การลดทอน “ความซับซ้อน” ของชีวิตในสังคม (1)

การลดทอน “ความซับซ้อน” ของชีวิตในสังคม (1)

ผมสงสัยอยู่ว่า คนในสังคมไทยโดยทั่วไป จะจัดการชีวิตของตนในอนาคตอันใกล้นี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน

นักศึกษา เพราะการอธิบายหรือความเข้าใจชีวิตของพวกเขา และชีวิตของสังคมดูมันง่ายและไม่มีความซับซ้อนอะไรเลย

ผมมีประสบการณ์การสอนนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง มายาวนานพอที่จะเห็นได้ว่า ความสามารถในการเข้าใจตนเองและเข้าใจสังคมนั้น ลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด คำถามและคำตอบเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม และพฤติกรรมของคนรุ่นพวกเขานั้น ก็เป็นคำถามและคำตอบแบบง่ายดาย จนแทบไม่น่าเชื่อว่า คนอายุสิบแปดสิบเก้าจะคิดได้เพียงแค่นั้น (และผมก็จะย้ำกับพวกเขาที่ตอบอะไรง่ายๆ ว่า เขาตอบได้เท่ากับรัฐมนตรีช่วยในกระทรวงเลย..ฮา)

ผมเชื่อว่าคำถามและการอธิบายสังคมไทยแบบง่ายๆ นี้ จะไม่มีทางที่จะทำให้พวกเขาสร้างสรรค์อะไรได้เลยในอนาคต

หากนึกคำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ที่กล่าวไว้ทำนองว่า เด็กที่เข้าเรียนประถมหนึ่งในวันนี้ จะเกษียณในปี 2612 ซึ่งท่านเองเน้นว่า เราไม่มีทางจะคาดการณ์ได้เลยว่า จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น เพียงแค่ห้าปีข้างหน้าก็ยังคาดการณ์ไม่ได้แล้ว หากเปรียบอายุนักศึกษาที่เข้าศึกษาปีแรกในปี 2557 จะอายุครบหกสิบในปี 2597 (โดยประมาณ) ก็หมายความว่า หากเราไม่เตรียมทำอะไรไว้แต่เนิ่นๆ   สังคมไทยก็จะตกอยู่บนบ่าของคนรุ่นนี้ และความทุกข์ยากมากมายจะเกิดแก่พวกเขา ย่อมไม่ใช่พวกคนแก่อย่างผมหรืออย่างพวกเรา (ขอโทษนะครับ เดาเอาเองว่า คนอ่านของผมก็น่าจะมีอายุสักหน่อย) เพราะพวกเราตายไปหมดแล้ว

แม้ว่าสังคมไทยได้มอบอนาคตของชาติไว้ในกำมือของระบบการศึกษา เพราะได้สร้างให้ระบบการศึกษาดึงเอาเวลาของเด็กมาใช้ มากกว่าสถาบันใดๆ ในสังคม แต่ก็จำเป็นที่ “สังคม” จะต้องเข้ามาสร้างการศึกษาในแง่มุมอื่นๆ ให้แก่เด็กมากขึ้น (การลดเวลาในห้องเรียนของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาคนปัจจุบัน ก็เกิดขึ้นโดยที่ยังไม่ได้คิดชัดเจนว่า จะสร้างระบบการให้ความรู้รองรับอย่างไร ทางออกที่พอจะเห็นก็คือ ใช้คนในระบบการศึกษาเดิม วิธีคิดเดิม ทำกิจกรรมนอกเวลาแบบเดิมๆ ซึ่งเท่ากับไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย) เราทั้งหมดจึงน่าจะมาร่วมกันคิดว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และจะมีทางแก้ไขเพิ่มเติมวิธีคิดให้แก่อนุชนรุ่นหลัง/หลาน/เหลน อย่างไร

ปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ ระบบการศึกษาและการสื่อสารในสังคมไทยทั้งหมดเป็นกระบวนการ “ลดทอนความซับซ้อน” ของสังคม ซึ่งทำให้ความสามารถในการเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตตนเอง และมองหาแนวทางในการจัดการกับปัญหาลดน้อยถอยลง

ผลลัพธ์ที่ยืนยันการไร้ความสามารถ ทั้งในการเข้าใจและแก้ปัญหาชีวิตในสังคม ได้แก่ การพึ่งพิง ”ที่พึ่งทางใจ” ที่ขยายตัวทุกรูปแบบ และขยายตัวในทุกระดับชั้น หรือการใช้ความรุนแรงเพียงอย่างเดียวในการแก้ปัญหา เพราะเมื่อไม่เข้าใจความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองทั้งหมดก็ย่อมกังวลสับสน จนต้องหาที่ “หลบซ่อน” เพื่อปลอบใจตนเองว่า แล้วเราจะได้โอกาสดีๆ เหมือนคนอื่นเขาบ้าง

ชีวิตของคนในสังคม ไม่ว่ายุคใดสมัยใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญหน้ากับ “ความซับซ้อน” ของการมีชีวิตอยู่ พระศาสดาของทุกศาสนา เล็งเห็นความยากของการดำรงอยู่ จึงได้สร้างหลักการของการทำความเข้าใจ และจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในสังคม โดยเชื่อมโยงเข้ากับบรมธรรมของแต่ละศาสนา

ในสังคมสมัยใหม่ ความยุ่งยากและซับซ้อนของการดำรงอยู่มีมิติใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และถี่มากขึ้นกว่าเดิม การเผชิญหน้ากับความยุ่งยากของการดำรงอยู่ จึงยิ่งต้องการศักยภาพในการเข้าใจ เพื่อมองเห็นแนวทางในการจัดการตนเองกับความยุ่งยากนานับปการ ที่ทยอยเข้ามากระทบตน

สังคมไทยจำเป็นต้องทบทวนกันมากมายหลายเรื่อง เพื่อที่จะทำให้คนในสังคมมองเห็นและเข้าใจ “ความซับซ้อน” ของสังคมให้มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้เกิดศักยภาพของปัจเจกบุคคล และสังคมโดยรวมเพิ่มมากขึ้น เรื่องสำคัญที่ควรจะต้องทบทวนกันก่อนก็คือ เรื่องความหมายของ “ความรู้” และ “การคิด” เพราะสองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คนมักจะใช้สองคำนี้ โดยที่ไม่เคยพยายามที่จะทำความเข้าใจเลยว่า มีความหมายอย่างไร

แน่นอนว่า การนิยามที่จะกล่าวต่อไปนี้ไม่ใช่สัจจธรรม หากแต่การกล่าวถึง “ความรู้” และ “การคิด” โดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย หรือคิดว่าเข้าใจแต่อธิบายไม่ได้ ก็ไร้ความหมาย ผมเคยถามครูบาอาจารย์จำนวนหนึ่ง (หลายสิบคน ต่างกรรมต่างวาระ ว่า “ความรู้คืออะไร” พบว่าทั้งหมดไม่สามารถอธิบายได้)

หากเรานิยาม”ความรู้” ว่า หมายถึงการเชื่อมโยง “ข้อมูลปลีกๆ” เพื่อให้เกิดความหมายใหม่ การเชื่อมโยงข้อมูลจำนวนมาก จนทำให้มองเห็นความหมายอีกลักษณะหนึ่งของชุดข้อมูลนั้นคือ “ชุดของความรู้” ( Set of Knowledge) 

กระบวนการคิดที่จะนำไปสู่การสร้างชุดของความรู้ ก็คือ การเริ่มต้นทำความเข้าใจ “ข้อมูลปลีกๆ” แต่ละอันไม่ได้อยู่อย่างเป็นอิสระจากกัน หากแต่ต้องเชื่อมโยงกัน ขณะเดียวกัน การคิดจะต้องดำเนินต่อไปด้วยการมอง “ข้อมูลปลีกๆ” ด้วยสายตาใหม่ เพื่อที่จะแสวงหาสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงไปยัง “ข้อมูลปลีกๆ” อีกอันหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เราสามารถมองเห็น/เข้าใจ/อธิบายปรากฏการณ์หนึ่งๆ ได้ในอีกลักษณะหนึ่ง

ลองเปรียบเทียบนักวิทยาศาสตร์นอนใต้ต้นแอปเปิ้ล แล้วลูกแอปเปิ้ลตกใส่หัว การเชื่อมโยงลูกแอปเปิ้ลกับการตกใส่หัว จึงทำให้เกิดการคิด/เข้าใจ/สร้างทฤษฎีแรงโน้มถ่วงขึ้นมาได้ หรือจะลองเทียบเคียงกับการบรรลุสัจจธรรมของศาสดาในทุกศาสนาได้ว่า ท่านก็คงคิด/ไตร่ตรองกับ “ข้อมูลปลีกๆ” จำนวนมากที่ผ่านมาในชีวิตท่าน และท่านก็ได้เชื่อมโยงทั้งหมดให้เป็นเหตุเป็นผลในระบบการอธิบาย รวมทั้งการเชื่อมต่อไปยังจินตนาการในเรื่อง “บรมธรรม” ของท่าน

หากเราทำความเข้าใจในเรื่องของ “ความรู้” และ “การคิด” ให้ชัดเจนมากขึ้น ก็จะเห็นได้ชัดว่ากระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดของสังคมไทย เป็นส่วนสำคัญในการลดทอน “ความซับซ้อน” ของชีวิตในสังคมอย่างไร

ขอต่อคราวหน้านะครับ