ข้อ (ควร) เสนอที่แท้จริงของ 'ซิงเกิล เกตเวย์'

ข้อ (ควร) เสนอที่แท้จริงของ 'ซิงเกิล เกตเวย์'

น่าจะจบแล้วมั้ง กับเรื่อง “ซิงเกิล เกตเวย์” ที่รัฐบาลออกมาคล้ายๆ “โยนหินถามทาง”

 แล้วก็ถูกก่นด่าจากทุกทิศทุกทางกลับไป

หลายคนในรัฐบาลที่ออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้ในช่วงแรก พยายามยกตัวอย่างประเทศจีนที่ใช้ ซิงเกิล เกตเวย์ ส่วนอีกประเทศหนึ่งที่ใช้ระบบนี้ แต่พยายามไม่พูดถึงคือ เกาหลีเหนือ

ถามพรรคพวกที่อยู่จีน ได้ความว่า จีนสร้าง ซิงเกิล เกตเวย์ ขนาดมหึมา ทุ่มทั้งเทคโนโลยีและเงินลงทุน แต่ที่กล้าทำไม่ใช่แค่เพราะรวย ทว่ายังมีอำนาจต่อรองสูง เนื่องจากจีนเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ และมีกำลังซื้อมากที่สุดในโลกขณะนี้

ฉะนั้นอย่าลืมว่านั่นคือ จีน แต่นี่คือ ไทย เงินตราและอำนาจต่อรองมันต่างกันขนาดไหน ก็ลองพิจารณา

ณ. นพวงศ์ แห่ง คลี่ตะวันห่มเมือง สรุปเอาไว้ในไทยโพสต์ฉบับก่อนอย่างแสบสันต์ และตรงใจใครหลายคนว่า เราไม่ใช่จีน และเราไม่มีทางเหมือนจีน แต่เราจะมีสภาพถอยเข้าไปใกล้เกาหลีเหนือต่างหาก

นั่นแหละคือความจริงที่เราต้องยอมรับ และรัฐบาลเองก็ต้องยอมรับ แม้ท่านจะเป็นรัฐบาลทหาร ก็ใช่จะสั่งการได้ทุกอย่างเหมือนตอนท่านสวมเครื่องแบบ!

จะว่าไปเท่าที่ผมได้ตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคง ที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาเรื่องนี้ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ แผนงานความมั่นคง และ ยุทธศาสตร์การรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ก็ไม่พบว่ามีการเสนอให้ใช้ ซิงเกิล เกตเวย์ ในการควบคุมโลกแห่งการสื่อสาร

มีแต่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบูรณาการข้อมูลความมั่นคง โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปบ้างแล้ว

ซิงเกิล เกตเวย์ หมายถึงการจัดระเบียบข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยมี เกตเวย์ อยู่กว่า 10 ช่อง และอยู่ในความดูแลของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลายราย การควบคุมการไหลเข้า-ออกของข้อมูล ระหว่างภายในประเทศกับต่างประเทศจึงควบคุมยาก ด้วยเหตุนี้จึงมีบางฝ่ายเสนอแนวคิดใช้ ซิงเกิล เกตเวย์ เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์จากภายนอก หรือ cyber attack เพราะการกำหนดให้มีช่องทางเข้า-ออกเพียงช่องทางเดียว จะทำให้การควบคุมหรือป้องกันทำได้ง่ายขึ้น

หลักการของ ซิงเกิล เกตเวย์ ก็คือการสร้างความสะดวกในการควบคุมข้อมูลข่าวสารที่ผ่านเข้าออก เกตเวย์ แต่จะเข้ากำกับดูแลเฉพาะที่เป็นภัยคุกคามเท่านั้น ไม่มีการสอดส่องหรือล้วงของมูลการใช้งานของประชาชน ซึ่งในต่างประเทศก็มีระบบควบคุมเช่นกัน แต่ใช้การควบคุมแยกแต่ละ เกตเวย์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล

เมื่อติดตั้งระบบตรวจสอบแล้ว การใช้อินเทอร์เน็ตจะถูกควบคุม แต่จะจำกัดเฉพาะที่เป็นภัยความมั่นคง เช่น การเผยแพร่แนวคิดของกลุ่มสุดโต่ง หรือกลุ่มก่อการร้าย การติดต่อสื่อสารระหว่างเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น

การควบคุม เกตเวย์มีดำเนินการในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ แต่ไม่ใช่บังคับให้เหลือ เกตเวย์เดียว เพราะในทางปฏิบัติทำยากมาก และหน่วยงานความมั่นคงที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาข้อมูล ก็เชื่อว่าทำไม่ได้ในประเทศไทย

ข้อเสนอของฝ่ายความมั่นคง เป็นแนวทางที่สามารถทำได้จริง โดยไม่ต้องใช้ ซิงเกิล เกตเวย์ คือ

    1. กำหนดให้ผู้ให้บริการทำหน้าที่ควบคุม รับผิดชอบ โดยออกระเบียบให้ผู้ให้บริการดำเนินการ เหมือนการส่งไปรษณีย์ที่ต้องควบคุมไม่ให้มีการส่งยาเสพติด หรือสิ่งของผิดกฎหมาย แต่รัฐต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดว่าต้องควบคุมอะไรบ้าง
    2. ผู้ให้บริการต้องให้ความร่วมมือหน่วยงานด้านความมั่นคงในการสนับสนุนการส่งข้อมูลของกลุ่มบุคคลต้องสงสัยว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย หรืออาชญากรรมข้ามชาติ
    3. ต้องยินยอมให้หน่วยงานความมั่นคงใช้ “เกตเวย์” ของผู้ให้บริการในการติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เป็นภัยต่อความมั่นคง

ถ้าตั้งหลักกันได้แบบนี้ ก็คงไม่ถูกด่าจากทุกทิศทุกทางแบบที่ผ่านมา!