ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (4)

ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (4)

ครั้งที่แล้วผมสรุปว่า ระบบทุนนิยมน่าจะคงอยู่กับเศรษฐกิจโลกต่อไป เพราะยังไม่มีระบบใดที่ดีกว่า แต่ก็มีข้อด้อยอยู่ในหลายด้าน

ที่ต้องมีการกำหนดบทบาทของภาครัฐที่เหมาะสม รวมทั้งการสนับสนุนระบบทุนนิยม และการแทรกแซงมิให้เกิดการผูกขาด ตลอดจนต้องมีการสร้างโอกาสของประชาชนให้ทัดเทียมกันมากที่สุด เพื่อให้ระบบทุนนิยมไม่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

ในครั้งนี้ผมจะขอกล่าวถึงสิ่งที่คิดว่ารัฐไม่ควรทำ แต่มักจะทำกันเสมอมา ไม่ว่าจะด้วยความหวังดีหรือหวังให้ได้รับความนิยมจากประชาชน ทั้งนี้ ผมเห็นว่าสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้การแทรกแซงของภาครัฐมักจะไม่ประสบผลสำเร็จคือ การดำเนินการของรัฐนั้น เป็นการนำเอาเงินของคนอื่น (ผู้เสียภาษี) มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนอื่น ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการต้องเอาเงินของตัวเองมาซื้อของให้ตัวเอง กล่าวคือในกรณีแรกนั้น เป็นการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพต่ำสุด (ซึ่งการใช้จ่ายของรัฐเป็นกรณีนี้เป็นหลัก) แต่กรณีหลังจะเป็นการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น ผมจึงมีจุดยืนว่า รัฐควรมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่เป็นพี่ใหญ่ที่ทุกคนจะต้องนึกถึงทันทีที่มีปัญหาเศรษฐกิจ ก็ต้องให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไข สำหรับสิ่งที่รัฐไม่ควรทำ แต่มักจะพยายามทำ (ด้วยความหวังดี) นั้นมีดังนี้

1. แทรกแซงกลไกตลาด ชอบทำให้ของถูกเป็นของแพง และของแพงเป็นของถูก ในกรณีแรก เช่น เรื่องข้าวและในกรณีหลัง เช่น น้ำมันดีเซล เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นความหวังดีทั้งสิ้น แต่เมื่อทำไปแล้วจะเกิดการบิดเบือนกลไกตลาด ส่งผลเสียมากมายต่อภาครัฐ โดยไม่สามารถประเมินได้ว่า ภาระของภาครัฐจะหยุดอยู่ที่ตรงไหน (เว้นแต่การล้มเลิกโครงการ) ดังนั้น หากจะพยายามรักษาวินัยทางการคลัง ก็ควรเลิกคิดที่จะแทรกแซงกลไกตลาด แต่สำหรับนโยบายประชานิยมอื่นๆ ที่ไม่ได้แทรกแซงกลไกตลาด (เช่น การแจกเงินชาวบ้าน 2,000 บาท) นั้นจะทำก็ทำไป เพราะสามารถคำนวณภาระทางการคลังได้อย่างชัดเจน และหากไม่ดีจริงพรรคการเมืองที่ทำนโยบายดังกล่าว ก็จะแพ้การเลือกตั้งในครั้งต่อไป

2. ควบคุมราคาสินค้า ซึ่งมักจะหมายถึงการควบคุมราคาสินค้า “จำเป็น” เพื่อช่วยผู้บริโภค บางคนเข้าใจว่า เป็นการควบคุมเงินเฟ้อ แต่อันนี้เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการที่กระทรวงพาณิชย์พยายามควบคุมราคาสินค้าจำเป็น เพื่อช่วยลดภาระของประชาชนนั้น เป็นการควบคุมราคาในเชิงเปรียบเทียบ (relative price) มิใช่การควบคุมราคาสินค้าทุกประเภท แต่เป็นสิ่งที่ทำแล้วผมเห็นว่า จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะหากเรานึกถึงวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นก็น่าจะจำได้ว่า เวลาเราวาดรูปเส้นดีมานด์กับซัพพลายนั้น เส้นซัพพลายจะสะท้อนว่า ราคาสินค้ายิ่งสูงก็ยิ่งมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากราคาสินค้าที่ “จำเป็น” ถูกควบคุมให้ราคาต่ำลง ปริมาณการผลิตก็น่าจะลดลงไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อราคาสินค้าอื่นไม่ถูกควบคุม ผู้ผลิตก็น่าจะหนีไปผลิตสินค้าดังกล่าวมากกว่า ผลคือมาตรการควบคุมราคาจะกลับส่งผลให้สินค้า “จำเป็น” เกิดการขาดแคลนขึ้น หรือหากไม่ขาดแคลนก็จะพบว่า มีการหลีกเลี่ยงโดยขายราคาเดิมแต่ปริมาณสินค้าลดลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของภาครัฐ และทำให้ผู้บริโภค “เสียความรู้สึก” อีกด้วย

