เกราะทองคำ

เกราะทองคำ

ที่เมืองจีน ใครจะใช้อินเทอร์เน็ตติดต่อไปต่างประเทศ ต้องส่งข้อมูลผ่านประตูอินเทอร์เน็ตที่มีชื่อว่า เกราะทองคำ

หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าGreat Firewall of China เกราะทองคำทำหน้าที่พื้นฐานในการรับส่งอินเทอร์เน็ต เหมือนประตูอินเทอร์เน็ตในประเทศอื่นๆ แต่เพิ่มการตรวจจับการเข้าถึงเว็บ และบริการอื่นๆ บนอินเทอร์เน็ตเข้าไปด้วย ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่สามารถเข้าถึงเว็บและแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ ที่ทางการไม่ประสงค์จะให้เข้าถึงได้ โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงการตรวจจับนี้ได้ เนื่องจากมีประตูทางออกของอินเทอร์เน็ตเพียงทางเดียวเท่านั้น

ว่ากันว่า เป็นประตูทางออกอินเทอร์เน็ต ที่สามารถกีดกันการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างแน่นหนา เว็บสำคัญหลายเว็บที่คนอื่นในโลกนี้ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ไม่สามารถใช้งานได้ในเมืองจีน อยากใช้เว็บสืบค้นข้อมูล ก็ต้องใช้เว็บของจีน แทนการใช้กูเกิล หากใครอยากจะใช้เว็บต่างประเทศที่ถูกปิดกั้น เกราะทองคำก็จะย้ายให้ไปใช้เว็บที่ทำงานคล้ายๆ กันของจีนแทน กีดกันบริการใดบนอินเทอร์เน็ตที่มาจากต่างประเทศ ก็จัดให้มีบริการแบบเดียวกันของเมืองจีนให้ใช้แทน โดยมีรูปแบบและขีดความสามารถในการให้บริการไม่แตกต่างกัน เพียงแต่จำกัดไม่ให้เข้าถึงสาระที่ทางการไม่ประสงค์จะให้มีการเผยแพร่ ไม่ให้ใช้กูเกิล ก็มีใบดูมาให้ใช้แทน ใช้สืบค้นข้อมูลได้มากมาย ยกเว้นแต่สาระที่ทางการไม่อยากให้ดูเท่านั้น

แม้ว่าเกราะทองคำนี้จะมีการกีดกันด้วยสารพัดวิธีแล้วก็ตาม เซียนคอมพิวเตอร์ในเมืองจีนก็ยังหาวิธีหลบผ่านออกไปหาสาระที่ไม่พึงประสงค์นั้นจนได้ ยิ่งกีดกัน ก็ยิ่งมีคนพยายามหลบหนีการกีดกันนั้นมากขึ้น

หลังจากเห็นตัวอย่างความสำเร็จในการกีดกันการเข้าถึงสาระต้องห้ามของเมืองจีน เคยมีเมืองฝรั่งเมืองหนึ่งพยายามเลียนแบบไปใช้กีดกันการเข้าถึงบางสาระ เช่น รูปโป๊บางแบบที่ผิดกฎหมายของฝรั่ง แต่ใช้ได้ไม่นานก็ต้องยกเลิก เพราะเจอปัญหาสองเรื่อง คือ การเข้าออกของอินเทอร์เน็ตช้าลงจนสังเกตได้ชัดเจน เนื่องจากรวมประตูทางออกไว้ทางเดียว เพื่อให้ตรวจจับสาระที่ไม่พึงประสงค์ได้ คล้ายๆ กับรวมประตูทางเข้าออกของห้างใหญ่ๆ มารวมไว้เพียงประตูเดียว จากเดิมที่มีอยู่หลายประตูทางออก คนเข้าออกก็ต้องติดขัดมากขึ้นอย่างแน่นอน

ที่ล่าช้าในการผ่านประตูอินเทอร์เน็ตมากขึ้นก็คล้ายๆ กับการเดินเข้าออกห้างสรรพสินค้าที่คนเข้าออกเยอะๆ และมีการตรวจค้นกระเป๋าก่อนการเข้าออก ซึ่งจะเสียเวลามากกว่าการเดินเข้าออกโดยไม่มีการตรวจกระเป๋าอย่างแน่นอน ยิ่งตรวจมากเรื่องเท่าใด ผ่านเข้าออกก็ยิ่งช้าเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งจะเหมือนกับการที่จะไปขึ้นเครื่องบิน ต้องผ่านช่องตรวจความปลอดภัย วันไหนไม่มีเรื่องอะไรตรวจไม่กี่นาทีก็ผ่าน วันไหนมีเรื่องมีราว กว่าจะผ่านได้ต้องเข้าคิวรอหลายสิบนาที 

