New Normal ไม่ใช่เรื่อง Abnormal

New Normal ไม่ใช่เรื่อง Abnormal

New Normal ดูจะเป็นคำที่มีคนพูดถึงกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากผูกพันกับการเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นอยู่รอบตัวในปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจ อย่างไรก็ดี หากเราพิจารณากว้างขึ้นก็จะเห็น New Normal เกิดขึ้นในเรื่องอื่นๆ อีกมากในสังคมเรา

New Normal เริ่มเป็นคำที่ใช้กันในแวดวงเศรษฐกิจและธุรกิจหลังจากการเกิด “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2007-2008” และลามไปถึงยุโรป โดยสื่อถึง ‘บรรทัดฐาน’ ใหม่ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์สำคัญหนึ่ง

ในแวดวงวิชาการและสื่อ New Normal เป็นคำที่สะท้อนถึง ‘ระดับอ้างอิง’ ใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างน่าจะถือได้ว่าเป็นมาตรฐานใหม่ เช่น เมื่อสมัยก่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ในระดับร้อยละ 5 ต่อปี จนถือว่าเป็นระดับปกติ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งเกิดขึ้น การเติบโตโดยเฉลี่ยเป็นร้อยละ 3 ต่อปี ดังนั้น จึงเกิดอัตราที่เป็นปกติใหม่ขึ้น อย่างนี้เรียกว่า New Normal

เมื่อมีผู้ตรวจสอบคำนี้ดูในประวัติศาสตร์ก็พบว่า มันไม่ใช่คำใหม่ (ทุกสิ่งเก่าๆ ในโลกนี้จะกลายเป็นของใหม่เสมอในวันหนึ่ง) Catherine Rampell พบว่าคำว่า New Normal ถูกใช้บ่อยมากที่สุดในหนังสือซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1800 (“Frankenstein”) ตามมาด้วยหนังสือซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ.1890 ในชุด Sherlock Holmes และตีคู่มาคือหนังสือหลายเล่ม ซึ่งเขียนโดย Albert Einstein ตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ.1915

ในเรื่องเศรษฐกิจไทยระหว่าง ค.ศ.2000-2010 และ 2011-2014 ได้เกิด New Normal ขึ้นหลายเรื่อง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ เช่น (ก) แรงงานไทยโตช้าลงเรื่อยๆ (ข) เผชิญการแข่งขันสูงจากหลายประเทศ (ค) ผลิตภาพแรงงานลดลง (ง) ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยสูงขึ้น (จ) หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น (ฉ) มูลค่าการส่งออกขยายตัวช้าลง (ช) ปัจจัยรายอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลง (ซ) ธรรมาภิบาลลดลง

แรงงานไทยโตช้าลงเรื่อยๆ จากเดิมในช่วงเวลาแรก 2000-2010 เติบโตร้อยละ 1.2 ต่อปี ลดเหลือร้อยละ 0.2 ต่อปี ในช่วงเวลา 2011-2014 นอกจากนี้ ผลิตภาพ (productivity) ของแรงงานไทยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจ ลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี เหลือเพียง 1.7 และเมื่อค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มจากร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วงแรกเป็นร้อยละ 10 ในช่วงหลัง จึงทำให้ต้นทุนแรงงาน ต่อหน่วยพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.9 ต่อปี

การแข่งขันจากหลายประเทศ เช่น เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดเงินลงทุนโดยตรงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากที่เคยเป็นแค่ร้อยละ 30 ของเงินลงทุนตรงที่ไหลเข้าไทยเมื่อปี 2543 ก็กลายเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ในปี 2556 มูลค่าการส่งออกของเวียดนาม ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17 ของมูลค่าส่งออกไทยก็เพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 70% ในปี 2557 ทั้งๆ ที่ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของไทย

หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 85 ของ GDP ในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับร้อยละ 46 ในปี 2543 เมื่อคำนึงถึงการอิงกับราคาสินค้าเกษตรของแรงงานเกินครึ่งของประเทศ การลดต่ำของราคาสินค้าเกษตรแทบทุกชนิด ทำให้อำนาจซื้อในประเทศขยายตัวได้ยาก

การส่งออกของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย ขยายตัวต่ำกว่าปกติเนื่องจากการแข่งขันจากต่างประเทศ เช่น มูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยโตขึ้นร้อยละ 20 ในปี 2552 ในขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าตัว

ปัญหาประสิทธิภาพของระบบราชการ ปัญหาคอรัปชั่น และปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองร่วมกันทำให้ธรรมาภิบาลของไทยอ่อนแอลง จนมีทางโน้มทำให้ต่างชาติขาดความมั่นใจ

