ปัญหาการคิดแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง

ปัญหาการคิดแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง

การคิดแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง เป็นการคิดแบบบิดเบือนไปจากโลกความจริงประเภทหนึ่ง นักจิตวิทยาใช้ศัพท์

เช่น Poralized Thinking (การคิดแบบแบ่งขั้วตรงกันข้าม Black and WhiteThinking) (คิดแบบถ้าไม่ขาวก็ต้องดำ All or Nothing Thinking) (ถ้าไม่ได้ทั้งหมด ก็ไม่ได้อะไรเลย หรือถ้าไม่สมบูรณ์แบบ ก็คือย่ำแย่ที่สุด)

ที่ว่าบิดเบือน คือ คนคิดแบบนี้มองเห็นแต่ขั้วที่ตรงข้ามขั้วใดขั้วหนึ่งแบบสุดโต่ง เท่านั้น เช่น ฉันถูกทั้งหมด เธอผิดทั้งหมด, ดีทั้งหมด หรือเลวทั้งหมด, สมบูรณ์แบบ หรือล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ฯลฯ พวกเขาไม่สามารถมองเห็นคุณสมบัติที่มีทั้งด้านบวกและลบ (จุดแข็ง/จุดอ่อน) ของตัวเองและคนอื่น ในโลกที่เป็นจริง มองไม่เห็นเฉดสีต่างๆ ของสีเทา, ความเป็นไปได้, ทางเลือกอื่นที่มีอยู่ในโลกที่เป็นจริง ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับว่า คนที่คิดไม่เหมือนเรานั้นจริงๆ แล้ว เขาอาจจะคิดต่างในบางเรื่อง ไม่ได้ต่างทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเขาอาจจะเห็นด้วยกันกับเราในหลักการใหญ่ แต่ไม่เห็นด้วยหรือกับวิธีการรายละเอียดบางเรื่อง เราต้องมองอย่างใจกว้างจำแนกแยกแยะจึงจะเห็นโลกที่เป็นจริง แต่คนที่ชอบคิดแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง มักจะรีบสรุปอย่างง่ายๆ รวดเร็วไป จึงไม่อาจจะมองเห็นหรือเข้าใจเรื่องนี้ได้

การคิดแบบนี้เกิดได้อย่างไร นักจิตวิทยามองว่า การคิดในแนว 2 ขั้วสุดโต่งแบบนี้ เป็นการคิดระดับเด็กๆ หรือแบบคนยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งมองอะไรแบบขาวดำง่ายๆ เพื่อที่จะตัดสินใจได้รวดเร็วว่า อะไรปลอดภัยหรืออันตราย เวลาเจอสัตว์ร้ายที่คุกคามชีวิต เราจะหนีหรือจะสู้ แต่เมื่อคนเราเติบโตขึ้น สังคมโลกวิวัฒนาการไป ในโลกยุคปัจจุบัน เราไม่ได้เจอสถานการณ์แบบต้องรีบตัดสินใจแบบเร่งด่วนขั้วใดขั้วหนึ่ง ว่าจะหนีหรือสู้ อีกต่อไป ในโลกยุคปัจจุบันมนุษย์มีความสัมพันธ์แบบร่วมมือและแข่งขันที่ซับซ้อนมากขึ้น ทุกเรื่องไม่ได้แบ่งเป็น 2 ขั้ว ที่ตรงกันข้ามเสมอไป แล้วแต่เรื่อง แล้วแต่สถานการณ์ เรามีปัญหาแบบอื่นที่ต่างจากคนยุคโบราณ และต่างจากพวกเด็กๆ และเรามีทางเลือกหลายทาง ไม่ใช่แค่ขั้วใดขั้วหนึ่ง

การที่ผู้ใหญ่ยุคปัจจุบันหลายคนยังคิดแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง ส่วนหนึ่งมาจากพัฒนาการในวัยเด็กของเขา เช่น การไม่ได้รับความรัก ความอบอุ่น ไว้วางใจจากพ่อแม่คนรอบข้างที่มั่นคงสม่ำเสมอ ไม่มีโอกาสพัฒนาความไว้วางใจคนอื่น และความมีวุฒิภาวะอย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้กับบางคนที่ตกอยู่ในภาวะเครียด กลัดกลุ้ม ไม่มีทางออก รู้สึกถูกกดดัน ทำให้พวกเขาถอยกลับไปคิดแบบ 2 ขั้วแบบตรงกันข้ามสุดโต่งเหมือนวัยเด็กได้ เพราะสิ่งนี้คือกลไกป้องกันตนเองทางจิตวิทยาของคนที่มีปัญหา ทำให้คนคนนั้นรู้สึกว่า การคิดแบบนี้ ทำให้เขามีชีวิตที่มีกฎหรือแบบแผนแน่นอนเข้าใจได้ง่าย

คนที่คิดแนวนี้มักจะเป็นคนประเภทหลงตัวเอง มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นคนที่ทำอะไรต้องให้ได้สมบูรณ์แบบ ถ้าได้น้อยหน่อยจะคิดว่าไม่ได้อะไรเลย (Perfectionist) เป็นพวกที่คิดอะไรแบบตายตัว ยึดมั่นเรื่องกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผน สรุปเร็วและง่ายเกินไป ไม่เปิดใจกว้าง ไม่ยืดหยุ่น ไม่ประนีประนอม ดื้อรั้น คิดแบบแคบๆ หมกมุ่นคิดทางเดียว เรียกร้องคาดหมายจากคนอื่น (บางครั้งตัวเองด้วย) สูง มองโลกในแง่ร้ายหรือแง่ลบมาก ชอบมองแบบตัดสินพิพากษาคนอื่นหรือเรื่องต่างๆ