ผู้คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองฝรั่งเมืองนั้น พบความล่าช้าในการใช้งานก็ออกมาโวยวายกัน จนดูท่าว่าจะบานปลาย ประกอบกับไปเจอปัญหาที่สองเข้าไปอีกเรื่อง คือมีคนจากต่างประเทศที่เป็นเซียนอินเทอร์เน็ตอยากลองดีกับประตูอินเทอร์เน็ตของเมืองฝรั่งเมืองนี้ ด้วยการลักลอบเจาะระบบการทำงานของประตูอินเทอร์เน็ตนี้ แล้วแกล้งให้ทำตัวเหมือนเป็นที่กลับรถ คือแทนที่จะส่งกล่องข้อมูลอินเทอร์เน็ตออกไปยังแม่ข่ายที่อยู่นอกประเทศ ก็ส่งกลับไปที่ชุมทางอินเทอร์เน็ตในประเทศแทน ยิ่งส่งไปต่างประเทศมากเท่าใด ก็ยิ่งวนกลับไปที่ชุมทางอินเทอร์เน็ตในประเทศมากขึ้น จนรับภาระไม่ไหวและหยุดทำงานไปในที่สุด

ซึ่งหมายถึงการติดต่อทางอินเทอร์เน็ตของเมืองฝรั่งนั้น ก็ล่มไปทั้งประเทศวันละสองสามครั้ง จนสุดท้ายก็ยอมแพ้ ต้องกระจายทางออกไปยังประตูทางออกอินเทอร์เน็ตหลายๆ ประตู เพื่อให้เป็นทางหนีทีไล่เมื่อประตูทางออกประตูใดประตูหนึ่งถูกโจมตี ลองนึกภาพว่ามีวงเวียนอยู่กลางเมือง ที่เชื่อมต่อถนนทุกสายในเมืองนั้นเข้าด้วยกัน ใครจะไปไหนมาไหนในเมืองนั้น ก็ต้องผ่านวงเวียนนี้ และด้านหนึ่งของวงเวียนจะเป็นด่านชายแดนเชื่อมต่อกับบ้านเมืองอื่น

ถ้ามีหลายด่านชายแดน หากด่านใดด่านหนึ่งมีปัญหา ก็เลี่ยงไปใช้ด่านอื่นได้ หากมีด่านเดียว แล้วเกิดไฟไหม้ที่ด่านนั้น รถทั้งหมดที่จะวิ่งผ่านด่าน ก็ต้องย้อนกลับมาที่วงเวียนกลางเมือง จนกระจุกเต็มทุกด้าน รถเข้าออกจากวงเวียนไม่ได้ ติดไปทั้งเมืองไปไหนไม่ได้ ประตูอินเทอร์เน็ตเปรียบเทียบได้กับด่านชายแดน ชุมทางอินเทอร์เน็ตเปรียบเทียบได้กับวงเวียน ซึ่งเมืองจีนป้องกันเกราะทองคำของเขาได้ดีกว่าเมืองฝรั่งที่ทำเลียนแบบ คนป้องกันประตูอินเทอร์เน็ตเก่งๆ คือคนที่สามารถไปโจมตีคนอื่นได้เก่งๆนั่นเอง

ซึ่งคงจำกันได้ว่า ฝรั่งเคยประกาศว่า ถูกมือดีจากเมืองจีนโจมตีเจาะระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรใหญ่ๆ มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง หากไม่มั่นใจว่ามีฝีมือในการป้องกันประตูอินเทอร์เน็ตดีมากน้อยเพียงใด ถ้ายังไม่เคยแสดงความสามารถไปโจมตีใครเขาได้ ท่านว่าไม่ควรล่อเป้าโจมตี ด้วยการยุบทางออกให้เหลือแค่ทางเดียว

ด่านเดียวหรือหลายด่าน ไม่ได้ต่างกันในเรื่องการตรวจของเข้าออกที่ผิดกฎหมาย หากแต่ละด่านทำหน้าที่ได้ดีเท่ากัน หากมีช่องตรวจความปลอดภัยในท่าอากาศยานเพียงช่องเดียว ไม่ได้หมายความว่าการตรวจความปลอดภัยจะมีมากกว่าการมีช่องตรวจหลายช่อง แต่ที่แน่ๆ คือ ตรวจได้น้อยคนกว่าแน่ๆ ภายในระยะเวลาเท่ากัน

ประตูอินเทอร์เน็ตประตูเดียว หรือหลายประตูไม่ต่างกันในเรื่องการกีดกันสาระที่ไม่พึงประสงค์ หากดำเนินการในมาตรการเดียวกันในทุกประตูทางออก หากไม่พร้อมในการจัดหาบริการทดแทนบริการที่กีดกันไม่ให้ใช้ กันโดยไร้ทางเลือกทดแทนแล้ว

คำถามคือ การมีประตูอินเทอร์เน็ตเพียงประตูเดียวมีอะไรบ้างที่ดีกว่าการมีหลายประตูอินเทอร์เน็ต