เมือง“คาสือ”:เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่ยังคงรอคอยความสำเร็จ

เมือง“คาสือ”:เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่ยังคงรอคอยความสำเร็จ

กรณีศึกษา SEZ ใน “เมืองคาสือ” (Kashi) หรือ คัชการ์ (Kashgar) ของซินเจียง

เมือง “คาสือ” : เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่ยังคงรอคอยความสำเร็จ

โดย รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น และดร.หลี่ เหรินเหลียง

ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

     

    รัฐบาลไทยในยุค คสช. พยายามผลักดันการตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ(Special Economic Zone หรือ SEZ) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนของไทยหลายแห่ง เพื่อหวังใช้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค โดยเน้นกระจายการลงทุนไปยังจังหวัดชายแดนเหล่านั้น และยังได้ทุ่มงบประมาณเพื่อการพัฒนาระบบคมนาคม ระบบพิธีการศุลกากร และด่านชายแดน นิคมอุตสาหกรรม และระบบสาธารณูปโภค มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท  

    ในหลักการ ดูจะเป็นเรื่องที่ตั้งใจดีมากค่ะ อย่างไรก็ตาม  ไม่ใช่ว่าเขต SEZ ทุกแห่งจะสำเร็จได้ดั่งหวัง แม้กระทั่งในประเทศต้นแบบของการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEZ อย่างพญามังกรจีนแดง ก็ใช่ว่าจะมีเขต SEZ ที่ประสบความสำเร็จไปทุกแห่ง

    บทความวันนี้ ขอนำกรณีศึกษา SEZ ใน “เมืองคาสือ” (Kashi) หรือ คัชการ์ (Kashgar) ของซินเจียง มาเล่าสู่กันฟัง และเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ดิฉันกับดร.หลี่ เหรินเหลียง ผู้เขียนร่วมในบทความนี้เพิ่งจะบินไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลในเมืองคาสือ ดินแดนทางตะวันตกสุดของจีนแห่งนี้มาด้วย 

    สำหรับ SEZ ในเมืองคาสือ ถือเป็น “เขต SEZ ระดับชาติ” น้องใหม่ล่าสุดที่รัฐบาลเพิ่งประกาศจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 ในขณะที่ SEZ ของจีนอีก 5 แห่งก่อนหน้า ล้วนจัดตั้งขึ้นในยุคของท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง เมื่อ 30 กว่าปีก่อน เขต SEZ ในเมืองคาสือ ถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่ครอบคลุมเนื้อที่มากที่สุด และเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษหนึ่งเดียวของจีนที่ไม่ติดทะเล อีกทั้งยังอยู่ขอบชายแดนทางตะวันตกห่างไกลจากชายฝั่งทะเลของจีนมากที่สุด

    นอกจากนี้ ประชากรส่วนใหญ่ในเมืองคาสือ ยังเป็นชาวมุสลิมอุยกูร์ จากจำนวนประชากรทั้งหมดในเมืองคาสือประมาณ 4 ล้านกว่าคน มีสัดส่วนของชนชาติอุยกูร์สูงถึงร้อยละ 90 ในขณะที่มีชาวจีนฮั่นเพียงร้อยละ 8 และที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ เช่น ชนชาติคาซัค จึงอาจจะกล่าวได้ว่า เมืองคาสือเป็น “ดินแดนอุยกูร์” บนแผ่นดินจีน และชาวบ้านท้องถิ่นในพื้นที่มิได้มีจุดเด่นในเรื่องการค้าขายเชิงธุรกิจมากนัก 

    ผู้อ่านอาจจะเริ่มมีคำถามว่า แล้วเหตุอันใด รัฐบาลจีนจึงได้ประกาศจัดตั้งเมืองคาสือแห่งนี้ให้เป็นเขต SEZ ระดับชาติ เมืองคาสือย่อมมีจุดแข็ง และมีศักยภาพในเชิงยุทธศาสตร์หลายด้านที่รัฐบาลกลางจีนมองเห็น และต้องการจะผลักดันให้เมืองคาสือมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้มากกว่านี้

    ประการแรก  ทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของเมืองคาสือที่มีพรมแดนติดต่อกับเพื่อนบ้านหลายประเทศที่รายล้อมจีน ได้แก่ ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน และอยู่ไม่ห่างจากปากีสถาน รัฐบาลจีนจึงต้องการใช้เมืองคาสือเป็น “ประตูสู่เอเชียกลาง”  ล่าสุด มีการขยายเส้นทางบินจากเมืองคาสือไปยังเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ โดยใช้เวลาบินเพียงแค่ 1 ชั่วโมงและตั้งฉายาเมืองคาสือให้เป็น “หนึ่งจุดผ่านด่านเชื่อม 8 ประเทศ หนึ่งเส้นทางทะลุยูเรเซีย”

    ประการที่สอง เมืองคาสือเคยเป็น “เมืองชุมทางการค้า” ของเส้นทางสายไหมในยุคโบราณ ในอดีต เมืองคาสือ เคยเป็นศูนย์กลางทั้งทางการเมือง และการค้าขายบนเส้นทางสายไหม และเป็นจุดเชื่อมสำคัญระหว่างเส้นทางสายไหมเส้นทางเหนือ และเส้นทางใต้ มาบรรจบกันและโดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม และโบราณสถาน มีสิ่งก่อสร้างซากเมืองเก่า และเมืองโบราณในยุคเส้นทางสายไหมทางประวัติศาสตร์