ซึ่งก็มักจะมีการเสนอให้ภาครัฐต้องไปศึกษาในรายละเอียด เกี่ยวกับต้นทุนของการผลิต “ขอความร่วมมือ” ฯลฯ แต่คำตอบที่ถูกต้องคือ หากต้นทุนการผลิตลดลงจริง ผู้ประกอบการบางคนก็จะลดราคาสินค้าลง เพื่อให้ได้ยอดขายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการกดดันให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ลดราคาลง เพื่อรักษาส่วนแบ่งของตลาด เว้นแต่อุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีการผูกขาดโดยผู้ผลิตรายเดียวหรือน้อยราย ซึ่งธุรกิจค้าปลีกปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่น้อยราย ก็จะสามารถทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภค โดยต่อรองกับผู้ผลิตให้กำหนดราคาสินค้าที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอยู่แล้ว (ในบางครั้งมีการร้องเรียนว่า ผู้ค้าปลีกเอาเปรียบผู้ผลิตด้วยซ้ำ) กล่าวโดยสรุปคือ การลดค่าครองชีพของประชาชนนั้น ทำได้โดยการกำจัดการผูกขาดของผู้ผลิตให้หมดไป

3. ภาครัฐของไทยมีขนาดใหญ่มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่ใช่รัฐบาลส่วนกลางซึ่งเก็บภาษีเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของจีดีพี และใช้จ่ายประมาณ 20% ของจีดีพี มาโดยตลอด แต่การขยายตัวของรัฐวิสาหกิจ (ทั้งที่เป็นผู้ผลิตและสถาบันการเงิน) ซึ่งคุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกลุ่มเกียรตินาคิน (ซึ่งผมเป็นพนักงานในกลุ่มดังกล่าว) ได้เรียบเรียงให้เห็นว่า ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นจาก 4.7 ล้านล้านบาท ในปี 2546 มาเป็น 11.8 ล้านล้านบาท ในปี 2556 ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านล้านบาท มาเป็น 5.1 ล้านล้านบาท ในช่วงเดียวกัน

กล่าวคือเพิ่มจากเดิมที่เป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของจีดีพีมาเป็น 40% ของจีดีพี ซึ่งคุณบรรยงขยายความว่า รัฐวิสาหกิจนั้นมีประสิทธิภาพต่ำ เพราะจากทรัพย์สิน 11.8 ล้านล้านบาทนั้น ทำกำไรได้เพียง 300,000 ล้านบาท หรือให้ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) น้อยมาก กล่าวคือ หากธุรกิจใด เอกชนทำได้โดยมีประสิทธิภาพมากกว่า (ROA สูงกว่า) ก็ควรโยกย้ายและจัดสรรทรัพยากรไปให้เอกชนทำธุรกิจแทน ทั้งนี้ โดยต้องระมัดระวังมิให้เกิดการผูกขาด หรือหากต้องมีการผูกขาดในบางกรณี เพราะประโยชน์ในการมีผู้ผลิตรายเดียว (เช่น การทำสายส่งไฟฟ้า) ก็ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างรัดกุม ให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมตามมาตรฐานสากล

ดังนั้น หากจะถามว่าปัจจัยอะไรจะเป็นตัวกำหนดความมั่งคั่งของประเทศไทยในอนาคต ผมก็ต้องขอให้คำตอบ  (ส่วนตัว) ว่า

1.จะต้องอาศัยกลไกตลาดเป็นหลัก และขอให้รัฐละเว้นการแทรกแซงกลไกตลาด แม้จะอยากทำด้วยความหวังดีก็ตาม

2.ควรปล่อยให้ภาคเอกชนทำหน้าที่รับความเสี่ยง เช่น การให้สัมปทานด้านพลังงานกับภาคเอกชน และลดบทบาทของภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ เพราะมีขนาดใหญ่มาก จนต้องพยายามปฏิรูปและลดขนาดลง

3.การจะพยายามวางแผนเศรษฐกิจนั้น ควรต้องมุ่งเน้นบางประเด็นหลักๆ และตอบคำถามพื้นฐานเท่านั้น กล่าวคือ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เลือกอุตสาหกรรมแต่ควรหารือกับเอกชนเพื่อตอบว่า

    3.1 ประเทศไทยจะ “หากิน” อย่างไรหรือ “ทำอะไรกิน” (ปัจจุบันเราขุดก๊าซธรรมชาติมาผลิตปิโตรเคมีเป็นฐานของอุตสาหกรรม ที่เน้นการเป็นฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ) ซึ่งมีทางเลือกไม่มาก เช่น ทำเหมือนเดิม (แต่ต้องหาแหล่งพลังงานและนิคมอุตสาหกรรมเพิ่ม) หรือเปลี่ยนไปเน้นภาคบริการ (เพิ่มจากการท่องเที่ยวเป็น medical tourism และการดูแลคนชราที่มีฐานะจากต่างประเทศ เป็นต้น)

   3.2  ต้องพัฒนาระบบการศึกษา และทำให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรม

   3.3 เตรียมเพิ่มทรัพยากรเพื่อการสาธารณสุขให้เพียงพอ โดยรวมและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการทำให้เยาวชนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงที่สุด เพราะพวกเขาจะต้องทำงานเลี้ยงตัวเขาเอง ลูกของเขาและผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีข้างหน้า กล่าวคือ ต่อไปรัฐบาลจะต้องเก็บภาษีจากพวกเขาเป็นจำนวนมาก เพื่อมาเลี้ยงผู้สูงอายุ (พวกเรา) ในอนาคตอันใกล้ครับ