คนที่เป็นมาก อาจจะมีปัญหาความผิดปกติทางจิตใจบางอย่าง เช่น มีอารมณ์รุนแรงแบบหุนหันพลันแล่น หรือมีอารมณ์แบบรุนแรงแบบสลับขั้วง่าย เป็นพวกหลงตัวเอง หรือเป็นพวกออทิสติกแบบอ่อนๆ คนที่เป็นออทิสติกคือคนที่สมองของเขาไม่อาจเข้าได้ว่า คนอื่นมีความคิดมีความต้องการที่ต่างไปจากเขา

การคิดแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง สร้างปัญหาต่อตัวเองและคนอื่นในสังคมอย่างไร

1.การเลือกแบบแค่ขั้วใดขั้วหนึ่ง เป็นการจำกัดมุมมองของเรา ทำให้เรามองไม่เห็นทางเลือกและโอกาสอื่นๆ ทั้งที่หลายเรื่องมีทางเลือกที่เป็นไปได้มากกว่า 2 ขั้ว ที่อาจจะดีเท่ากัน หรือดีกว่า เป็นประโยชน์กว่าขั้วใดขั้วหนึ่งด้วย

2.ทำให้เพิ่มความเครียด ความซึมเศร้า เพราะคนคิดแนวนี้มักมองว่า จะต้องได้ ควรจะต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นการสร้างความต้องการเทียมหรือความคาดหวังที่สูง ที่จะนำไปสู่ความผิดหวัง ความเครียด ความซึมเศร้าได้ เพราะโลกจริงไม่ได้สมบูรณ์แบบ ไม่ได้ดั่งใจทุกอย่างที่เราคิด การคิดแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง เป็นการมองโลกแบบคับแคบ มองในทางลบ รู้สึกว่าตนไม่มีอำนาจที่จะจัดการกับชีวิต ไม่เข้าใจว่า แม้ว่าชีวิตจะไม่ได้เป็นเหมือนอย่างที่เราคิดไว้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราก็ยังสามารถยอมรับ พอใจดำรงชีวิตในโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่างมีความสุข ในเชิงเปรียบเทียบได้

3.การมองอย่างเข้มงวดและสรุปอะไรง่ายเกินไป คิดว่าตัวเองถูก คนอื่นที่คิดต่างเป็นฝ่ายผิดเสมอ ขาดการมองอย่างประนีประนอม ทำให้สัมพันธ์กับคนอื่นและร่วมมือกับคนอื่นได้ยาก สร้างปัญหาขัดแย้งกับคู่ครอง ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ได้ง่าย เราคาดหมายให้เขาคิดและเป็นเหมือนเรามากไป ไปตัดสินว่าเขาผิดไปทั้งหมดอย่างง่ายเกินไป เพราะในโลกจริงนั้น ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ คนแต่ละคนมีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน และแต่ละคนต่างมีความเป็นตัวของตัวเองที่แตกต่างกันไป

4.การคิดว่าเรารู้ว่าเราถูกที่สุดแล้ว เหมือนกับการเสพติดโดยไม่รู้ตัว ทำให้เรามีข้อจำกัด ปรับตัว ต่อสภาพแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้น้อยลง ติดกับดักแบบแผนความเชื่อ อุปนิสัยเก่า โดยไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ หรือเรียนรู้ได้น้อย ทำให้เราเจริญงอกงามทางความคิด สติปัญญาได้ยาก ตรงกันข้ามกับคนที่เปิดใจกว้าง ยอมรับว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่างในโลก จะสามารถเรียนรู้ข้อมูล ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ เปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองได้ดีกว่า

คนที่คิด 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง ในการเมืองหรือทางศาสนา ที่เป็นกลุ่มก้อนที่มีการจัดตั้งเข้มแข็ง จะนำไปสู่การขัดแย้ง ความเกลียดชัง และความรุนแรงได้ เช่น กรณีคนเยอรมันนิยมลัทธินาซีในช่วงฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจ นำไปสู่สงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว การก่อการร้ายและการทำสงคราม ที่อ้างความเชื่อทางศาสนา ชาตินิยม เผ่าพันธุ์นิยม ฯลฯ การโจมตีประท้วง ก่อการจลาจล ทำร้ายคนในประเทศเดียวกัน ที่คิดแตกต่าง ฯลฯ การจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของความเชื่อทางการเมืองแบบ 2 ขั้วตรงข้ามสุดโต่ง ในหมู่คนไทย เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจสาเหตุที่มาของปัญหาซึ่งเป็นทั้ง

1) เรื่องจิตวิทยา  จิตวิทยาสังคม และ 2) เรื่องทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ประเด็นการกระจายทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา ฐานะทางสังคม ฯลฯ ที่ไม่ทั่วถึงเป็นธรรม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก เราต้องเข้าใจและแก้ไขที่สาเหตุทั้ง 2 ด้านอย่างแท้จริง จึงจะสร้างความปรองดองสมานฉันท์หรือความสามัคคีในชาติได้