    ประการที่สาม เมืองคาสือมีศักยภาพเป็น “ประตูเชื่อมออกสู่ทะเล” ของมณฑลจีนตะวันตกโดยผ่านประเทศปากีสถาน  ด้วยระยะทางประมาณ 3,000  กิโลเมตร  (หากจะเชื่อมไปออกทะเลที่ชายฝั่งของจีนต้องใช้ระยะทางถึง 4,400 กว่ากิโลเมตร) เมืองคาสือจึงมีความสำคัญทางด้านการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์

    หลังจากได้จัดตั้งเมืองคาสือเป็นเขต SEZ  ในปี 2010 รัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อหวังจะนำความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ดินแดนไกลปืนเที่ยงแห่งนี้  ตัวอย่างเช่น  ในปี 2013 ได้มีการทุ่มงบประมาณกว่า 2แสนล้านหยวน ในการพัฒนาสร้างถนนสายหลัก การสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดการลงทุน  รวมทั้งการสร้างศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ และยังให้เมืองคาสือเป็นเจ้าภาพจัด “งานแสดงสินค้าเอเชียกลางและเอเชียใต้” เป็นประจำทุกปี เพื่อหวังจะใช้เป็นเครื่องกระตุ้น และดึงดูดการค้าการลงทุนให้หลั่งไหลเข้ามายังพื้นที่ชายแดนไกลโพ้นแห่งนี้

    อย่างไรก็ดี ผลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในเมืองคาสือ อาจจะไม่ได้สำเร็จตามที่คาดหวัง และมิได้มีปริมาณ และมูลค่าการค้า และการลงทุน (ทั้งจากนักธุรกิจจีนเองหรือนักธุรกิจจากต่างประเทศ) หลั่งไหลเข้ามาในเขต SEZ มากมายอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลกลางของจีน และรัฐบาลซินเจียงได้พยายามอย่างหนักที่จะปลุกปั้นให้เศรษฐกิจเมืองคาสือได้มีการขยายตัว และเติบโตมากกว่านี้

    จนถึงขณะนี้ การจัดตั้งเมืองคาสือเป็นเขต SEZ ของรัฐบาลกลางจีน ( ยัง )ไม่สามารถขจัดจุดอ่อนของเมืองชายแดนไกลโพ้นแห่งนี้ไปได้  อีกทั้งการเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย และความไม่สงบในหลายพื้นที่ในเมืองคาสือ รวมทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ ของซินเจียง จึงเป็นอีกเหตุปัจจัยที่ทำให้ภาคธุรกิจเอกชนมีความลังเล และไม่ต้องการเข้าไปขยายการลงทุนในเขต SEZ แห่งนี้ แม้ว่าจะมีสารพัดมาตรการออกมาเพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนในพื้นที่

    กรณีศึกษาการจัดตั้งเขต SEZ ในเมืองคาสือของจีน จึงสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่จะเป็น Key Success ของความสำเร็จในการจัดตั้ง SEZ  ไม่ใช่เพียงแค่การทุ่มอัดฉีดงบประมาณจากภาครัฐ  ตัวชี้วัดความสำเร็จของ SEZ มิใช่เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากภาครัฐ หากแต่อยู่ที่ว่า ภาคธุรกิจเอกชนจะสนใจเข้าไปลงทุนใน SEZ มากน้อยเพียงใด

    นอกจากนี้ แม้ว่าเมืองคาสือจะมีพรมแดนติดต่อกับเพื่อนบ้านจีนหลายประเทศ ดูช่างเหมาะกับการผลักดันการค้าชายแดน หากแต่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง และเอเชียใต้ที่รายล้อมเมืองคาสือ ก็มิได้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจการค้าที่พัฒนาคึกคักมากนัก

    ทั้งนี้ ล่าสุด รัฐบาลจีนยุค สี จิ้น ผิง ได้พยายามปลุกฟื้นการพัฒนาเมืองคาสือ และซินเจียงทั้งหมดอีกครั้งโดยใช้แนวคิด “New Silk Road” และยุทธศาสตร์ “One Belt, One Road” ตลอดจนการผลักดันโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน - ปากีสถาน” เพื่อเชื่อมต่อเมืองคาสือ ออกสู่ทะเลโดยผ่านปากีสถาน ด้วยการทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างเส้นทางรถไฟ ทางหลวง ตลอดจนท่อน้ำมัน ท่อก๊าซผ่านปากีสถาน เป็นต้น พร้อมระบุชัดเจนว่า “เมืองคาสือเป็นเมืองสำคัญของเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมตามยุทธศาสตร์ One Belt, One Road”

    หากแต่ความพยายามครั้งนี้ จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้หรือไม่ และเมื่อไร คงจะต้องขออ้างอิงสุภาษิตจีนว่า “ภารกิจหนักหน่วง หนทางยาวไกล” อยู่มากโข คงจะต้องร่วมลุ้นกันต่อไป  

     https://www.youtube.com/watch?v=6EzDBeuV8d8