ในช่วงทศวรรษที่1930หรือเมื่อกว่า 80 ปี มาแล้ว

ในสมัยนั้น US Farm Bill ฉบับแรกมีชื่อเรียกว่าAgriculture Adjustment Act ได้ถูกตราออกมาใช้ในสมัยประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรในสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ฝ้าย ยาสูบ น้ำตาล และนม โดยกฎหมายนี้ในช่วงต้นมุ่งเน้น ให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือเกษตรกรด้วยวิธีการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรในกรณีที่เกษตรกรเห็นด้วยที่จะไม่ปลูกสินค้าเกษตรชนิดหนึ่ง และ/หรือ อนุญาตให้รัฐบาลเข้าซื้อหรือแทรกแซงสินค้าเกษตรโดยตรงเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาแล้วค่อยนำออกมาขายในช่วงเวลาที่เหมาะสม (อ่านมาถึงตอนนี้แล้ว รู้สึกถึงวิธีการของสหรัฐเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว คล้าย ๆ กับวิธีการในประเทศของเราในช่วงที่ผ่านมาเลยหรือป่าวครับ)อีกทั้งมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องมีการ UpdateFarm Bill ในรอบเวลาทุก ๆ 5 ปี

การกำหนดที่มีกรอบกำหนดระยะเวลาไว้เช่นนั้น ทำให้Farm Bill ต่อ ๆ มามีโอกาสที่จะเพิ่มเติมเนื้อความที่ให้ความสำคัญของภาคเกษตรในแง่มุมที่กว้างขึ้นด้วย อาทิ ได้มีการบรรจุเอาหลักการเรื่องการบริหารความเสี่ยงภาคการเกษตร การพัฒนาชนบท การให้สินเชี่อระดับฟาร์มโดยFarm Bill ฉบับล่าสุดนี้ หรือAgricultural Act of 2014 ใช้สำหรับปี 2014-2018 เพิ่งผ่านสภาและบังคับใช้เมื่อช่วงต้นปีนี้เอง

จะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ดังเดิมของการแทรกแซงภาคการเกษตรของรัฐ มิใช่เป็น sense เชิงประชานิยมซะทีเดียว แต่เป็น sense ในเรื่องของการกระจายรายได้และความเป็นธรรมในสังคม ด้วย ซึ่งก็คือ 1) การสนับสนุน หรือเพิ่มรายได้ในระดับฟาร์ม 2) การลดความผันผวนของราคาและรายได้ 3) การลดอัตราการประกอบอาชีพเกษตรกร และ 4) การสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น ดังนั้นการที่มีการหยิบยกเอาโครงการการช่วยเหลือภาคเกษตรอย่างโครงการช่วยเหลือชาวนาไร่ละหนึ่งพันบาท ไปเปรียบเทียบกับโครงการเช็คช่วยชาติซึ่งแจกให้แก่ผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลชุดผ่าน ๆ มา ส่วนตัวผมเองมองเห็นว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เนื่องจากมีความแตกต่างกันทั้งด้านวัตถุประสงค์ และ กลุ่มเป้าหมาย แต่อาจจะเหมือนตรงที่เป็นการจ่ายเงินของภาครัฐออกไปเท่านั้น

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องสินค้าเกษตรในระยะยาวและอย่างยั่งยืนนั้น คงต้องจำแนกออกเป็นประเภทของสินค้า เนื่องจากสินค้าแต่ละประเภทมีโครงสร้างการผลิตและการตลาดที่แตกต่างกัน โดยในช่วงปลายทางที่ผมอยากจะเห็น (หลังจากจัดโครงสร้างต่าง ๆ อย่างเหมาะสมแล้ว) นั่นคือ ภาครัฐต้องเร่งให้ความสำคัญในเรื่องของ โครงการรณรงค์กระตุ้นการบริโภคสินค้าเกษตรอย่างจริงจัง โดยอาจจะนำทฤษฎีในเรื่องของ Market Segmentation และ Product Positioning มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

ดังตัวอย่าง ที่เอกชนยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรรายหนึ่งซึ่งมีความเข้าใจในเรื่องของสินค้าเกษตรเป็นอย่างดีในทุกแง่มุม ได้มุ่งเน้นทำการตลาดให้สินค้าเกษตรที่เป็นอาหารได้กลายไปเป็น Snack ไป ซึ่งปัจจุบันน่าจะสำเร็จได้ในระดับหนึ่งแล้ว อันเป็นเป็นการสร้างผลกำไรให้กับบริษัทได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว