การบ้าน การอ่าน การศึกษา และการนอน

การบ้าน การอ่าน การศึกษา และการนอน

เด็กไทยดูจะไม่ต่างกับเด็กอเมริกัน ทั้งคู่ต่างตกอยู่ในภาวะกดดันสูงจากหลากหลายด้าน การออกคำสั่งแบบสายฟ้าแลบ

 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไทย ให้ลดชั่วโมงเรียนเป็นมาตรการลดความกดดันอย่างหนึ่ง แต่คำสั่งนั้นจะตอบโจทย์ได้หรือไม่ และจะมีผลดีอย่างไร คงต้องรอดูต่อไปอีกหลายปี หลังออกคำสั่ง หากมีมาตรการที่วางอยู่บนฐานของวิชาการตามมา ผลน่าจะเป็นบวก แต่หากคำสั่งนั้นนำไปสู่การทำอะไรๆ แบบไฟไหม้ฟาง หรือเพื่อสร้างภาพดังที่ทำๆ กันมา ผลน่าจะเป็นลบ

ในปัจจุบัน เด็กอเมริกันมีการบ้านต้องทำมากขึ้นและอ้วนมากขึ้น ในขณะที่มีเวลาเล่นและเวลานอนน้อยลง ส่วนเด็กไทยโดยทั่วไปก็ดูจะตกอยู่ในภาวะเช่นนั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การแก้ปัญหาของชาวอเมริกัน มุ่งไปที่การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับเรื่องอาหาร และการจำกัดเวลาดูโทรทัศน์มิให้เกินพอดี แต่ผลออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงเริ่มหันไปมองโรงเรียนกันมากขึ้น โรงเรียนและเขตการศึกษาจำนวนมากก็มิได้นิ่งนอนใจ ต่างพยายามหาทางแก้ไขเพื่อให้การศึกษาบรรลุเป้าหมาย ข้อมูลและแนวคิดเกี่ยวกับประเด็นนี้มีจำนวนมาก นิตยสารรีเดอร์สไดเจสต์ ฉบับประจำเดือนมีนาคม 2555 และนิตยสารไทม์ฉบับประจำวันที่ 7-14 กันยายน 2555 นำข้อมูลและแนวคิดจำนวนหนึ่งมาเสนอ บางอย่างอาจจะมีประโยชน์หากนำมาใช้ประกอบการพิจารณาหาทางแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กไทย

เรื่องแรก เป็นการยกเลิกการให้การบ้านแก่เด็กนักเรียนชั้นประถม เนื่องจากผลการวิจัยสรุปว่า เด็กไม่ได้ประโยชน์มากนักจากการทำการบ้าน โรงเรียนชั้นประถมต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนในย่านชานกรุงวอชิงตัน ให้เด็กอ่านหนังสือแทน เด็กมีอิสระที่จะเลือกอ่านหนังสืออะไรก็ได้ แต่ให้อ่านคืนละ 30 นาที หลังจากเวลาผ่านไป 4 ปี โรงเรียนในย่านชานกรุงวอชิงตันสรุปผลเบื้องต้นออกมาว่า เด็กรุ่นใหม่ทำอะไรๆ ได้ดีกว่าเด็กรุ่นเก่า ที่โรงเรียนให้ทำแต่การบ้าน นิตยสารมิได้อ้างถึงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาที่เด็กใช้ทำการบ้านว่า มากกว่าคืนละ 30 นาทีหรือไม่ หากมากกว่า นั่นคงหมายความว่า เด็กมีเวลาเล่นมากขึ้น ข้อมูลบ่งว่าโรงเรียนไทยบางแห่งเริ่มทำเช่นกัน แต่ผลเป็นอย่างไรยังไม่ปรากฏ สำหรับเรื่องนี้เด็กอเมริกันโดยทั่วไปน่าจะได้เปรียบเด็กไทย ในแง่ที่มีหนังสือให้เลือกมากกว่า

เรื่องที่สอง เป็นการนำข้อบังคับเก่าแก่กลับมาใช้ใหม่ นั่นคือ ให้เด็กหยุดพักสั้นๆ ซึ่งอาจเป็นในช่วงเปลี่ยนวิชาเรียนเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถและพักสมอง การพักสั้นๆ นี้ เคยมีข้อบังคับอยู่ในหลักสูตรมาก่อน แต่โรงเรียนค่อยๆ ยกเลิกไป เพื่อหวังจะให้เด็กใช้เวลาเรียนเนื้อหาวิชาการมากขึ้น หรือเพื่อเตรียมสอบ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า นั่นเป็นข้อผิดพลาด เนื่องจากการพักสั้นๆ ให้เด็กได้เคลื่อนไหวอย่างจริงจัง มีประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและต่อการทำให้สมองปลอดโปร่ง โรงเรียนจำนวนหนึ่งมองเห็นความสำคัญของการเคลื่อนไหว ถึงกับพยายามออกแบบการเรียนการสอนให้มีการใช้ความเคลื่อนไหวของเด็ก เป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน

