เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่วิกฤติหรือ?

เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่วิกฤติหรือ?

ในช่วงนี้มีการพูดถึงกันมากในโซเชียลมีเดีย ที่มีการประโคมข่าวว่า ประเทศไทยจะมีปัญหาเศรษฐกิจถึงขั้นวิกฤติ

 จนถึงขั้นที่จะต้องเข้าโปรแกรมขอความช่วยเหลือ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศอีกรอบเหมือนดังเช่นในปี 2540 ที่ผ่านมา จึงอยากจะขอทำความเข้าใจ ไม่ให้คนตื่นตระหนกจนเกินเหตุ จนทำให้ผลกระทบตลาดหุ้น ที่จนถึงปัจจุบันก็คงร่อแร่ จากข่าวลบรายวัน จากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก็ขอยืนยันว่า โอกาสของการเกิดวิกฤติจนต้องเข้าขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างนั้นมีน้อยมากแทบจะไม่มีเลย เพราะฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ ยังมีความมั่นคงมาก

ทั้งนี้ สำรองเงินตราต่างประเทศของไทย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 155,838 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถนำเข้าสินค้าได้ถึง 10 เดือน (โดยไม่มีการส่งออกเลย) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่สูง และสูงกว่าระดับหนี้ระยะสั้นต่างประเทศ ที่มีอยู่ประมาณ 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนสิงหาคมก็ยังคงสูงมากกว่า 200,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ สถานการณ์การเงินของภาคสถาบันการเงิน ยังมีความมั่นคงสูง ความพยายามที่ปล่อยข่าวว่า ประเทศจะเกิดวิกฤติ เป็นการบ่อนทำลายความเชื่อมั่น และบ่อนทำลายตลาดการเงินของประเทศ ที่หน่วยงานของภาครัฐและเอกชนจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจ ก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ 

เศรษฐกิจไทยนั้นอยู่ในภาวะซบเซา คาดว่าปีนี้จะเติบโตเพียงร้อยละ 2.5-3.0 ซึ่งต่ำกว่าระดับการเติบโตในอัตราปกติร้อยละ 4-5 ที่ควรจะเป็น เพราะปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหลักๆ ต่างอ่อนเปลี้ยไม่ทำงาน ทั้งนี้ กำลังซื้อของประชาชนลดลง เนื่องจากหนี้สินครัวเรือนที่อยู่สูงในระดับร้อยละ 80 และราคาสินค้าเกษตรหลักตกต่ำ การส่งออกลดลง เนื่องจากความต้องการซื้อจากต่างประเทศลดลง การลงทุนเอกชนเองก็ยังไม่ฟื้น มีเพียงการใช้จ่ายของภาครัฐและการท่องเที่ยว ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

ก็คงขออ้างอิงถึงประมาณการเศรษฐกิจ ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่มีการติดตามและประเมินภาพเศรษฐกิจ ที่เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งโดยปกติธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปีละ 2 ครั้ง คือ ในเดือนเมษายน และเดือนตุลาคม (ที่มีการจัดการประชุมประจำปีร่วมกันองค์กรทั้งสอง) ซึ่งในปีนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจ ในรอบพิเศษในเดือนกรกฎาคมมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ในต้นเดือนตุลาคมนี้ ได้มีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของปีนี้ลงอีก จากเดิมร้อยละ 3.3 เหลือเพียงร้อยละ 3.1 เนื่องจากปัจจัยสามประการ คือ

หนึ่ง เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วฟื้นตัวช้าและต่ำกว่าเป้าหมาย ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและเยอรมนี อันเนื่องมาจากปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟื้นตัวของการใช้จ่ายของประชาชน  และการลงทุนเกิดขึ้นช้า แม้ว่าจะมีการใช้นโยบายเงินแบบผ่อนคลาย และการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำแล้วก็ตาม  และการอ่อนตัวของกำลังซื้อนี้ ทำให้การค้าทั้งการส่งออกและการนำเข้าลดลงทั่วโลก ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ที่ขยายตัวได้ดีที่สุด ในอัตราร้อยละ 2.6 และ 2.5 ตามลำดับ

สอง เศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ (emerging market) และประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ขยายตัวต่ำ อันเนื่องมาจากการตกต่ำของราคาโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีนี้ ลดลงถึงกว่าร้อยละ 50 (ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปีนี้อยู่ที่เฉลี่ย 53.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เทียบกับเฉลี่ย  98.9 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล) ทำให้เศรษฐกิจรัสเซีย และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากรายได้และกำลังที่ลดลง ราคาสินค้าเกษตรและโลหะที่อ่อนตัว ประกอบกับความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจ บราซิลอ่อนตัวลงมาก และเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในระหว่างการปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน จึงทำให้เศรษฐกิจในปีนี้ จะขยายตัวได้เพียงประมาณร้อยละ 6.8

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในกลุ่ม BRIC ที่เคยเติบโตสูง และเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ต่างอ่อนแอลง มีเพียงเศรษฐกิจของอินเดีย ที่ยังเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 7.3 ในปีนี้   

สาม การอ่อนตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งกลุ่มน้ำมัน โลหะ ธัญญาหารและพืชไร่ เช่น ข้าวยางพารา ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ต่างมีรายได้ลด และกำลังซื้อหดตัว 

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มของปี 2559 นั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจาก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จะยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป (คาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ประมาณ  60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล) นอกจากนี้ ประเทศส่วนใหญ่จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป รวมถึงการคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม จะยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 3.5 และการค้าโลกจะขยายตัวดีขึ้น จากร้อยละ 3.2 เป็นร้อยละ 4.1 ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2559 จะดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2