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิด New Normal ขึ้นสองประการที่สำคัญ กล่าวคือ (ก) การส่งออก ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนาน จากที่เคยขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี New Normal จะเป็นว่าต่ำกว่าร้อยละ 4 ต่อปี (ข) การขยายตัวของเศรษฐกิจ จากที่เคยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ระหว่าง 2000-2101 ก็จะกลายเป็นร้อยละ 3 ต่อปีจากนี้ไป

New Normal ใน 2 เรื่องนี้ดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่าการระบุ New Normal ของการบริโภคในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศ

ภาครัฐ ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาครัฐจำเป็นต้องเข้าใจบริบทของการเกิด New Normal ในการกำหนด New Policy (หากไม่มีนโยบายใหม่ ในเวลาไม่นานอาจเกิด New Abnormal คือระดับที่ต่ำอย่างผิดปกติ เป็นระดับอ้างอิงใหม่ก็เป็นได้) (ข้อมูลที่ใช้ข้างบนนี้ ผู้เขียนนำมาจากเอกสารของ Thailand Future Foundation, “Thailand’s New Normal”, กรกฎาคม 2015)

คนไทยจะมีความสุขในอนาคตต่อไปได้ ถ้ามีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในหัวใจ กล่าวคือ ไม่เพ้อฝันไปสุดโต่งของการเจริญเติบโตสูงๆ อย่างไม่รู้จบ หากต้องคาดหวังแต่พอควรในทางสายกลางอย่างไม่สุ่มเสี่ยง รู้จักพอ ไม่คาดหวังบรรยากาศที่ดีสำหรับธุรกิจอย่างไม่มีขอบเขต

New Normal ทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องมี New Normal ในการคาดหวัง และการมี mindset ที่เหมาะสมอย่างสอดคล้องกัน มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาทางสังคม อันเนื่องมาจากความผิดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมที่มีคนยากจนและคนชั้นกลางระดับล่าง อยู่เป็นสัดส่วนที่สูง เช่น สังคมไทย การปรับจิตใจของประชาชน และการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมของภาครัฐ ในการสร้างความสอดคล้องระหว่างสองด้านนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

New Normal ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจหรือหวาดหวั่นจนขาดสติ โดยธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่มีความรุนแรงเป็นพิเศษภายใต้บริบทปัจจุบันของโลกและประเทศไทย สมรรถนะในการปรับตัวเข้ากับ New Normal เป็นหัวใจสำคัญของการเกิดความสุขในใจของประชาชน และสมรรถนะเช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็จากการมีความสามารถในการคิดเท่านั้น การยกเครื่องการศึกษา ซึ่งคือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการฝึกฝนการคิดอย่างสำคัญ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในยุค New Normal

คนสองคนนั่งกินข้าวด้วยกัน โดยต่างคนต่างนั่งก้มหน้าดูสมาร์ทโฟน ไม่พูดคุยกันก็คือ New Normal เช่นเดียวกับการอ่านสิ่งพิมพ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร ฯ น้อยลงมากก็เป็น New Normal อีกเช่นกัน

มาตรฐานการใช้ภาษาไทยในลักษณะที่ขาดการออกเสียงควบกล้ำ และ ร.เรือ คือ New Normal (ได้ยินโฆษณาทางวิทยุ “ช่วยกันฆ่าปวกไม่ให้ทำลายบ้านด้วยสมุนไพ ลับลองปวกตาย ยกลัง”) ที่น่าเป็นห่วงสำหรับอนาคตภาษาไทย

การใช้ภาษาพ่อขุนทั้งในที่สาธารณะและในที่ลับ ระหว่างเพื่อนและคู่รักก็คือ New Normal (คำพลอดรักด้วยภาษาพ่อขุน คือ Old Normal ซึ่งไม่น่าจะโรแมนติกสำหรับอารยะชนในปัจจุบัน)

เพลงที่ขาดความกลมกลืนและสุนทรียรส ตลอดจนเสียงร้องเพลงที่ราวกับออกมาจากคนปวดตับและลิ้นบวม (การบีบเสียงสไตล์สุนทราภรณ์ คือ Old Normal ที่คนรุ่นใหม่อาจวิจารณ์ได้เช่นกัน) ก็เป็น New Normal อีกเหมือนกัน

อำนาจของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และกล้อง CCTV บนรถยนต์ก็เป็น New Normal ทางอำนาจอีกลักษณะหนึ่ง

New Normal มีทั้งสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจคละกันไปแล้วแต่รสนิยมและวัย ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่การปรับตัวและปรับใจเข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้ได้

เมื่อ ‘การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์’ New Normal จึงเป็นนิรันดร์เช่นกัน และเป็นดั่งนี้มาตลอดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