เรื่องที่สาม เกี่ยวกับอาหาร เนื่องจากเด็กอเมริกันมักเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่ำ จำพวกอาหารขยะมากกว่าผักและผลไม้ ความอ้วนส่วนหนึ่งมาจากการเลือกรับประทานอาหารแบบนี้ จึงมีการรณรงค์ของหลายฝ่าย ให้เด็กสมัครใจปรับเปลี่ยนอาหารของตน บางโรงเรียนถึงกับออกแบบโรงอาหารใหม่ให้เด็กมองเห็นขั้นตอนของการเตรียมอาหาร นอกจากนั้น ยังให้เด็กทำสวนครัวด้วยตัวเองในโรงเรียนอีกด้วย ข้อมูลเบื้องต้นบ่งว่า เด็กสนใจและเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าสูงมากขึ้น เรื่องนี้เป็นที่น่ายินดีว่าเด็กไทยโดยทั่วไปได้เปรียบเด็กอเมริกัน เนื่องจากภูมิอากาศที่อบอุ่นตลอดปี ส่งผลให้โรงเรียนที่มีที่ดินรอบๆ โรงเรียนทำสวนครัวได้สะดวก และโรงเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็ลงมือทำกันอย่างจริงจังแล้ว ขั้นต่อไปได้แก่ จะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ขยายออกไปทั่วประเทศ

เรื่องที่สี่ เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเวลาเข้าเรียนในตอนเช้า ให้เด็กมีโอกาสนอนได้ครบ 8 ชั่วโมง โดยทั่วไปเด็กอเมริกันได้เปรียบเด็กไทยในด้านนี้มาก เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ไม่ต้องเดินทางไกลๆ เพราะโรงเรียนที่รัฐจัดให้จะอยู่ในย่านหมู่บ้านของเด็ก มีเด็กจำนวนน้อยที่เลือกไปเรียนในโรงเรียนเอกชน ซึ่งมักเก็บค่าเล่าเรียนสูง และเป็นโรงเรียนประจำ ส่วนเด็กไทยจำนวนมาก มักหาทางไปเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง หรือไม่ก็เป็นโรงเรียนในเมืองใหญ่ๆ ที่ต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่าเด็กอเมริกัน นอกจากนั้น เด็กอเมริกันยังมีรถโรงเรียนรับส่ง ส่วนเด็กไทยต้องเดินทางไปเอง และส่วนหนึ่งถึงกับต้องห้อยโหนรถยนต์ที่เอกชนจัดให้

ในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอเมริกันหรือไทย โดยทั่วไปต่างมีเวลานอนน้อยลง เนื่องจากความก้าวหน้าต่างๆ โดยเฉพาะทางเทคโนโลยี ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสารพัด แต่ธรรมชาติยังกำหนดให้มนุษย์เราต้องนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ นั่นคือ วันละ7-9 ชั่วโมง มิฉะนั้น เราจะไม่สามารถทำอะไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ หรือร้ายยิ่งกว่านั้น การนอนหลับไม่เพียงพอ จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและมันสมองของเรา การวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา สรุปอย่างแย้งไม่ได้ว่า การนอนหลับไม่เพียงพอก่อให้เกิด “ความเจ็บไข้ ความอ้วน และความโง่เขลา” ข้อสรุปนี้น่าจะชี้ให้เห็นว่า การพักผ่อนที่ถูกต้อง คือการนอนหลับ มิใช่กิจกรรมจำพวกการดูละครโทรทัศน์ การจัดงานสังสรรค์ การตื่นขึ้นมาดูการถ่ายทอดกีฬาจากต่างประเทศ หรือการคุยกันโดยการส่งสารผ่านโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์

เรื่องการแบ่งเวลาเพื่อใช้ในการทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งการนอนหลับให้พอนี้ มีข้อคิดน่าสนใจของท่านทะไลลามะข้อหนึ่งคือ “น่าแปลกใจที่มนุษย์เราทำลายสุขภาพเพื่อหาเงิน แล้วใช้เงินนั้นเพื่อการฟื้นฟูสุขภาพ”